20 ก.พ. 2020 เวลา 13:33 • ปรัชญา
การรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้ยาวนาน
จากที่มีหลายคนถามถึงความทนทานและความแข็งแรงของไม้ไผ่จะมีอายุได้นานแค่ไหน ซึ่งจากที่รู้ถ้ามีการทำดีๆ ย่อมมีอายุตั้งแต่ 10-15 ปี หรืออาจจะมีอายุมากกว่านั้น
ด้วยปัญหาของไม่ไผ่เป็นไม้ที่เนื้อผุกร่อนได้เร็วเมื่อโดนแดด โดนฝน ช่างไม้ไผ่ที่มีความรู้ ความชำนาญจึงได้หาวิธีเพื่อรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้อยู่ได้นานที่สุด
ไม้ไผ่เป็นพืชที่หาง่ายราคาถูกสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย เป็นไม้อเนกประสงค์ นำมาทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่
การนำมาประดิษฐ์จึงจำเป็นต้องมีวิธีการบำรุงและชะลออายุการผุพังของไม้ให้มีอายุยาวนาน ช่างที่ชำนาญจึงเลือกใช้ไม้ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 3-4 ปีขึ้นไป แต่จะให้ดีก็เริ่มตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
ปัญหาก็คือเมื่อเราคิดจะใช้ไม้ไผ่ ปัญหาข้อแรกสำหรับเราคือ ทำอย่างไรจะรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้ทนทานนานหลายๆ ปี ได้มีวิธีการรักษาระดับเบื้องต้นไว้ว่า
1. ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกตัดไม้ไผ่เลยครับ ต้องเลือกไผ่ที่โตเต็มที่ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากไผ่หนุ่มหน้าอ่อนๆ จะสะสมแป้ง และความชื้นไว้ในเนื้อมาก เพื่อเตรียมแตกหน่อ อันนี้มอดชอบกินมาก แต่ถ้าอยากได้ไผ่ที่มีเนื้อเหนียวและลำโต ต้องใช้ไม้ไผ่ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป
2. ต้องตัดไผ่ในฤดูแล้ง จะได้ไผ่ที่ทนทานต่อแมลงมากกว่า ถ้าทำได้ตาม 2 ข้อข้างต้น ก็เป็นอันวางใจว่า ใช้ได้นาน ..ถ้าใช้อยู่ภายในอาคาร
3. อย่างไรก็ตาม ไผ่ที่จะนำไปใช้ OUTDOOR ก็ควรอัดน้ำยารักษาเนื้อไม้
การถนอมไผ่โดยวิธีธรรมชาติสำหรับคนรักไผ่ หลักการคือ การทำลายสารพวกแป้งและน้ำตาล ในเนื้อไม้ไผ่ ซึ่งเป็นอาหารของแมลง ให้หมดไป แมลงก็เลยไม่มากิน
1. การแช่น้ำ ตั้งแต่ 3 วันถึง 3 เดือน แช่ได้ทั้งน้ำจืด และน้ำทะเล
2. การใช้ความร้อน หรือการสกัดน้ำมันจากไม้ไผ่ เพื่อทำลายแหล่งอาหารของแมลงในเนื้อไผ่ ทำได้ 2 วิธีคือ การต้ม และปิ้งไฟ
- การต้ม จะทำให้เนื้อไม้นุ่ม
- การปิ้ง จะทำให้เนื้อไม้แข็งแรง และแกร่งขึ้น
จึงควรเลือกวิธีให้เหมาะกับงานที่จะใช้
ดังนั้นเราจะเห็นว่าการนำไม้ไผ่มาใช้งานจะต้องมีการเลือกใช้ไม้ทีามีอายุสมบูรณ์ และต้องมีความแข็งแรง ทั้งยังผ่านขั้นตอนในการดูแลด้วยวิธีการต่างๆ อย่างถูกต้อง เพื่อให้ไม้ไผ่มีอายุใช้งานได้อย่างยาวนาน เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องกังวลในการนำไม้ไผ่มาใช้อีกต่อไป
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย
ฝากกด like และกด share ด้วยนะครับ
โฆษณา