23 พ.ย. 2020 เวลา 12:47 • ปรัชญา
การเลือกของเราเกิดจากการจัดฉาก
We've Been Manipulating To Choose
ซีรีส์นี้จะเดินทางเข้ามาสู่สิ่งที่ทำความเข้าใจตามได้ลำบากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นขอความกรุณาอ่านด้วยใจเป็นกลาง อย่าลืมว่าซีรีส์นี้มีคำเตือนขึ้นเอาไว้แล้ว สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง นี่อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจตามได้ง่ายๆ และอาจกระทบกับความเชื่อของเรา Ordinarility เพียงต้องการสร้างความเอะใจเพื่อสร้างการตื่นรู้ให้กับท่านเท่านั้น นี่เป็นความปรารถนาดี เราไม่ได้ทำร้ายกัน
การเลือกของเราเกิดจากการจัดฉาก
เราเข้าใจว่าเราคิดใคร่ครวญดีแล้ว
เป็นผู้ฉลาดในการหาข้อมูล คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เปรียบเทียบ ขัดเกลา เฟ้น ใช้เหตุผล เลือก ทำทุกขั้นตอนด้วยความประณีตหรือรวดเร็ว
การเลือกของเรานั้นดีที่สุดสำหรับเราแล้วในเวลานั้น เราเข้าใจว่าเราเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระจากการครอบงำทางความคิดทุกรูปแบบ ดังนั้นไม่มีใครสามารถมีอิทธิพลทางความคิดและการเลือกเหนือเราได้
เราไม่สามารถถูกครอบงำทางความคิด ชี้นำ และ manipulate เพื่อให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใดได้
ดังนั้นการเลือกของเรา เราควบคุมของเราเอง เราเป็นนายของตัวเอง
เราสามารถยืดอกรับผิดชอบต่อการเลือกของตัวเองได้
แต่ในความเป็นจริง เรายังถูกครอบงำโดยอีกผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งเราคล้อยตามอยู่เสมอ
มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะไม่คล้อยตามเขาผู้นี้
เรายังมั่นใจอยู่อีกหรือว่าเราเป็นอิสระต่ออิทธิพลครอบงำทั้งปวง?
เขาผู้นั้นคือ
ความคิด (สังขาร)
ความจำ (สัญญา) และ
ความชอบ/ไม่ชอบ (เวทนา)
สัญญาที่เรามีในปัจจุบันเป็นผลรวมของการตกผลึกของประสบการณ์ในอดีตตั้งแต่ตอนที่เราเป็นเด็กมาจนถึงตอนนี้ มันปรุงแต่งสำเร็จเป็นผัดกะเพรามาแล้ว มันมีทั้ง fact และ opinion มันนอนเนื่องเป็นข้อมูลเพื่อรอให้เข้าถึงอยู่ในเซลสมอง อยู่ในมัสเซิลเมมโมรี่ เมื่อต้องการใช้งานมันก็จะถูกเกี่ยวดึงขึ้นมาใช้โดยตัวสังขาร เกี่ยวขึ้นมาเฉพาะเมมโมรี่สัญญาที่ relate กันกับเรื่องที่กำลังคิดปรุงแต่งอยู่
เพราะคนเรามีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน กระบวนการคิดกระบวนการตัดสินใจ รูปแบบการตอบสนอง และวิธีรับมือกับประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการเกี่ยวดึงและข้อมูลที่ดึงขึ้นมาได้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
พูดง่ายๆ "คุณภาพ" ของระบบการปรุงแต่งสัญญาจึงเป็นสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของแต่ละคน เป็นความสามารถเฉพาะตัวพัฒนาขึ้นมากันเองของแต่ละชีวิต
ต่อให้เราบอกว่า เราถูกจัดฉากเพระเรารู้อะไรๆ ต่างๆ มาจากการเรียนการฟังคนอื่นมาอีกที ก็เป็นตัวของเราเองที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เรียนที่ดูที่ฟังมานั้น เชื่อหรือไม่เชื่อในข้อมูลนั้น เราได้ทำหรือไม่ได้ทำและได้รับหรือไม่ได้รับประสบการณ์ต่อมาที่ได้มาจากการตัดสินใจอันนั้น เราได้เป็นพยานกับตัวเองในการรับรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบประสบการณ์ที่ได้รับมาจากสิ่งเหล่านั้น เคยได้รับความสุขทุกข์ดีใจเสียใจเจ็บปวดหรือความรู้สึกอื่นๆ มาจากสิ่งเหล่านั้น แม้ไม่เคยได้รับประสบการณ์ตรงก็อาจได้เคยเห็นคนอื่นตัดสินใจมาในทำนองนั้น มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อน คนใกล้ชิดทำถูกทำผิดมาก่อน เคยเป็นพยานต่อความชอบหรือไม่ชอบ ดีใจหรือเจ็บปวด สุขใจหรือทุกข์ใจของเขามาก่อน เราได้เห็นตลอดโพรเซสของมันจนรู้สึกสุขและทุกข์ไปด้วย ทั้งประสบการณ์ของคนอื่นและของตัวเราเองนี้ เราทำความเข้าใจกับมันไปแล้วว่านั่นคือสิ่งที่ถูกหรือผิด แม้จะไม่ได้แสตมป์มันไปว่าถูกหรือผิด แต่ก็ได้เคยแสตมป์บางอย่างลงไปเรียบร้อยแล้ว บางอย่างที่เราเองก็บอกไม่ได้ว่าสแตมป์มันลงไปว่าอะไร แต่สิ่งนั้นก็เป็นสัญญาที่ปรุงแต่งสังขารและผ่านการเป็นเวทนาเป็นผัดกะเพรามาเรียบร้อยแล้ว (แม้จะบอกว่าเป็นอทุกขมสุขเวทนา แต่มันก็เป็นเวทนา – จริงๆแล้วอทุกขมสุขเวทนามันละเอียดกว่าการเป็นแค่อุเบกขาเวทนา มันละเอียดกว่าการเป็นความรู้สึกเฉยๆ มันไม่ได้เฉยจริงแต่มันอธิบายยากกว่านั้น ท่านจึงสรุปง่ายๆเพื่อการจำแนกไว้แบบนั้น แต่นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แล้วเราก็ประทับมันลงเป็นเป็นบทสรุปเป็นสูตรสำเร็จ
“จำได้”
“รู้”
“เคยมาแล้ว”
“ไม่เชื่อก็ลองดู”
เราแนะนำคนอื่นได้
ง่ายต่อการตัดสินใจเองในครั้งต่อไป
ตรงนี้เองที่เราถูกจัดฉาก
ก็เพราะว่า "จำได้"
ก็เพราะว่า "รู้"
ก็เพราะว่า "เคยมาแล้ว"
ความรู้สึกของครั้งที่แล้วยังไม่ทันเลือนหายไปด้วยซ้ำ
ลองนึกถึงไอศครีมสตรอเบอรี่ ไอศครีมวนิลา ฮ๊อทช๊อคโกแลต แอปเปิ้ลครัมเบิล พุดเดิ้ลมะพร้าวอ่อน ทีรามิสุ บานอฟฟิ่ ขนมครก สังขยาฟักทอง ฯลฯ
บางรายการเรารู้ทันทีว่ามันรสชาติเป็นอย่างไร เรารู้ว่าเราจะเลือก/ไม่เลือกอะไร มีบางรายการที่เราไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร เรารู้ทันทีว่ามันเลือกได้หรือไม่ได้ กินได้หรือไม่ได้ อย่างพุดเดิ้ลมะพร้าวอ่อน เป็นต้น (หรือใครอยากจะลองกิน?)
นั่นคือการเลือกง่ายๆ การถูกจัดฉากจากความชอบไม่ชอบง่ายๆจากของกิน แต่ลองขยับเข้าไปดูในมิติอื่นของชีวิตบ้าง อย่าง การงาน ครอบครัว หรือ ความสัมพันธ์
ตัวอย่างคงไม่ต้องยก เพราะตอนนี้ผู้อ่านบางท่านคงมีตัวอย่างของตัวเองยกขึ้นมาให้ตัวเองได้ดูแล้ว
แล้วเวทนา สัญญา และ สังขาร นี้เป็นของใคร?
ใครปรุงแต่งขึ้นมา?
ใครจำเอาไว้ระลึกถึง?
ใครชอบ/ไม่ชอบ?
คนที่ตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ คือเราเอง
เราอนุญาตให้ตัวเราเชื่อหรือไม่เชื่อเอง
สร้างทางของเรารูปแบบเฉพาะตัวของเราในการเชื่อหรือไม่เชื่อนี้ อันเป็นพื้นฐานมายด์เซ็ทของเราขึ้นมา
คนที่เลือกก็คือเราเอง
เลือกรับและปฏิเสธข้อมูลตามทางแห่งมายด์เซ็ทที่สร้างไว้นั้น
สิ่งนี้เป็นพื้นฐานทุกอย่างของการรับความรู้และประสบการณ์ทั้งในทางโลกและทางธรรม
ทางโลก มันสร้างเราให้เป็นคนอย่างที่เราเป็นในตอนนี้ ชอบ ฟัง เชื่อ รับ ทุกอย่างที่พาเรามาจนถึงวันนี้
ทางธรรม มันสร้างเราให้เป็นคนที่รับธรรมะในแนวที่เรารับอยู่ในตอนนี้ จะรับมากรับน้อยสนใจมากสนใจน้อยก็เพราะมายด์เซ็ททางของเรามันเป็นแบบนี้ เราพัฒนามาเองแบบนี้
จะบอกว่าเราไม่เคยไบแอสอะไรเลยก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วเราถูกตัวเองไบแอสอยู่ตั้งแต่แรกไม่รู้ตัว
ความคิดที่เชื่อว่าตัวเองไม่ได้ถูกตัวเองไบแอสนั่นแหล่ะไบแอสไว้แล้ว
เราบอกว่าเราเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำทางความคิดทุกรูปแบบ แต่เราไม่เคยนับตัวเองเข้าไปในนั้น
ระบบปรุงแต่งสัญญาของเราที่เรากำลังใช้งานอยู่นี้ มันเป็นเวอร์ชั่นที่เท่าไหร่แล้ว?
เรายังจะสามารถเชื่อใจระบบปรุงแต่งสัญญาเวอร์ชั่นนี้ของเราต่อไปได้หรือไม่?
ระบบที่เราใช้งานอยู่นี้ มันยังสามารถอัพเกรดต่อได้อีกไหม?
เราใช้งานระบบในเวอร์ชั่นนี้มานานขนาดไหนแล้ว?
เราอัพเกรดระบบปรุงแต่งสัญญานี้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด?
เราจะอัพเกรดระบบปรุงแต่งสัญญานี้ต่อให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
มันจะเป็นไปได้ด้วยวิธีการไหน?
เราสามารถทำมันได้ด้วยตัวเองหรือไม่?
การที่เราจะถูกตัวเองไบแอสหรือไม่ได้ไบแอสไว้นั้นมันไม่ใช่เรื่องผิดหรือหรือเรื่องถูก สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาในโลกสมมุติ
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมันไม่ได้สนใจหรอกว่าเธอจะมีไบแอสกับตัวเองหรือไม่?
ต่อให้มีแล้วไง?
ต่อให้ไม่มีแล้วไง?
ดังนั้นไบแอสไม่ใช่ปัญหา
เพราะถ้าเธอไม่มีไบแอสแต่เธอแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์
เพราะถ้าเธอมีไบแอสแต่ไบแอสของเธอมันช่วยแก้ปัญหาได้มันก็พาเธอไปต่อได้
แล้วเหตุใดเราถึงต้องมาคุยกันเรื่องการจัดฉากของการเลือกของเรา?
ก็เพราะการมีไบแอสบางอย่างนั้นก็จำเป็นต่อการตื่นรู้เช่นกัน
แต่การมีไบแอสนั้นก็เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของอีโก้
เธอพกพาสิ่งนี้มาด้วย เธอก็ตื่นรู้ไม่ได้ ขัดแย้งกันดีไหม?
จะเห็นว่ามันเป็น paradox ไปแล้ว สิ่งหนึ่งอยู่ที่เหรียญด้านหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งก็อยู่ที่เหรียญอีกด้านหนึ่ง สองสิ่งนี้มันอยู่บนปลายส่วนสุดของทั้งสองข้างระหว่างการเลือก
คุ้นๆ มั้ย?
ฝั่งหนึ่งอาจจะอยู่ที่กามสุขัลลิกานุโยค อีกฝั่งหนึ่งอาจจะอยู่ที่อัตตะกิลมะถานุโยค?
เรื่องนี้สำคัญมากถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าพูดเป็นเรื่องแรกหลังการตรัสรู้ นั่นคือทางสายกลาง
(จริงๆแล้วมันไม่ได้สำคัญที่จะใช้คำว่ากามสุขขัลลิกานุโยคหรืออัตตะกิลมะถานุโยค แต่สองคำนี้มันเป็นตัวแทนของของคู่ dualism และเป็นคำที่เหมาะกับสถานการณ์ของปัญจวคีย์พอดี ซึ่งทางสายกลางที่แท้จริงนั้นจะต้องหาจุดสมดุลระหว่าง dualism นี้ให้ได้ เพราะต่อให้บอกว่ามรรค ๘ นั่นงัยคือทางสายกลาง แต่การยึดมรรค ๘ นั้นเป็นการพาตัวเองไปอยู่บนฝั่งใดฝั่งหนึ่งเรียบร้อยแล้ว)
ดังนั้นกุญแจจึงอยู่ที่ content ของไบแอสตัวนั้น ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต่อการตื่นรู้
เธอต้องหาทางสายกลางของตัวเองให้เจอ ทางสายกลางอันเปรียบเหมือนจักรยานที่เธอต้องหาจุดสมดุลระหว่างทั้งสองด้านให้ได้
สิ่งนั้นไม่มีใครสอนให้เธอรู้ได้ เธอต้องรู้ให้ได้ด้วยตัวเอง
บอกแล้วว่ามันเป็นปัจจัจตัง
ใครเป็นคนจัดฉาก?
จริงๆแล้วก็ไม่อยากสปอยล์มาก
บอกหมดจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
ขออภัยถ้าหากมีข้อความหรือถ้อยคำใดที่อาจทำให้ระคายเคืองไปบ้าง
Ordinarility เพียงแค่กระตุ้นให้เกิดความเอะใจเท่านั้น
เมื่อเอะใจ รู้ความจริง ก็ตื่นจากมายา แค่นั้น
โฆษณา