20 ก.พ. 2020 เวลา 03:59 • การศึกษา
"ทุกข์ที่เกิดจากหนี้"
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๒/๓๑๖.
-บาลี สี. ที. ๙/๑๑๒/๑๓๙.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความยากจน เป็นทุกข์ของคนผู้บริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ย่อมกู้หนี้, การกู้หนี้ นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ กู้หนี้แล้ว ต้องใช้ดอกเบี้ย,การต้องใช้ดอกเบี้ย นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ กู้หนี้แล้วต้องใช้ดอกเบี้ย ไม่อาจใช้ดอกเบี้ยตามเวลา เจ้าหนี้ก็ทวง, การถูกทวงหนี้ นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ถูกทวงหนี้อยู่ ไม่อาจจะใช้ให้เจ้าหนี้ย่อมติดตาม, การถูกติดตาม นั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
2
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ถูกติดตามอยู่ไม่อาจจะใช้ให้ เจ้าหนี้ย่อมจับกุม, การถูกจับกุมนั้นเป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความยากจน ก็ดี, การกู้หนี้ ก็ดี, การต้องใช้ดอกเบี้ย ก็ดี, การถูกทวงหนี้ ก็ดี, การถูกติดตาม ก็ดี, การถูกจับกุม ก็ดี, ทั้งหมดนี้ เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น: ความไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา, ในกุศลธรรมมีอยู่แก่ผู้ใด;
เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ในอริยวินัย.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา, ในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต,
เรากล่าว การประพฤติทุจริต ของเขานี้ ว่าเป็น การกู้หนี้.
เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตของเขา เขาตั้งความปรารถนาลามก ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา,
เรากล่าว การปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ว่าเป็น ดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้.
เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภ เขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไรๆ (ทุจริต) อย่างนี้”,
เรากล่าว การถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็น การถูกทวงหนี้.
เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันลามกประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อม เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา,
เรากล่าว อาการอย่างนี้ ว่าเป็น การถูกติดตาม เพื่อทวงหนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติกาย วจี มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อม ถูกจองจำอยู่ในนรก บ้าง ในกำเนิดเดรัจฉาน บ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจำอื่น แม้อย่างเดียวที่ทารุณอย่างนี้ เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉานอย่างนี้.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ความยากจนและการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก.
คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง.
การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม.
ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน :
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
สั่งสมแต่บาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิตเพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา,
ผู้นั้น พอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจน กู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน.
ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขา ทั้งในบ้านและในป่า.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำอยู่ในนรก. การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์ ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย.
“ผู้ใดเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ
แล้วทําคืนตามธรรม ถึงความสํารวมต่อไป;
ข้อนี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น”
อ้างอิงจาก : พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ ๗
พุทธวจน ฆารวาสชั้นเลิศ
หน้าที่ ๓๑ - ๓๖
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา