ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่เธอทั้งหลาย. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ? จักษุ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”.
สิ่งใดไม่เที่ยง, สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”.
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา, ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา (เอตํ มม), นั่นเป็นเรา (เอโสหมสฺมิ), นั่นเป็นอัตตาของเรา (เอโส เม อตฺตา)” ดังนี้ ?
“ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”.
(ต่อไปได้ตรัสถามและภิกษุทูลตอบ เกี่ยวกับ รูป ... จักขุวิญญาณ ... จักขุสัมผัส ... จักขุสัมผัสสชาเวทนา, ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุนั้นทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข
ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อม คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อม หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อม มีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว.
อริยสาวกนั้น ย่อม รู้ชัด ว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก”.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
(ในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ ก็ได้ตรัสต่อไปอีก โดยนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดจักษุนี้).