10 ก.พ. 2020 เวลา 04:08 • การศึกษา
"ทรงทำลายความขลาด ก่อนตรัสรู้"
พราหมณ์ ! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ มีความรู้สึกว่า เสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าเปลี่ยว เป็นเสนาสนะยากที่จะเสพได้ ความสงัดยากที่จะทำได้ ยากที่จะยินดีในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลายเป็นประหนึ่งว่า นำไปเสียแล้วซึ่งใจแห่งภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ. พราหมณ์ ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด มี กรรมทางกาย ไม่บริสุทธิ์เสพเสนาสนะสงัดคือป่าและป่าเปลี่ยวอยู่, เพราะโทษคือกรรมทางกาย อันไม่บริสุทธิ์ของตนแล สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องมาซึ่งความขลาดและความกลัวอย่างอกุศล. ส่วนเราเอง หาได้เป็นผู้มีกรรมทางกายอันไม่บริสุทธิ์แล้วเสพเสนาสนะสงัดคือป่าและป่าเปลี่ยวไม่ : เราเป็นผู้มีกรรมทางกายอันบริสุทธิ์.ในบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้มีกรรมทางกายอันบริสุทธิ์ และเสพเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าเปลี่ยว เราเป็นอริยเจ้าองค์หนึ่งในพระอริยเจ้าเหล่านั้น.พราหมณ์ ! เรามองเห็นความเป็นผู้มีกรรมทางกายอันบริสุทธิ์ในตนอยู่ จึงถึง ความมีขนอันตกสนิทแล้ว (ไม่ขนพอง) อยู่ในป่าได้.
________________________________
๑. บาลี ภยเภรวสูตร มูลปริยายวรรค มู. ม. ๑๒/๒๙/๓๐. ทรงเล่าแก่ชาณุสโสณีพราหมณ์ ที่เชตวัน.
พราหมณ์ ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด มี วจีกรรม ไม่บริสุทธิ์, .... มี มโนกรรม ไม่บริสุทธิ์, ...มี อาชีวะ ไม่บริสุทธิ์, ...มี อภิชฌา มาก มีความกำหนัดแก่กล้าในกามทั้งหลาย, ...มีจิต พยาบาท มีดำริชั่วในใจ, ...มี ถีนมิทธะ กลุ้มรุมจิต, ...มี จิตฟุ้ง ขึ้นไม่สงบ, ...มีความระแวง มีความ สงสัย, ...เป็นผู้ ยกตนข่มท่าน, ...เป็นผู้มัก หวาดเสียว มีชาติแห่งคนขลาด, ...มีความ ปรารถนาเต็มที่ในลาภสักการะและสรรเสริญ, ...เป็นคน เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม, ...เป็นผู้ละสติปราศจาก สัมปชัญญะ, ...มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด, ...มี ปัญญาเสื่อมทรามเป็นคนพูดบ้าน้ำลาย, …(อย่างหนึ่ง ๆ) ๑ ...เสพเสนาสนะสงัดคือป่าและป่าเปลี่ยวอยู่; เพราะโทษ (อย่างหนึ่ง ๆ) นั้นของตนแล สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นย่อมเรียกร้องมาซึ่งความขลาด และความกลัวอย่างอกุศล. ส่วนเราเองหาได้เป็นผู้ (ประกอบ ด้วยโทษนั้น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง) มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ (เป็นต้น) ไม่ : เราเป็นผู้มีวจีกรรมอันบริสุทธิ์ (และปราศจากโทษเหล่านั้นทุกอย่าง). ในบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้มีวจีกรรมอันบริสุทธิ์ (เป็นต้น) และเสพเสนาสนะสงัดคือป่าและป่าเปลี่ยวเราเป็นอริยเจ้าองค์หนึ่ง ในพระอริยเจ้าเหล่านั้น. พราหมณ์ ! เรามองเห็นความเป็นผู้มีวจีกรรมอันบริสุทธิ์ (เป็นต้น) ในตนอยู่ จึงถึงความเป็นผู้มีขนตกสนิทแล้ว แลอยู่ในป่าได้. พราหมณ์ ! ความตกลงใจอันนี้ได้มีแก่เราว่า ถ้ากระไรในราตรี อันกำหนดได้แล้วว่า เป็นวัน ๑๔, ๑๕ และ ๘ ค่ำ แห่งปักข์; สวนอันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าอันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้อันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เหล่าใดเป็นที่น่าพึงกลัว เป็นที่ชูชันแห่งโลมชาติ เราพึงอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้นเถิด บางทีเราอาจเห็นตัวความขลาดและความกลัวได้. พราหมณ์ ! เราได้อยู่ในเสนาสนะ เช่นนั้น ในวันอันกำหนดนั้นแล้ว. พราหมณ์ ! เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น สัตว์ป่าแอบเข้ามาหรือว่านกยูงทำกิ่งไม้แห้งให้ตกลงมา หรือว่าลมพัดหยากเยื่อใบไม้ให้ตกลงมา : ความตกใจกลัวได้เกิดแก่เราว่า นั่นความกลัวและความขลาดมาหาเราเป็นแน่.ความคิดค้นได้มีแก่เราว่า ทำไมหนอ เราจึงเป็นผู้พะวงแต่ในความหวาดกลัว; ถ้าอย่างไร เราจะ หักห้ามความขลาดกลัวนั้น ๆ เสีย โดยอิริยาบถที่ความขลาดกลัวนั้น ๆ มาสู่เรา. พราหมณ์ ! เมื่อเราจงกรมอยู่ ความกลัวเกิดมีมา เราก็ขืน จงกรมแก้ความขลาด นั้น, ตลอดเวลานั้น เราไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน. เมื่อเรายืนอยู่ความกลัวเกิดมีมา เราก็ขืน ยืนแก้ความขลาด นั้น, ตลอดเวลานั้น เราไม่จงกรมไม่นั่ง ไม่นอน. เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวเกิดมีมา เราก็ขืน นั่งแก้ความขลาด นั้น, ตลอดเวลานั้น เราไม่จงกรม ไม่ยืน ไม่นอน. พราหมณ์ ! เมื่อเรานอนอยู่ความขลาดเกิดมีมา เราก็ขืน นอนแก้ความขลาด นั้น, ตลอดเวลานั้น เราไม่จงกรม ไม่ยืน ไม่นั่งเลย.
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๕พุทธประวัติจากพระโอษฐ์หน้าที่ ๗๕ - ๙๗

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา