บทเรียนที่ WWF เรียนรู้หลังตกเป็นเบอร์สองของวงการ คืออย่ามองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นปี 1996 WWF ขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ วินซ์ แม็คแมน ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด ด้วยการเริ่มต้นยุคใหม่ของสมาคมในชื่อ “ยุคแอดติจูด” (Attitude Era) ที่สือถึงทัศนคติใหม่ของสมาคม พวกเขาเลิกยึดติดกับนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียง และนำนักมวยปล้ำระดับกลางที่ถูกเขี่ยทิ้งจาก WCW มาปั้นใหม่ให้เป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการ
นักมวยปล้ำชื่อดังอย่าง สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin), ทริปเปิล เอช (Triple H), มิค โฟลีย์ (Mick Foley) และ คริส เจอริโก ชื่อเหล่านี้คือตัวอย่างของนักมวยปล้ำที่ถูกทิ้งขว้างจาก WCW แล้วมาแจ้งเกิดที่ WWF จนเป็นกำลังหลักของสมาคมในเวลาถัดมา
ในขณะที่ WCW กำลังจ่ายค่าจ้างมหาศาลให้แก่นักมวยปล้ำที่ดังมาตั้งแต่ยุค 80’s WWF ปั้นหนักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่โด่งดังไม่แพ้กัน แต่ค่าจ้างถูกกว่า และสร้างความสนใจจากคนดูได้มากกว่า เรตติ้งของ RAW เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้า WCW ในเดือนเมษายน ปี 1998
สวนทางกับค่ายคู่แข่ง WCW ยังคงผลักดันแต่นักมวยปล้ำหน้าเดิม ที่แสนจะขี้เกียจและคิดถึงแต่เรื่องเงิน คนเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่กับการถือเข็มขัดแชมป์โลก ส่วนนักมวยปล้ำที่สร้างแมตช์คุณภาพดีไม่ใกล้เคียงกับการไปถึงจุดนั้น เพราะไม่สามารถก้าวผ่านอำนาจหลังฉากของกลุ่ม nWo