Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Everything in Japan
•
ติดตาม
12 ก.พ. 2020 เวลา 03:51 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อได้ไปเป็นชาวนา(ที่ญี่ปุ่น) งานนี้บอกเลยว่ากินข้าวไม่เคยเหลือสักเม็ด 🌾
ประเทศญี่ปุ่นทำนาเพียงปีละครั้ง หลังจากเตรียมดินแล้วก็เริ่มลงกล้าประมาณเดือน พ.ค หรือ มิ.ย. แล้วไปเก็บเกี่ยวช่วง ส.ค หรือ ก.ย. (แต่ก็มีเลทไป ต.ค บ้าง) ต้นข้าวที่ญี่ปุ่นก็ไม่สูงมาก เม็ดจะอ้วนๆหน่อยๆ ไม่เรียวเหมือนข้าวไทย
รวงข้าวที่ใกล้จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว 555. ก็นานจริงสมัยเรียนนู้นเลยค่ะ มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการกับ JA (Japanese Cooperative Association) ไป Home stay นอนค้างบ้านคนญี่ปุ่นและทำกิจกรรมกับเจ้าของบ้าน นาทีนี้ไม่รอช้า ยื่นใบสมัครและเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าในทันที
บรรยากาศที่สุดแสนจะธรรมชาติแตกต่างจากกรุงเทพโดยสิ้นเชิง
ก่อนจะลงมือปฏิบัติจริง เราก็พอจะทราบอยู่ว่า ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 127 ล้านคน แต่คนที่ทำนาจริงนั้น มีเพียง 2% กว่า ๆ แค่นั้นเอง หรือประมาณ 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็อายุเยอะแล้ว (แต่แข็งแรงเว่อร์) ลูกหลานก็ไม่ค่อยอยากกลับมาทำนา โครงการนี้นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนญี่ปุ่นและนักเรียนต่างชาติที่เรียนที่ญี่ปุ่นได้สัมผัสชีวิตชาวนาแบบเต็มที่
แต่ทำไมนะ ชาวนาญี่ปุ่นถึงรวย เขาทำนาอย่างไรกัน อยากรู้ขึ้นมาทันที จากที่พูดคุยมาที่ญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ซึ่งก็มี JA เป็นผู้สนับสนับสนุนหลักในการให้คำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าว การปลูก การเก็บเกี่ยว รวมถึงตลาดด้วย ที่ญี่ปุ่นจึงเน้นพันธุ์ข้าว เน้นความอร่อย ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม และมีตลาดรองรับ พ่อค้าคนกลางหรือตลาดมืดหลบไปเลย รายได้ของชาวนาจึงไม่น้อยหน้าพนักงานบรษัทเอกชนรายใหญ่เลย
บ้านของชาวนาก็จะอยู่ไม่ไลจากนาข้าวนัก สามารถเดินได้หรือนั่งรถไม่ไกล
ในตอนนั้นช่วงที่ไป home stay เป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี เมื่อไปเจอเจ้าของบ้าน ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นก็ต้องทักทายกันว่า Hajimemashite (ยินดีที่ได้รู้จัก) ที่เราชอบเอามาแซวกันว่า เซมากูเตะ นี่แปลงมาจากอันนี้หรือเปล่านะ 555
เราเรียกเจ้าของบ้านว่า โอโตซัง (คุณพ่อ) โอกาซัง (คุณแม่) ทำให้รู้สึกสนิทและอบอุ่นขึ้น (ถ้าเป็นทั่วๆไป คนญี่ปุ่นก็จะเรียกนามสกุลของคนๆนั้น)
🎃 วันแรกที่ไปถึง โอโตซัง พาไปสวนฟักทอง และก็พาไปเก็บฟักทอง เป็นกิจกรรมแรกที่สนุกมาก ฟักทองปลูกไม่ยาก 3-4 เดือน ก็เก็บขายได้ เราใช้กรรไกรตัดขั้วฟักทอง แค่ 1-2 ชั่วโมง เราได้ฟักทองเป็นร้อยลูก
เอาใส่รถกลับบ้านเพื่อทำความสะอาดก่อนเอาไปขาย
เมื่อกลับมาถึงบ้าน เราล้างทำความสะอาดฟักทอง และผึ่งไว้ให้แห้ง เพื่อนำออกขายในวันรุ่งขึ้น
เอามาผึ่งให้แห้งก่อน
ตกเย็นโอกาซังก็เตรียมอาหารไว้ให้ ตอนรับประทานอาหาร โอโตซัง กับ โอกาซัง ถามตลอดเหนื่อยไหม เราก็ตอบว่าไม่เหนื่อย แต่ไม้เด็ด มันคือวันถัดไป .... พอทานข้าวเสร็จประมาณ 6 โมงเย็น โอกาซัง ก็เตรียมน้ำร้อนให้อาบ อ่างอาบน้ำที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โอฟุโร (ofuro ) 🛀 ช่วงที่ไปเป็นหน้าร้อน แต่คนญี่ปุ่น ก็ยังนิยมอาบน้ำร้อน เพราะมันสบาย คลายเมื่อยได้ เมื่อทุกคนอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว โอกาซังก็จะอาบเป็นคนสุดท้าย ไม่เกินสองทุ่ม ปิดไฟนอนหมดบ้านแล้ว (ชีวิตติดนา นอนสองทุ่ม แต่ชีวิตติดเมืองนอนเที่ยงคืน 🌝)
เช้าวันที่สอง..... อากาศดีมาก ตื่นตี 5. ซึ่งก็สว่างมากพอที่จะเห็นสวนผักริมรั้วข้างบ้าน เมื่อเราล้างหน้าล้างตา ทานอาการเช้าที่โอกาซังเตรียมให้เรียบร้อย (เช้าๆ เขาไม่อาบน้ำกันแหล่ะ) เราก็เตรียมตัวไปเก็บผักเพื่อที่จะเอาไปขายที่ตลาด
ถั่วเอดะมาเมะ. หรือ ถั่วแระ
เราเก็บถั่วแระ เก็บมะเขือยาว. เก็บผักต่างๆ พร้อมกับฟักทองบางส่วนที่เก็บมาเมื่อวานด้วย แล้ว ก็เอาไปขายที่ตลาด จะมีมุมๆ นึงที่ตลาด เป็นแบบ outdoor ให้เกษตรกร นำผักมาวางขายตรงนี้ พรึ่บเดียวไม่ถึง 1 ชม. หมดค่ะ ราคาจะถูกกว่าผักตามซุปเปอร์มาร์เก็ตประมาณครึ่งนึง และตรงนั้นจะมีตราสัญลักษณ์ JA อยู่ด้วย แปลว่า ผักเหล่านี้มาจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของ JA ดังนั้น กินได้ ปลอดภัย ไร้กังวล และราคาถูกจ้า
ตลาดเช้าที่ญี่ปุ่น (ขายผัก)
กลับมาถึงบ้านประมาณ 9 โมงกว่า พักผ่อนตามอัธยาศัย โอกาซัง. เตรียมข้าวกลางวันให้เอาไปกินที่นา พอสัก 11 โมง เตรียมตัวไปเกี่ยวข้าว เห็นแปลงข้าวของคนญี่ปุ่นแล้วจะเป็นแปลงเล็กๆ. แต่มีหลายแปลง เป็นนาแบบขั้นบันได คงด้วย. พื้นที่ที่เป็นเนิน จึงไม่มีที่ราบที่เป็นลานกว้างเหมือนกับไทย
นาข้าวของโอโตซัง
วันนี้คือโหดจริง สำหรับคนที่ไม่เคยทำนา ทั้งร้อนและเหนื่อย เกี่ยวเสร็จแปลงนึง ก็ต้องขึ้นเนินไปเกี่ยวอีกแปลงนึง เหนื่อยมากและได้เรียนรู้มากเช่นกันประสบการณ์นี้ทำให้นึกชาวนาทุกครั้งที่กินข้าว ที่พ่อแม่ตายายพูดปากจะฉีกทุกวันว่า อย่ากินข้าวเหลือ (ตอนเด็กๆ ก็กินเหลือ... บอกเลย...)วันนี้คือซึ้ง...... ซึ้งจริงๆ.... มันเหนื่อยมาก กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด
เคียวเกี่ยวข้าวเรียกว่า Kama
พอวันที่สาม โอโตซังบอกว่า ถ้าเกี่ยวด้วยมือ มันไม่เสร็จง่ายๆ หรอก ถึงนาข้าวเราจะแปลงเล็ก แต่ก็ใช้รถเกี่ยวข้าวได้ในบางแปลง ...... อ้าว..... โตซัง.... โตซัง ไม่ใช้รถละ.5555
โตซัง. หัวเราะ...... มันก็ต้องลองใช้เคียวเกี่ยวข้าวก่อนสิ.
รถเกี่ยวข้าว
ว่าแล้ว โอโตซัง ก็ไปเอารถเกี่ยวข้าวมาจากไหนไม่รู้ สงสัยไปเอามาตอนเราก้มหน้าเกี่ยวข้าวแน่เลย. โอโตซัง บอกว่า ก่อนจะนำรถเกี่ยวข้าวลงไปต้องเกี่ยวข้าวตรงที่เป็นมุมๆ ก่อน เพื่อที่รถเกี่ยวข้าวจะได้ลงไปได้ โอโตซังก็สาธิตให้ดู และก็ถึงตาเราที่จะต้องขึ้นไปบนรถเกี่ยวข้าวบ้าง
เกี่ยวข้าวตรงมุมๆก่อนให้รถลงไปได้
เยี่ยมมาก เร็วกว่าเกี่ยวมือเยอะเลย
รถเกี่ยวข้าวมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางครั้งถ้ารถใหญ่มีราคาแพงมาก เกษตรกรก็อาจจะใช้ร่วมกัน แปลงฉันแปลงเธออยู่ใกล้กัน ก็มาลงขันกัน บำรุงรักษาด้วยกันเป็นต้น
ต่อไปก็จะกลายเป็นข้าวเปลือก
เสร็จแล้วก็สีเป็นข้าวเปลือกใส่ยุ้งไว้ และนำไปที่ rice center เพื่อดำเนินการต่อ
นำข้าวเปลือกใส่ยุ้ง
วันสุดท้ายก่อนกลับ ก็ยังเก็บผักไปขายที่ตลาดเช่นเคยพอสายๆ กลับมา เราก็ต้องเตรียมตัวเดินทางกลับมหาลัยแล้ว นับเป็น 4 วันกับประสบการณ์ดีๆ การอำลาจากกันนอกจากการขอบคุณแล้วก็จะมีของฝากเล็กๆ น้อย ๆ เรียกว่า โอมิยาเกะ ( omiyage ) ให้โอโตซังโอกาซัง ไว้เป็นที่ระลึกด้วย.
นับว่าคุ้มมากกับการลองเป็นเกษตรกรในครั้งนี้... และสิ่งที่ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้คือ... การกินข้าวไม่เหลือสักเม็ด..... 🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾🌾
1 บันทึก
4
6
1
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย