14 ก.พ. 2020 เวลา 04:06 • การศึกษา
“รถหาย ทำไมประกันถึงไม่จ่าย!?”
แม้ว่าปัจจุบันระบบขนส่นมวลชนของประเทศไทยจะพัฒนาไปมากกว่าในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ายังไม่ทั่วถึง
เพราะการคมนาคมที่สะดวกสบายโดยส่วนใหญ่ก็มักจะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
แต่ในบางพื้นที่ เช่น ต่างจังหวัด หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ในหลาย ๆ จุดก็ตาม ยังอยู่ห่างไกลกับระบบขนส่งมวลชนพอสมควร
ดังนั้น รถยนต์จึงเป็นยานพาหนะที่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีเพื่อความสะดวกในการเดินทาง
ซึ่งราคารถยนต์ในบ้านเราก็ไม่ใช่ถูก ๆ คนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ซื้อไว้เป็นเจ้าของ ก็ต้องหาทางป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของตัวเอง
และการทำประกันภัยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถยนต์ของเราได้ เช่น ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรม เป็นต้น
แต่ทราบหรือไม่ว่า แม้จะทำประกันภัยรถยนต์ไว้แล้ว แต่บริษัทประกันในฐานะผู้รับประกันภัยก็อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถยนต์คันดังกล่าวได้
โดยข้อเท็จจริงของเรื่องนี้มีอยู่ว่า...
เจ้าของรถได้จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของห่างจากจุดซื้อของประมาณ 2 เมตร และต้องใช้เวลารอประมาณ 10 นาที
ถึงแม้ระยะทางดังกล่าวจะไม่ได้ไกลมาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะป้องกันรถได้
1
ในระหว่างรอนั่นเองก็มีคนร้ายได้ฉวยโอกาสขับรถออกไป
ซึ่งเคสนี้ บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ เจ้าของรถยนต์จึงได้มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบตามสัญญา
ซึ่งศาลฎีกาได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า...
ถ้าเจ้าของรถดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อย เชื่อว่าคนร้ายคงไม่สามารถขโมยรถยนต์ไปได้โดยง่าย เป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์
สาเหตุที่คนร้ายขโมยรถยนต์ที่บริษัทประกันภัยได้รับประกันภัยไว้ เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 879 วรรคหนึ่ง (อ้างอิงจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1305/2559)
มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดไว้ว่า “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้น ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์”
โดยคดีนี้ ศาลเห็นว่า เจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงทำให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายดังกล่าวนั่นเอง
รู้หรือไม่?
คำว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” หมายถึง การกระทำโดยไม่ได้เจตนาแต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับเพิกเฉยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา