24 ก.พ. 2020 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
NetScape Time ตอนที่ 1 : Billion Dollar Company
ช่วงทศวรรษ 1990 แม้ว่าตลาดหุ้น Wallstreet นั้นจะตอบรับบริษัทเทคโนโลยี อย่างดียิ่ง เป็นหุ้นกลุ่มที่ร้อนแรงที่สุดของตลาดในขณะนั้น แต่นักวิเคราะห์หลาย ๆ คนก็คิดว่ามันกำลังเริ่มที่จะร้อนแรงเกินไปเสียแล้ว มันกำลังจะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ เหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
NetScape Time ตอนที่ 1 : Billion Dollar Company
วันที่ 9 สิงหาคม 1995 เป็นวันที่ หุ้นของ NetScape จะถูกนำมา IPO เปิดขายให้กับสาธารณชนเป็นครั้งแรกในตลาดหุ้น Nasdaq ของอเมริกา โดย NetScape ที่สร้างโดย Marc Andreessen และ Jim Clark ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาจะกลายเป็นธุรกิจพันล้านใหม่ในตลาดหุ้นในวันนั้น
สิ่งที่ NetScape ได้สร้างมาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนทุกอย่างของโลกเราไปตลอดกาล โปรแกรม Nevigator ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าสู่ Internet นั้นถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ ที่ไม่มีใครเคยได้พบเจอมาก่อน
มันทำให้ผู้คนสามารถเข้าสู่โลกของ World Wide Web ได้อย่างง่ายดาย NetScape ได้ฉีกแนวธุรกิจใหม่ขึ้น เมื่อสร้างสินค้าที่เผยแพร่ไปบน Internet ไปสู่ผู้ใช้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านชั้นวางสินค้า ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนหลังจาก่อตั้ง มีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานกว่า 6 ล้านชุด
แน่นอนว่าในตอนแรก พวกเขาก็ยังไม่มี Business Model ที่ชัดเจนนัก ว่าจะทำกำไรจาก NetScape Navigator นี้ได้อย่างไร และต้องบอกว่ามันเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีการคิด Model ปล่อยให้ใช้ฟรี แล้วค่อยมาทำเงินจากมันในภายหลัง ให้เกิดขึ้นบนโลกของเทคโนโลยีก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องปรกติในยุคปัจจุบันนั่นเอง
แน่นอนว่ามันเป็นการพนันครั้งยิ่งใหญ่ของ Marc Andreessen และ Jim Clark สองผู้ก่อตั้ง ที่จะไม่ขายให้ผู้ใช้โดยตรงตั้งแต่ครั้งแรก แต่พวกเขามองว่ารายได้จะเข้ามาเองเมื่อผู้ใช้เหล่านั้นพอใจกับสินค้าที่พวกเขาเสนอ ซึ่งถือเป็นแนวคิดใหม่มาก ๆ ในยุคนั้น
James Barksdale หนึ่งในผู้บริหารของ NetScape ในขณะนั้น ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป ที่จะนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้น NetScape แทบจะยังไม่สามารถสร้างกำไรจากธุรกิจได้เลยด้วยซ้ำ
3 ทีมงานคุณภาพของ NetScape James Barksdale , Marc Andreessen , Jim Clark
แต่ตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้ NetScape ต้องลุยเข้า IPO โดยด่วนก็คือ บริษัทอย่าง Spyglass ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กในอิลลินอยส์ เช่นเดียวกัน และได้รับลิขสิทธิ์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในการเผยแพร่โปรแกรม Mosaic ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาโดย Marc Andreessen และเพื่อร่วมงานของเขา (สมัยที่ยังศึกษาอยู่) และสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 200 ล้านเหรียญ และกำลังจะกลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ NetScape อีกด้วย
แน่นอนว่า Spyglass เองพยายามพูดถึง NetScape ในแง่ลบ ในการขโมยความคิดมาจากหน่วยงาน National Center of Supercomputer Application (NCSA) แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในขณะนั้น ซึ่ง Marc Andreessen ผู้ร่วมก่อตั้ง NetScape เคยทำงานวิจัยอยู่ที่นั่น
และในที่สุดเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึงในเวลา 11.30 ของเช้าวันที่ 9 สิงหาคม 1995 ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการเปิดตัวหุ้น NetScape นั้น ราคาหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ได้เกิดบันทึกหน้าใหม่ให้กับตลาดหุ้น Wallstreet เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และนั่นเอง มันได้ทำให้ NetScape ที่ยังแทบจะไม่มี model ในการสร้างรายได้ในระยะยาว และไม่ต้องพูดถึงกำไรที่ยังแทบจะไม่มี ได้กลายเป็นบริษัทที่มูลค่าตลาดพุ่งไปสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญ ได้สำเร็จ ทำให้ Jim Clark สร้างบริษัทที่สองให้กลายเป็นบริษัทพันล้านเหรียญได้สำเร็จ และหุ้นที่เขาถืออยู่ในมือ ก็กำลังมีมูลค่าสูงถึง 663 ล้านเหรียญด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งการพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วของหุ้น NetScape นี่เอง เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของตลาดหุ้น Wallstreet และสร้างความประทับใจให้กับสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง มีการพาดหัวในหนังสือพิมพ์ Newyorktime ว่า “ด้วยกระแสของ internet แม้จะไม่มีกำไร หุ้นของบริษัทใหม่ก็เป็นที่ต้องการของ Wallstreet”
และเพียงแค่วันแรกของการเปิดตลาด IPO ของ NetScape นั้น เมื่อสิ้นสุดวัน ราคาหุ้นของพวกเขาก็ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 58.25 เหรียญ และนี่คือจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขา ที่ทำให้เหล่าพนักงาน รวมถึงผู้ก่อตั้งกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านไปได้ในชั่วข้ามคืนในที่สุดนั่นเองครับ
ต้องบอกว่า เรื่องราวของ NetScape นั้นถือเป็นอีกหนึ่ง Story ทางธุรกิจที่น่าสนใจ กับธุรกิจเทคโนโลยี ที่สุดท้ายต้องมาประมือกับยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ผมจะพาย้อนไปตั้งแต่พวกเขาเริ่มต้น ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องราวของ NetScape นั้น ไม่แพ้การต่อสู้ในหลาย ๆ ธุรกิจที่ผมเคยเล่าผ่าน Blog Series ชุดต่างๆ มาเลยทีเดียวครับ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม
อ่านตอนที่ 2 : Mosaic Killer
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา