Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนังหลายมิติ
•
ติดตาม
13 ก.พ. 2020 เวลา 12:43 • บันเทิง
วิพากษ์ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง
ผ่านหนังเรื่อง Parasite " ชนชั้นปรสิต "
4
ข่าวดังที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการที่หน้าประวัติศาสตร์ออสการ์ต้องบันทึก “Parasite” ในฐานะที่เป็นหนังต่างประเทศเรื่องแรกที่ทะลวงกำแพงจนได้รางวัล “Best Picture Award 2020” ในที่สุด
หนังเรื่องนี้กำกับโดย บงฮุนโจ และจริงๆก็ได้รับรางวัลอื่นๆก่อนหน้านี้มาอย่างมากมาย
3
Parasite เป็นเรื่องราวของ 2 (หรือจริงๆคือ 3?) ครอบครัวที่มีฐานะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกันอย่างอลม่าน โดยครอบครัวขั้วจน มี พ่อ แม่ ลูกชาย และ ลูกสาว อยู่ในห้องรูหนูอับแสงชั้นใต้ดินในกรุงโซล ไม่มีอาชีพแน่นอน ต้องพับกล่องกระดาษขายไปวันๆ
ส่วนครอบครัวขั้วรวย มีโครงสร้างสมาชิกไม่ต่างกัน แต่ความเป็นอยู่ดีกว่าลิบลับ พวกเขาอาศัยในบ้านใหญ่โต มีคนรับใช้ ขี่รถหรู และสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกๆ
ทีนี้ความวุ่นวายดันเกิดขึ้นตรงที่ไอ้ลูกชายของบ้านคนจนบังเอิญมีโอกาสได้เข้ามาเป็นติวเตอร์ในบ้านคนรวย เท่านั้นไม่พอครอบครัวจนดันเก่งกาจในการค่อยๆแทรกซึมจนลูกสาวกลายมาเป็นครูสอนศิลปะ (ปลอมๆ) พ่อเป็นคนขับรถ แม่เป็นแม่บ้าน พูดง่ายๆคือ สมาชิกบ้านคนจนเข้ามาทำงานในบ้านคนรวยทั้งหมด ประหนึ่งเป็น “ปรสิต” ที่คอยเกาะกินเรื่อยไป
แม้ความอลเวงและโศกนาฎกรรมของทั้ง 2 ครอบครัวใน Parasite เป็นเรื่องแต่ง แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม
บางท่านอาจเคยได้ยินคำกล่าวว่า “ถึงจะรวยแต่ถ้าไม่ทำงานซักวันมันก็ต้องหมด” แต่รู้ไหมครับว่า จริงๆแล้วมันหมดยากมากถึงมากที่สุด
Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง “ทุนในศตวรรษที่ 21” วิเคราะห์ว่า การครอบครอง “ทุน” หรือ ทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ดิน หุ้น พันธบัตร ฯลฯ นี่แหละเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าทรัพย์สินเหล่านั้นงอกเงยในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างของมนุษย์เงินเดือนและคนหาเช้ากินค่ำ
.
.
เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าคนรวยก็ยิ่งรวยครับ รวยขนาดนี้ว่าเจียดผลตอบแทนบางส่วนมาใช้โดยไม่ทำงานก็อยู่ไปได้ 2-3 รุ่นสบายๆ ในขณะที่คนเดินดินทำงานรับเงินงกๆทุกเดือนแม้รายได้จะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่การจะข้ามฐานะนั้นคงทำได้ยากยิ่ง
บางคนอาจโต้แย้งว่า ใครว่าจนแล้วรวยไม่ได้?
ลองดูตัวอย่างตามเพจที่มีไลฟ์โค้ชคอย inspire ในการเปลี่ยนแปลง mind set เพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จต่างๆ พวกนี้หลายคนข้ามฐานะมาเป็นคนรวยได้ด้วยวิธีการคิดบวกต่างๆ ตรงนี้ผมมองว่ามีประเด็นอยู่ เพราะหลายวิวาทะในเพจเหล่านั้นมักให้น้ำหนักความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่าเป็นเรื่องของความสามารถเชิง “ปัจเจก” ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เราหลงลืมไปว่าเงื่อนไขด้าน “โครงสร้าง” ที่ทำให้คนรวยขึ้น หรือจนลง จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำนั้น ก็สำคัญอย่างยิ่ง
สำหรับในประเทศไทย เรามี “รูปแบบ” ของโครงสร้างภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่ในงานวิจัยล่าสุดของผมพบว่าในรายละเอียดและเนื้อหาแล้วโครงสร้างภาษีของเราก้าวหน้า “ไม่จริง” (ตรงนี้ไม่นับข้อวิจารณ์เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนะครับ ผมขอพูดเฉพาะส่วนที่เคยทำมาก่อนก็แล้วกัน)
เพราะถ้าหากคุณเป็นคนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ทั้ง LTF RMF ประกัน ฯลฯ ยิ่งคุณลงทุนมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งประหยัดภาษีในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นครับ
ตรงนี้อาจเป็นข้อเท็จจริงที่หลายท่านทราบอยู่แล้ว แต่เมื่อผมเอามูลค่าการลดหย่อนไปประมาณค่าด้วยวิธีการทางสถิติและคณิตศาสตร์พบว่า ประเทศเรามีช่วงห่างระหว่างการเติบโตของการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และการเติบโตของรายได้จากภาษีบุคคลมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงห่างนี้เองส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการทำนายยังพบว่าแม้เราจะตัดสิทธิการลดหย่อนบางประการไป (เช่น ใน LTF ที่ได้ทำไปแล้ว) ก็มิอาจทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของจิ๊กซอว์แห่งปัญหาความเหลื่อมล้ำครับ จริงๆแล้วความเหลื่อมล้ำเกี่ยวพันหลายมิติ ไม่ว่าด้านการเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ด้านปัญหาการเป็นชายขอบของกลุ่มคนต่างๆในสังคม หรือ ปัญหาที่เกิดจากระบบทวิลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่ผู้คนไหลบ่าเข้าไปทำงานในเมืองและครอบครัวในชนบทไว้เบื้องหลัง เป็นต้น (ถ้ามีโอกาสผมจะทยอยเล่าผ่านหนังให้ฟังเรื่อยๆครับ)
เมื่อเป็นเช่นนี้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเราต้องมองให้พ้นระดับปัจเจกไปครับ เราต้องมาคุยกันให้เยอะขึ้นเรื่องนโยบายในการปันส่วนใหม่ (redistribution) ไม่ว่าจะผ่านกลไกภาษี หรือกลไกนโยบายการคลังของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีนักการเมืองพรรคไหนมีนโยบายด้านนี้ที่ชัดเจน (ถึงมีนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อยก็มักเป็นการหวังผลระยะสั้นเสียมากกว่า)
.
.
และยิ่งไปกว่านั้นเราควรขยับมุมมองความเหลื่อมล้ำไปดูโครงสร้าง “สถาบัน” ให้มากขึ้น เช่น การกำกับอำนาจของบรรษัทเอกชน หรือ การปฏิรูปการศึกษา (ปฏิรูปบ่อยมากแต่ผลลัพธ์ไม่ดีขึ้น) เป็นต้น ซึ่งนโยบายด้านสถาบันบางทีอาจไม่เปลืองเลยนะครับ แต่ทำได้ยากหน่อย เพราะมันเข้าไปปรับกฏระเบียบทำให้วิถีชีวิตและวิธีการทำงานของคนเปลี่ยน ทำให้มีแรงตึงในการปรับจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้
ไม่ว่ามันจะปรับยากหรือง่าย ผมคิดว่ามันก็ต้องคุยกันก่อนแหละครับ เริ่มจากพวกเราก่อนก็ได้ในการช่วยส่งเสียง ถกเถียง พูดคุย เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคม ผมยังคาดหวังว่าในอนาคตคงจะมีแนวนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนกว่านี้เกิดขึ้นก่อนที่สถานการณ์แบบในหนัง Parasite ที่มีการเกาะกินแบบปรสิตจนลุกลามเป็นความขัดแย้งอันเป็นเหตุแห่งโศกนาฎกรรมแก่ทุกฝั่งฝ่ายจะกลายเป็นจริงขึ้นมา.......
หมายเหตุ : งานวิจัยฉบับเต็มดูได้จาก นรชิต จิรสัทธรรม และ กฤตยาณี กิตติพัฒน์พาณิช. 2562. “ยิ่งลดหย่อน ยิ่งเหลื่อมล้ำ: บทวิจารณ์การลดหย่อนภาษีในการลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติเป็นที่แรก
เครดิตรูปภาพ :
https://www.imdb.com/title/tt6751668/?ref_=ttmi_tt
19 บันทึก
100
52
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มองเศรษฐศาสตร์ผ่านหนัง
19
100
52
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย