19 ก.พ. 2020 เวลา 08:47 • การศึกษา
แผนผังก้างปลา
หรือเรียกเป็นทางการว่า แผนผังสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram)
       แผนผังสาเหตุและผลเป็นแผนผังที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา (Problem) กับสาเหตุทั้งหมดที่เป็นไปได้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหานั้น (Possible Cause) เราอาจคุ้นเคยกับแผนผังสาเหตุและผล ในชื่อของ "ผังก้างปลา (Fish Bone Diagram) " เนื่องจากหน้าตาแผนภูมิมีลักษณะคล้ายปลาที่เหลือแต่ก้าง หรือหลายๆ คนอาจรู้ จักในชื่อของแผนผังอิชิกาว่า (Ishikawa Diagram) ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943 โดย ศาสตราจารย์คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว
แผนผังสาเหตุและผลคืออะไร 
       สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JIS) ได้นิยามความหมายของผังก้างปลานี้ว่า "เป็นแผนผังที่ใช้แสดงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างสาเหตุหลายๆ สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหนึ่งปัญหา"
เมื่อไรจึงจะใช้แผนผังสาเหตุและผล
       1. เมื่อต้องการค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา
       2. เมื่อต้องการทำการศึกษา ทำความเข้าใจ หรือทำความรู้จักกับกระบวนการอื่น ๆ เพราะว่าโดยส่วนใหญ่พนักงานจะรู้ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ของตนเท่านั้น แต่เมื่อมีการ ทำผังก้างปลาแล้ว จะทำให้เราสามารถรู้กระบวนการของแผนกอื่นได้ง่ายขึ้น
       3. เมื่อต้องการให้เป็นแนวทางในการระดมสมอง ซึ่งจะช่วยให้ทุกๆ คนให้ความสนใจในปัญหาของกลุ่มซึ่งแสดงไว้ที่หัวปลา
วิธีการสร้างแผนผังสาเหตุและผลหรือผังก้างปลา
       สิ่งสำคัญในการสร้างแผนผัง คือ ต้องทำเป็นทีม เป็นกลุ่ม โดยใช้ขั้นตอน 6 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
       1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา
       2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ 
       3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย
       4. หาสาเหตุหลักของปัญหา
       5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ
       6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น
โครงสร้างของแผนผังสาเหตุและผล
 
ผังก้างปลาประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
>> ส่วนปัญหาหรือผลลัพธ์ (Problem or Effect) ซึ่งจะแสดงอยู่ที่หัวปลา
>> ส่วนสาเหตุ (Causes) จะสามารถแยกย่อยออกได้อีกเป็น
     o ปัจจัย (Factors) ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหา (หัวปลา)
     o สาเหตุหลัก
     o สาเหตุย่อย
ซึ่งสาเหตุของปัญหา จะเขียนไว้ในก้างปลาแต่ละก้าง ก้างย่อยเป็นสาเหตุของก้างรองและก้างรองเป็นสาเหตุของก้างหลัก เป็นต้น
การกำหนดปัจจัยบนก้างปลา
       เราสามารถที่จะกำหนดกลุ่มปัจจัยอะไรก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่ากลุ่มที่เรากำหนดไว้เป็นปัจจัยนั้นสามารถที่จะช่วยให้เราแยกแยะและกำหนดสาเหตุต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และเป็นเหตุเป็นผล
       โดยส่วนมากมักจะใช้หลักการ 4M 1E เป็นกลุ่มปัจจัย (Factors) เพื่อจะนำไปสู่การแยกแยะสาเหตุต่างๆ ซึ่ง 4M 1E นี้มาจาก
       []    M Man คนงาน หรือพนักงาน หรือบุคลากร
       []    M Machine เครื่องจักรหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก
       []    M Material วัตถุดิบหรืออะไหล่ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในกระบวนการ
       []    M Method กระบวนการทำงาน
       []    E Environment อากาศ สถานที่ ความสว่าง และบรรยากาศการทำงาน
แต่ไม่ได้หมายความว่า การกำหนดก้างปลาจะต้องใช้ 4M 1E เสมอไป เพราะหากเราไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิตแล้ว ปัจจัยนำเข้า (input) ในกระบวนการก็จะเปลี่ยนไป เช่น ปัจจัยการนำเข้าเป็น 4P ได้แก่ Place , Procedure, People และ Policy หรือเป็น 4S Surrounding, Supplier, System และ Skill ก็ได้ หรืออาจจะเป็น MILK Management, Information, Leadership, Knowledge ก็ได้ นอกจากนั้น หากกลุ่มที่ใช้ก้างปลามีประสบการณ์ในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดกลุ่ม ปัจจัยใหม่ให้เหมาะสมกับปัญหาตั้งแต่แรกเลยก็ได้ เช่นกัน
การกำหนดหัวข้อปัญหาที่หัวปลา
       การกำหนดหัวข้อปัญหาควรกำหนดให้ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเรากำหนดประโยคปัญหานี้ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว จะทำให้เราใช้เวลามากในการค้นหา สาเหตุ และจะใช้เวลานานในการทำผังก้างปลา
       การกำหนดปัญหาที่หัวปลา เช่น อัตราของเสีย อัตราชั่วโมงการทำงานของคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ อัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรืออัตราต้นทุนต่อสินค้าหนึ่งชิ้น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ควรกำหนดหัวข้อปัญหาในเชิงลบ
       เทคนิคการระดมความคิดเพื่อจะได้ก้างปลาที่ละเอียดสวยงาม คือ การถาม ทำไม ทำไม ทำไม ในการเขียนแต่ละก้างย่อยๆ
บทวิเคราะห์ Fish Bone Diagram เทียบเคียง Mind Map®
จากขั้นตอน ทั้ง 6 ขั้นตอนการเขียนแผนผังก้างปลา เรามาวิเคราะห์กันว่า เหมือน Mind Map® ตรงไหนบ้าง
       1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา --> ตรงกับ Mind Map® คือ การกำหนด Subject of Mind Map ไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ
       2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ --> ตรงกับ Main branch หรือ Main Node แขนงความคิดหลัก รอบๆ Subject of Mind Map 
       3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย --> ปัจจัยที่แตกย่อยออกไปก็คือ Sub-branch ในระดับลูก (child) ของ Main branch
       4. หาสาเหตุหลักของปัญหา --> การเน้นประเด็นหลัก หรือการจัด Priority ให้กับ Main branch อะไรสำคัญกว่า
       5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ --> set priority ด้วยการเพิ่มตัวเลข ใน branch ต่างๆ
       6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น --> นำผลที่ได้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา
ตัวอย่าง แผนผังก้างปลา
By #Yoshidej
โฆษณา