24 ก.พ. 2020 เวลา 14:49 • การศึกษา
THE RANGERS IN GARAMBA: เหล่าวีรบุรุษผู้อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องสัตว์ป่าแห่งแอฟริกา
จากทัศนียภาพหนาทึบของเสาไฟและตึกระฟ้าในเมืองหลวง สู่ความเบียดเสียดของแมกไม้สลับกับหนองน้ำในถิ่นทุรกันดาร โอบล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าและฝูงสัตว์ป่าที่ธรรมชาติเป็นผู้ครอบครอง หมุนลูกโลกไปทางซ้ายข้ามทวีปเอเชียที่คุ้นเคยมาสู่แอฟริกา ทวีปที่กว้างใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
เล็กลงไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ที่นี่มี GARAMBA NATIONAL PARK อุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกา อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,133 ตารางกิโลเมตร แถมยังเป็นบ้านเกิดของสัตว์ป่ากินพืช สัตว์นักล่าที่รวดเร็ว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หากลองแหวกดูตามสุมทุมพุ่มไม้ก็จะพบว่ามีสัตว์ป่าแอฟริกาหลากชนิดรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ตั้งแต่แอนทิโลป ควายป่า ไฮยีน่า สิงโต ยีราฟ ฮิปโปโปเตมัส ลิงชิมแปนซี ไปจนถึงหมูป่ายักษ์ ทั้งยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 138 สายพันธุ์ นกอีก 286 สายพันธุ์ และช้างป่าลูกผสมของป่าสะวันนาและป่าแอฟริกาก็อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย
GARAMBA NATIONAL PARK สถานที่ที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพสุดน่าทึ่ง กำลังถูกคุมคามโดยกองโจรล่าสัตว์ป่า ผู้ลักลอบขนอาวุธ และกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่คร่าชีวิตสิงห์สาราสัตว์บนผืนป่าแห่งนี้ไปนับไม่ถ้วน ตลอดพื้นที่ 1,268,390 เอเคอร์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด แต่น่าเสียดายที่ในช่วง 10 ปีให้หลังจำนวนสัตว์ป่าในอุทยานแห่งนี้ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการรุกล้ำ
จำนวนช้างลดลง 90% จาก 20,000 ตัวในปี 1960 เหลือเพียง 2,800 ตัวในปี 2011 นอกจากนั้นมีช้าง 22 ตัวถูกฆ่าตายในปี 2012 และตายอีก 68 ตัวในปี 2014
ปัจจุบันมีช้างเหลือรอดไม่ถึง 1,300 ตัว แม้กระนั้นเหล่ามนุษย์ผู้โหดเหี้ยมก็ยังคงหาประโยชน์จากสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์พวกนี้
ผู้พิทักษ์ผืนป่าแห่งการัมบา
ยังโชคดีที่มีกลุ่มวีรบุรุษที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องสัตว์ป่าแอฟริกาใกล้สูญพันธุ์จากเหล่าผู้บุกรุก เชื่อว่าถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากทำอาชีพที่มาพร้อมกับอันตราย ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายและไม่รู้ว่าจะตายวันหรือตายพรุ่ง แต่ทหารพราน 140 ชีวิต ยอมอุทิศตนเพื่อปกป้องทรัพยากรและพื้นที่ป่าอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขา ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความไม่สงบและเสี่ยงอันตราย สำหรับพวกเขาคงไม่มีอะไรท้าทายไปกว่าการได้ปกป้องคุ้มครองผืนแผ่นดินนี้
เหล่าทหารพรานต้องทำงานในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าทั่วแอฟริกา ต้องลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อสังเกตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าท้องถิ่น ตลอดจนเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและลักลอบล่าสัตว์ในเขตหวงห้าม ทั้งกลุ่ม Al-Shabaab, Lord’s Resistance Army, Boko Haram และ Janjaweed นอกจากนั้นยังมีพวกค้าอาวุธเถื่อนและงาช้างที่หวังจะนำเงินไปซื้ออาวุธและอาหาร สร้างเสบียงกองโจรเพื่อสนับสนุนการก่อการร้ายและจุดไฟความไม่สงบให้เดือดพล่าน
ภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
การดูแลสัตว์ป่าก็ว่าอันตรายแล้ว แต่สิ่งที่อันตรายกว่านั้นคือการทำสงครามในสนามหญ้ากับกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมจะโจมตีพวกเขาและครอบครัวทุกเมื่อ
ในปี 2006 มีทหารพรานถูกฆ่าตาย 19 คน ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องอุทยาน ไม่เพียงแต่อนุรักษ์ระบบนิเวศและต่อสู้กับผู้รุกล้ำ แต่ยังต้องดูแลความปลอดภัยของผู้คนนับหมื่นที่อาศัยอยู่รอบ ๆ พื้นที่แห่งนี้ด้วย อย่างไรก็ตามเหล่าทหารพรานก็ยังยืดหยัดที่จะนำความมั่นคงและผาสุกมาสู่ดินแดนทุรกันดารแห่งนี้
ผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก
ทหารพรานส่วนใหญ่มาจากพื้นที่โดยรอบอุทยาน แม้จะมีความชำนาญในลักษณะภูมิประเทศและรู้ภาษาถิ่น แต่ก็ต้องฝึกฝนอย่างหนัก ก่อนจะเริ่มงานในอาชีพเสี่ยงตายนี้พวกเขาต้องฝึกอบรมยุทธวิธีการรบ อบรมเชิงสืบสวนและการรวบรวมหลักฐาน ฝึกปฐมพยาบาลสัตว์ป่า ตลอดจนฝึกกลยุทธ์การซุ่มโจมตีเพื่อต่อกรกับผู้บุกรุก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ สัตว์ป่าอันตราย หรือแม้แต่โรคมาลาเรียที่คร่าชีวิตชาวแอฟริกันไปนักต่อนัก
เงินเดือนและคุณภาพชีวิต
ด้วยเงินเดือนของทหารพรานเพียง $50 หรือ 1,600 บาทต่อเดือน อาจต้องแลกมากับชีวิตที่มีค่ามากกว่านั้น แม้ GARAMBA NATIONAL PARK จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO แต่คุณภาพชีวิตของเหล่าผู้พิทักษ์ป่าก็ไม่สู้ดีเท่าไร พวกเขายังไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดพอ ห้องน้ำที่เหมาะสม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตก็ยังขาดแคลนและแทบไม่มีเส้นทางให้ความเจริญเข้าถึงได้ในเร็ววัน
แต่เพื่อต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หรือการขนส่งอาวุธของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เหล่าวีรบุรุษแห่งแอฟริกายอมเสี่ยงตายเพื่ออนุรักษ์และคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรบ้านเกิดเอาไว้
โลกหมุนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด บรรดานักธุรกิจกระเป๋าหนักหันมาทุ่มทุนสร้างเทคโนโลยีสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตของสัตว์ป่ากำลังถูกลิดรอนเรื่อย ๆ มีหนทางใดที่มนุษย์เราจะอนุรักษ์สิ่งที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคหินให้คงอยู่ต่อไปได้บ้าง
โฆษณา