24 ก.พ. 2020 เวลา 08:00 • ประวัติศาสตร์
Nicholas Winton วีรบุรุษผู้ช่วยชีวิตเด็กชาวยิวกว่า 669 คนให้พ้นจากเงื้อมมือนาซี
Nicholas Winton เป็นวีรบุรุษของเด็กชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
Winton เกิดในปีค.ศ.1909 (พ.ศ.2452) ที่ประเทศอังกฤษ
ในช่วงปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ขณะทำงานเป็นนายหน้าค้าหุ้นที่ลอนดอน และในช่วงวันหยุด ขณะที่เขากำลังวางแผนจะไปพักผ่อนเล่นสกีที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาก็ได้รับจดหมายจากเพื่อนที่ชื่อ “Martin Blake”
Blake ซึ่งในขณะนั้นได้ให้การช่วยเหลือเด็กชาวยิวให้เข้ามาในกรุงปราก ได้โทรเลขขอให้ Winton มาช่วยเขาที่ปราก ซึ่ง Winton ก็ตอบรับและตรงไปปรากทันที
Winton ได้ไปชมค่ายอพยพของเด็กชาวยิว และตระหนักว่าเด็กๆ คงจะไม่ปลอดภัยแน่ และถึงแม้อังกฤษจะมีนโยบายรับเด็กชาวยิวที่หนีพวกนาซีมา แต่สาธารณรัฐเช็คยังไม่มีนโยบายนั้น และขณะนี้เช็คเองก็กำลังค่อยๆ ตกอยู่ในเงื้อมมือนาซี
Winton จึงร่วมกับ Blake และเพื่อนคนอื่นๆ ตั้งสำนักงานในกรุงปราก เพื่อทำหน้าที่ส่งเด็กชาวยิวไปยังที่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อยู่ในสายตาของนาซี แต่ Winton ก็ดำเนินการอย่างรวดเร็วและติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้การอพยพเด็กๆ ออกเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
Winton ทำแม้กระทั่งปลอมแปลงวีซ่าเพื่อให้เด็กๆ เดินทางเข้าสู่อังกฤษได้รวดเร็วขึ้น และภายในเดือนมีนาคม ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) Winton ก็สามารถนำพาเด็กชาวยิวเดินทางโดยรถไฟออกจากกรุงปราก ทะลุผ่านเยอรมนีและเนเธอแลนด์ และขึ้นเรือต่อไปยังอังกฤษ
รถไฟเที่ยวแรกนั้นบรรทุกเด็กเพียง 20 คน แต่อีกเจ็ดขบวนที่เหลือนั้นจะบรรทุกเด็กตามไปอีกหลายคน
พ่อแม่ของเด็กๆ มาส่งเด็กๆ โดยที่รู้ว่าจะไม่ได้เจอลูกของตนอีกแล้ว เนื่องจากอังกฤษรับเพียงเด็กๆ และไม่มีที่ว่างสำหรับผู้ใหญ่
พ่อแม่และเด็กๆ กอด ร้องไห้กันอย่างเศร้าสร้อย เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจผู้คน
แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ Winton ก็ได้ช่วยชีวิตเด็กไว้กว่า 669 คน
ภายหลังสงครามสงบ Winton ก็ใช้ชีวิตปกติ โดยไม่เคยพูดโอ้อวดหรือทวงบุญคุณใคร และไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้
ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ภรรยาของ Winton ได้ทำความสะอาดห้องใต้หลังคาและพบกระดาษที่จดรายชื่อของเด็กที่ทำการช่วยเหลือ และรูปถ่ายของเด็กๆ ซึ่ง Winton ก็ได้บอกให้โยนทิ้งไป
แต่ภรรยาของเขาไม่ยอมโยนทิ้ง แต่กลับส่งเรื่องราวทั้งหมดไปให้นักประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อมาก็ได้ทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากสนใจ และทำให้ Winton ได้รับเกียรติยศมากมาย
วินตันขณะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
แต่ถึงอย่างนั้น Winton ก็ยังคงเงียบๆ ไม่พูดโอ้อวดหรือทวงบุญคุณใคร โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกเบื่อที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ เป็นร้อยๆ ครั้ง อีกทั้งเขาเองก็ไม่ใช่วีรบุรุษ เพราะการที่เขาช่วยเด็กก็ไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนหรือตกอยู่ในอันตราย เขาเพียงแต่ทำในสิ่งที่มนุษย์สมควรจะทำก็เท่านั้น
ในเวลาต่อมา เหล่าเด็กๆ ที่ Winton ได้เคยช่วยชีวิตไว้ ก็ได้รวมตัวกัน กลับมาพบเขา พบกับเทวดาที่เคยช่วยชีวิตพวกตน
Winton กับเด็กๆ ที่เขาเคยช่วยชีวิต
และผมขอลงคลิปที่เด็กๆ ชาวยิวที่ Winton มาเซอร์ไพรส์เขา โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังนั่งอยู่ท่ามกลางเด็กๆ ที่เขาเคยช่วยเหลือ
Nicholas Winton เสียชีวิตในปีค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ขณะมีอายุได้ 106 ปี ทิ้งเรื่องเล่าของวีรบุรุษผู้ไม่ต้องจับปืนสู้รบกับใคร แต่สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก
โฆษณา