12 ก.พ. 2020 เวลา 01:30 • การศึกษา
The Anchorman
หลังจากเหตุการณ์ยิงกราดที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในโคราชจบลงอย่างน่าสลดใจ คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานไม่แพ้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็คือกลุ่มคนในอาชีพสื่อสารมวลชน
ช่วงที่เกิดเหตุ เรามีโอกาสได้ดูการรายงานข่าวของทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง (ขออนุญาตไม่บอกว่าช่องไหน) ซึ่งพอดูไปสักพัก ก็ต้องส่ายหน้าแล้วเปลี่ยนช่องหนี เพราะทนดูไม่ไหวจริงๆ
เห็นได้ชัดว่า กลุ่มพิธีกร/นักเล่าข่าวที่เคยทำงานแบบเบาๆ คือหยิบข่าวสารพัดสารพันมานั่งเล่าเม้ามอยกันเพลินๆ สลับกับข่าวใบ้หวยนั้น พอมาเจอข่าวที่ต้องมีการติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างจริงจังก็เกิดอาการลนลาน จับต้นชนปลายแทบไม่ได้ ดูเลิ่กลั่กไปหมด
ถ้าพูดแบบสำนวนฝรั่งก็ต้องบอกว่า เหมือนนั่งดูไก่หัวขาดวิ่งวุ่นไปมา (Run around like a headless chicken.) ปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือหาตัวผู้นำกลุ่มหรือทีมงานในห้องส่งไม่ได้
และใช่ค่ะ เราเรียกพวกเขาว่า “นักเล่าข่าว” เพราะเรามองว่าพวกเขายังไม่ใช่ “ผู้ประกาศข่าว” ที่แท้จริง
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
ตามหลักแล้ว การอ่านข่าวในห้องส่ง จะต้องมีผู้ประกาศข่าวที่เป็นหลักหนึ่งคนเป็นอย่างน้อย ถ้าเคยดูรายการข่าวของโทรทัศน์ต่างประเทศ บทบาทนี้จะชัดเจนมาก
งานอ่านข่าวหรืออาชีพผู้ประกาศข่าว อาจดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่าย ผู้ประกาศข่าวที่เป็นตัวหลักในการอ่านข่าวอยู่ในห้องส่งโทรทัศน์ ฝรั่งจะเรียกว่า Anchorman, TV anchor, News anchor หรือบางทีก็เรียกว่า Anchor เฉยๆ ถ้าเป็นผู้หญิง จะเรียกว่า Anchorwoman ก็ได้ แต่ไม่ค่อยเห็นคนใช้สักเท่าไหร่
คำว่า Anchorman มีอีกความหมายหนึ่งคือคนที่อยู่ตำแหน่งสุดท้ายในการแข่งขันชักเย่อ นึกออกไหมคะ เวลาเราเล่นชักเย่อ เราต้องเลือกคนที่ตัวใหญ่ที่สุด ปักหลักได้มั่นคงที่สุดอยู่ท้ายแถวเพื่อถ่วงน้ำหนัก จะได้ไม่โดนอีกฝ่ายดึงไปง่ายๆ
Anchorman จึงให้ความรู้สึกว่าต้องเป็นหลักเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับคนอื่นหรือส่วนอื่นๆ
จะเล่าเท่าที่เคยรู้ เคยหาข้อมูลคนในอาชีพนี้มาแล้วกันค่ะว่า การทำหน้าที่เป็น Anchorman นั้น ไม่ใช่สักแต่ว่ากางสคริปต์ข่าวหรือดูตัววิ่งหน้ามอนิเตอร์แล้วอ่านไปตามที่ตาเห็น แต่จะต้องประสานงานกับโปรดิวเซอร์และทีมงาน ก่อนหน้าจะมานั่งอ่านข่าวก็ต้องเช็คข่าว ดูประเด็นข่าว คุยกับโปรดิวเซอร์ เลือกกันว่าวันนี้จะมีข่าวอะไรบ้าง
พอมานั่งหน้าจอแล้วก็ต้องเป็นผู้รับ-ส่งคิวกับผู้ประกาศคนอื่นๆ และนักข่าวที่ลงพื้นที่ (Field reporter หรือ Correspondent) ด้วย
เมื่อมีการสัมภาษณ์แหล่งข่าว Anchorman จะรับหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์หลัก แปลว่าต้องมีทักษะในการถามที่ดี รู้เทคนิคที่จะทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยข้อมูลที่ต้องการ มองประเด็นที่ควรตามให้ออก กำกับทิศทางข่าวได้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย
เราเคยดูซีรี่ส์เรื่อง The Newsroom แล้วทึ่งมาก ซีรี่ส์เรื่องนี้ให้ภาพการทำงานของวงการข่าวโทรทัศน์ได้ชัดเจนทีเดียว ในยุคก่อนที่วงการโทรทัศน์จะโดน Technology Disruption เล่นงานแบบเต็มๆ
ถ้าใครเคยดูแล้วจะเข้าใจเลยว่า Anchorman กับโปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับรายการนั้นสำคัญมากในการรายงานข่าว โดยเฉพาะในการสัมภาษณ์สดหรือรายงานสดจากสถานที่จริง
ในการทำข่าวโทรทัศน์ โปรดิวเซอร์กับผู้ประกาศหลักจะต้องทำงานประสานให้ได้ดี จึงจะได้รายการข่าวที่ดี ความยากคือการถ่วงสมดุลระหว่างการรายงานข่าวตามความเป็นจริงและการเรียกเรตติ้งจากคนดู
ถ้าสนใจแต่จะหาเรตติ้งมากเกินไป ก็อาจเกิดการล่วงละเมิดจรรยาบรรณในการทำข่าว บางกรณีก็กลายเป็นการขัดขวางปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ดังที่เราเคยเห็นกัน
จริงๆ แล้ว การรายงานข่าวนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากนะคะ สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือจึงต้องมีนโยบายและระเบียบการรายงานข่าวที่ชัดเจน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า Code of ethics เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง รู้ว่าขอบเขตการทำงานอยู่ตรงไหน
และในความคิดส่วนตัว เราว่าช่วยขจัดปัญหาการสั่งงานที่ละเมิดศีลธรรมหรือความเหมาะสม ลดความกดดันให้คนทำงานภาคสนามได้ด้วย
หลายสำนักข่าวไม่เพียงมีหลักการปฏิบัติงานทั่วไป แต่จะมีระเบียบที่แยกย่อยลงไปอีกในการรายงานข่าวที่มีประเด็นอ่อนไหวหรือสะเทือนขวัญ เช่น การรายงานข่าวคนฆ่าตัวตาย ข่าวการสังหารหมู่ ข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ข่าวการแบ่งแยกเชื้อชาติ การเหยียดชาติพันธุ์ เป็นต้น
ในไทยก็มีหลายสำนักข่าวค่ะ ที่มีนโยบายและระเบียบการปฏิบัติงานชัดเจน จึงมีผลงานที่ผู้คนให้ความเชื่อถือมาตลอด อย่างในการทำข่าวเหตุสะเทือนขวัญที่โคราชครั้งนี้ ก็มีสำนักข่าวโทรทัศน์สองแห่งที่ได้รับคำชมเชยอย่างมาก เพราะการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องไปด้วย
หวังในใจอย่างยิ่งว่า เราจะมีสำนักข่าวแบบนี้มากขึ้นและมากขึ้นนะคะ เพื่อคุณภาพของข่าวที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ค่ะ.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา