12 ก.พ. 2020 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
~ท้าวพกาพรหม~
ท้าวพกามหาพรหม หรือ ท้าวพกาพรหม หรือ ท้าวมหาพรหม สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ ๓ มหาพรหมาภูมิ สำเร็จปฐมฌานชั้นที่ ๓ ได้ผ่านการจุติมาจากปาริสัชชาภูมิ และปุโรหิตาภูมิ แล้วมาอุบัติเกิดในมหาพรหมาภูมิ เป็นประมุขแห่งพรหมผู้ยิ่งใหญ่ในขั้นปฐมฌาน
มีความเข้าใจผิดคิดว่าสรรพสิ่งทั้งปวงในพรหมโลกมีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่จุติ และไม่อุบัติ ไฉนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวสรรเสริญคุณของพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ หาเป็นความจริงอันใดไม่ จะสู้มหาพรหมาภูมินี้ได้อย่างไร
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ภายใต้ต้นรังใหญ่ ณ ป่าสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐะ ทรงทราบว่าท้าวพกาพรหมเข้าใจผิดเห็นสมควรที่จะประทานสัทธรรมโปรด จึงเสด็จขึ้นไปบนพรหมโลกและมีพุทธฏีกากล่าวโต้ตอบและเตือนสติท้าวพกาพรหมว่า ท่านนี้มีอานุภาพมากมายอยู่ในพรหมโลกเสียเคย ขาดวิจารณญาณ
เพ่งพินิจหลงผิดคิดว่าสิ่งทั้งหลายนั้นเที่ยงแท้แน่นอน ท่านคงจะไม่รู้ว่ายังมีพรหมโลกชั้นสูงกว่าท่านขึ้นไปอีกมากมาย เช่น อาภัสราภูมิ สุภกิณหาภูมิ เวหัปผลาภูมิ และการที่จะไปอุบัติเกิดในพรหมโลกเหล่านั้นได้อย่างไรท่านก็มิอาจจะรู้ได้
แต่ท้าวพกาพรหมก็ยังดื้อดึงอวดอ้างอานุภาพแห่งตน สมเด็จพระพุทธองค์จึงมีพุทธฏีกาว่าถ้าท่านมีอานุภาพจริงดังที่กล่าวมาก็ขอให้ท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันตรธานหายตัวไปไม่ให้เราเห็นได้ ท้าวพกาพรหมได้พยายามซ่อนกายทั่วทุกแห่งหน กายทิพย์ของตนก็มิอาจรอดพ้นสายพระเนตรของพระพุทธองค์ได้ ท้าวพกาพรหมจึงข่มความอับอายเข้ามาเฝ้าขอให้พระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์หายไปบ้าง บัดดลพระวรกายของพระพุทธองค์ก็อันตรธานหายไป ไม่ปรากฏแก่ทิพย์จักษุท้าวพกาพรหมและพระพรหมองค์ใดเลย
ได้ยินแต่พระสัทธรรมท่ามกลางพระพรหมทั้งหลายว่าเราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้วไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย ท้าวพกาพรหมใช้ทิพย์จักษุสอดส่องค้นหาก็ไม่พบ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนพกาพรหม เรากำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรของท่านในขณะนี้ พระพุทธองค์จึงปรากฏกายให้พรหมทั้งหลายเห็น และได้แสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดพระพรหมทั้งหลายเหล่านั้น ที่ได้ยินได้ฟังก็ชื่นชมโสมนัส และกล่าวสรรเสริญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนท้าวพกาพรหมเมื่อสดับพระสัทธรรมเทศนาแล้วก็บรรลุซึ่งพระโสดาปัตติผล ณ มหาพรหมภูมิแห่งนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา