13 ก.พ. 2020 เวลา 11:53 • ประวัติศาสตร์
หลังวันมาฆบูชา
"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา
โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี่ทรงเทศนาสอนสาวกให้ปฏิบัติตาม ๓ ข้อ มีดังนี้ ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, ๒. การบำเพ็ญแต่ความดี, ๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
โฆษณา