Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คนเล่าประวัติศาสตร์ (komkid)
•
ติดตาม
23 ก.พ. 2020 เวลา 06:58 • ประวัติศาสตร์
ชัยชนะครั้งสุดท้ายของชาวอินเดียนแดง ที่ลิตเติ้ล บิ๊กฮอร์น
เทคัมเซฮ์ หัวหน้าชนพื้นเมืองอเมริกัน เผ่าชอว์นี ได้กล่าวไว้ว่า
“ไม่มีชนเผ่าใด มีสิทธิ์ขายแผ่นดินได้ แม้เพียงจะซื้อขายให้แก่พวกเดียวกันมากกว่าคนแปลกหน้า หากคิดขายแผ่นพื้นธรณีแล้วไซร้ เหตุใดไม่ขายอากาศฤาท้องทะเล ผืนธรณีนี้ หาได้มีไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปกระนั้นหรือ”
หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 1865 รัฐบาลสหรัฐได้หันมาสนใจนโยบายขยายอาณาเขตไปในภาคตะวันตก ชาวอินเดียนแดงหรือชนพื้นเมืองอเมริกันหลายเผ่าถูกกวาดล้าง ผู้ที่รอดชีวิตถูกผลักดันออกจากแผ่นดินของตน เข้าไปอยู่ในเขตสงวนที่ถูกจัดเอาไว้
ปี ค.ศ.1872 มีการพบสายแร่ทองคำที่เนินดำ(Black Hill)ในรัฐเซาท์ดาโกต้า อันเป็นศูนย์กลางแผ่นดินของชนเผ่าซู (Sioux) ซึ่งเป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันตก โดยชาวซูเชื่อว่า ที่นั่นเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ก็มีนักขุดทองจำนวนมากไปที่นั่นและปะทะกับนักรบซู รัฐบาลสหรัฐจึงส่งนายพล จอร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์ พร้อมทหารจำนวนหนึ่งมาที่นี่ โดยอ้างว่า มาคุ้มครองเนินดำจากการบุกรุกของนักขุดทอง ทว่า ในความจริง คัสเตอร์กลับไม่ได้ทำการใดๆ เพื่อผลักดันคนขาวออกไป แต่เขากลับรายงานถึงทองคำปริมาณมหาศาลที่ขุดพบที่นี่
นายพลจัตวา จอร์จ อาร์ม สตรอง คัสเตอร์
ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐจึงส่งตัวแทนมาเจรจากับชนเผ่าซู เพื่อขอซื้อเนินดำ ซิทติ้ง บูลล์ หรือ โยตันก้า กาตันก้า (แปลว่า เจ้าวัวนั่ง) หัวหน้าเผ่าผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนเจรจา ได้ปฏิเสธข้อเสนอ โดยซิทติ้งบูลล์ได้หยิบดินขึ้นมากำหนึ่งและกล่าวกับตัวแทนรัฐบาลว่า
“แม้ฝุ่นเพียงหยิบมือ เราก็ไม่ขาย ที่นี่เป็นแผ่นดินแม่ของเรา หากคนขาวจะเข้ารุกราน เราก็จะสู้ "
ซิตติ้งบูล เจ้าวัวนั่ง
เมื่อทราบคำตอบ รัฐบาลสหรัฐก็ส่งทหารจำนวนมาก นำโดยนายพลครู้ด พร้อมทั้งนายพลคัสเตอร์และกรมทหารม้าที่ 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยรบที่ดีที่สุดของกองทัพบกสหรัฐในเวลานั้น เข้าโจมตีพวกซูทันที
ในปี ค.ศ. 1875 กองทหารของนายพลครู้ด หรือที่ชาวอินเดียนเรียกว่า จิ้งจอกสีเทาได้กวาดล้างค่ายอินเดียนต่างๆ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำพาวเดอร์ พวกเขาเผากระโจม สังหารเด็กและผู้หญิงจำนวนมาก พวกที่เหลือ หนีการไล่ล่าขึ้นไปรวมตัวกันทางเหนือกับ ซิทติ้งบูลล์ เครซี่ฮอร์ส (เจ้าอาชาคะนอง) และกัลล์(เจ้านกนางนวล) ซึ่งในการโจมตีที่แม่น้ำพาวเดอร์ ลูกเมียของเครซี่ ฮอร์ส ถูกทหารอเมริกันสังหารคากระโจม
พวกนักรบที่นำโดย เครซี่ ฮอร์สได้ซุ่มโจมตีกำลังของนายพลครู้ดด้วยกลยุทธ์ล่อให้ข้าศึกตามและแยกพวกนั้นเป็นส่วนๆ เขาสั่งให้นักรบควบม้าตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เป็นเป้านิ่ง หลังจากข้าศึกแยกกำลังกัน เครซี่ ฮอร์ส ก็รวมกำลังเข้าบดขยี้ทีละส่วนจนแตกพ่าย
ฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1876 นายพลคัสเตอร์นำทหารม้า 700 นาย ไล่ล่าชนเผ่าซู กลุ่มลาโคต้าของซิตติ้งบูลล์ รายงานที่คัสเตอร์ได้รับคือ พวกอินเดียนมีเพียง 800 - 1,000 คน รวมทั้งเด็กและผู้หญิง
คัสเตอร์ปฏิเสธที่จะรอกองหนุนเพราะกลัวว่า ซิทติ้งบูลล์กับพวกจะหนีไปได้ และเมื่อสายสืบ แจ้งมาว่า พวกลาโคต้าอยู่ที่แม่น้ำลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น(little bighorn:แกะป่าน้อย) เขาจึงนำทหารมุ่งไปทันที
1
แม่น้ำลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น
ทว่าสิ่งที่คัสเตอร์ไม่ทราบก็คือ พวกอินเดียนที่นั่นกำลังรอพรรคพวกที่ไปล่าควายไบซันมาสมทบ นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าซู กลุ่มดาโคต้า และเผ่าไชแอนกับเผ่าอะราพาโฮ อพยพมารวมกับพวกลาโคต้า จนมีอินเดียนกว่าหมื่นคนที่ลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักรบ 2,000 – 2,500 คน
กองทหารของนายพลคัสเตอร์มาถึง ในบ่ายวันที่ 25 มิถุนายนและวางแผนเข้าโจมตีในตอนเช้ามืด โดยแบ่งกำลังเป็นสามส่วน เพื่อไม่ให้พวกซู หนีรอดไปได้ ทว่าสิ่งที่ผิดพลาด คือ คัสเตอร์ประมาณขนาดค่ายพักของพวกอินเดียนเล็กเกินไป โดยไม่รู้แท้จริงแล้วข้าศึกมีจำนวนมากกว่าที่เขาคิดไว้หลายเท่า
เช้ามืดวันที่ 26 มิถุนายน ทหารสามหน่วยนำโดยนายพลคัสเตอร์ พันตรีรีโนและร้อยเอกแบนทีน ได้บุกเข้าทะลวงค่ายอินเดียนที่ลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น
ทหารสหรัฐสังหารชาวอินเดียนไม่เลือกว่าผู้หญิงหรือเด็ก ซิทติ้งบูลล์และกัลล์พยายามรวบรวมนักรบเข้าต้านอย่างเต็มกำลัง กัลล์ได้นำนักรบเข้าปะทะกับกองทหารของพันตรีรีโนอย่างดุเดือด
ขณะนั้น นายพลคัสเตอร์ได้นำทหารข้ามแม่น้ำมา เพื่อประสานกับอีกสองหน่วยก่อนล้อมข้าศึกตามแผน
คัสเตอร์คิดว่า เขาได้วางกำลังเข้าตีครอบคลุมเกือบทั้งค่าย แต่ความจริงคือ ยังมีพวกอินเดียนที่ตั้งกระโจมห่างออกไปทางเหนือและใต้ด้วย
ซิทติ้ง บูลล์ สั่งนักรบกระจายกำลังออกไป ขณะพวกนักรบจากด้านนอกก็ยกมาช่วย จนทำให้หน่วยของผู้พันรีโนกับร้อยเอกแบนทีนต้องล่าุถอย เหลือเพียงหน่วยของนายพลคัสเตอร์ที่ยังอยู่ในค่ายและเมืี่อ เครซี่ ฮอร์ส นำนักรบมาสมทบ ซิทติ้งบูลล์ก็สั่งนักรบทั้งหมดเข้าโอบล้อมกองทหารม้าของคัสเตอร์
การรบที่ลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น
เมื่อเห็นข้าศึกมีมากกว่า คัสเตอร์จึงนำกำลังขึ้นไปยึดที่มั่นบนเนินเขา แต่วงล้อมของนักรบซูก็บีบเข้ามาเรื่อยๆ พวกทหารถอดเอาอานม้ามาวางเป็นที่กำบังแต่ก็เปล่าประโยชน์ พวกอินเดียนระดมยิงจนในที่สุด นายพลคัสเตอร์กับพวกทหารก็ถูกสังหารจนหมด ส่วนทหารสหรัฐอีกสองหน่วยสามารถหนีรอดไปได้
ในศึกครั้งนี้ นายพลคัสเตอร์พร้อมทหารอีก 276 นายถูกสังหาร ส่วนพวกอินเดียนตายไปราว 300 คน
หลังการรบจบลงไม่นาน สายของพวกซูได้รายงานว่า พบกองทหารขนาดใหญ่เคลื่อนกำลังเข้ามา ซิทติ้งบูลล์เห็นว่า การเผชิญหน้าตอนนี้ ไม่เป็นผลดี จึงสั่งถอนค่ายถอยหนีต่อไป
การรบที่ลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น เป็นหนึ่งในสองครั้งของยุคอุตสาหกรรม ที่กองทหารสมัยใหม่ต้องพ่ายแพ้แก่ข้าศึกที่เป็นชาวป่า อย่างยับเยิน โดยอีกครั้งคือ สมรภูมิไอแซนด์ลวานาแห่งอาฟริกาใต้
ความปราชัยของกรมทหารม้าที่ 7 ทำให้กองทัพบกสหรัฐโกรธแค้นมาก และปฏิบัติการล้างแค้นก็เกิดขึ้น กองทหารม้าถูกส่งไปสังหารชาวอินเดียนทุกคนที่พบ ไม่ยกเว้นแม้แต่พวกที่อยู่ในเขตสงวน จากนั้นก็ส่งกำลังมหาศาลไล่ล่าพวกซู แม้ระยะแรก เครซี่ ฮอร์ส ยังสามารถเอาชนะทหารสหรัฐได้ แต่ก็มีการสูญเสียนักรบรวมทั้งเสบียงและอาวุธเรื่อยๆ ขณะที่ฝ่ายสหรัฐได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังและอาวุธอยู่ตลอด
1
อนุสรณ์สถาน ลิตเติ้ลบิ๊กฮอร์น
ในที่สุด ซิทติ้งบูลล์ และกัลล์ ตัดสินใจนำประชาชนอพยพขึ้นเหนือเข้าไปในแคนาดาเพื่อลี้ภัยและชักชวนเครซี่ ฮอร์สไปด้วย ทว่าเครซี่ ฮอร์สปฏิเสธที่จะละทิ้งแผ่นดินแม่และยืนหยัดสู้ต่อ
เมื่อเข้าฤดูหนาว ความทารุณของอากาศได้คร่าชีวิตเด็กและคนชราจำนวนมาก ทั้งยังขาดแคลนเสบียง และที่พัก หลบความหนาว
ในที่สุด เครซี่ ฮอร์ส จึงตัดสินใจยอมจำนน โดยหวังว่าเด็กและผู้หญิงอาจได้รับอาหารและผ้าห่มบ้าง
ทางกองทัพยอมรับการยอมจำนนของเครซี่ฮอร์ส และอนุญาตให้คนของเขาอาศัยอยู่ในเขตสงวนริมแม่น้ำพาวเดอร์ ทว่าเมื่อเครซี่ฮอร์ส มามอบตัวที่ป้อมโรบินสัน ในเนบราสก้า เมื่อปี ค.ศ. 1877 พวกทหารกลับเข้ารุมทำร้าย เครซี่ ฮอร์สชักมีดที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มออกมาและจะฝ่าวงล้อม แต่ทหารคนหนึ่งใช้ดาบปลายปืนแทงเขาที่ด้านหลังจนทรุดฮวบลงและสิ้นใจตายด้วยวัยสามสิบห้าปี
ปี.ค.ศ. 1882 ซิตติ้งท์บูลล์ ซึ่งลี้ภัยไปอยู่แคนาดา ได้ถูกรัฐบาลแคนาดาบีบให้กลับมามอบตัวกับสหรัฐ และถูกนำตัวไปยังเขตสงวน
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1890 ซิตติ้งท์บูลล์ถูกจับกุมในข้อหาซ่องสุมผู้คน เขาปฏิเสธการจับกุม จึงถูกทหารคนหนึ่งใช้ปืนยิงเขาที่ศีรษะจนถึงแก่ความตาย
1
หลังการตายของซิตติ้งท์บูล ชาวอินเดียนเผ่าซู จำนวน 300 คน ได้หนีออกจากเขตสงวน ทว่าถูกกองทหารสหรัฐติดตามล้อมจับได้ที่ ลำธาร วูนเดดนี ระหว่างการจับกุม เกิดเสียงปืนลั่นขึ้นโดยอุบัติเหตุ ทำให้ทหารสหรัฐคิดว่า ชาวอินเดียนขัดขืนต่อสู้ จึงใช้ปืนกลสังหารหมู่ชาวอินเดียนเกือบหมด และหลังการสังหารหมู่ที่วูนเดดนี ความหวังที่จะกลับไปมีชีวิตอย่างอิสระเสรีดังเดิมของชาวพื้นเมืองอเมริกันก็จบลงโดยสิ้นเชิง
เนินดำ ในปัจจุบัน
13 บันทึก
32
10
12
13
32
10
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย