24 ก.พ. 2020 เวลา 16:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เล่าเรื่อง...ไฟไหม้ภูกระดึง
Sentinel-2, 21 ก.พ.63
สวัสดีครับทุกคนสำหรับคนที่เข้ามาอ่านโพสนี้ ซึ่งเป็นโพสปฐมฤกษ์สำหรับเพจนี้เลย และก็ยินดีด้วยนะครับที่ต่อไปนี้ทุกคนจะไม่พลาดกับเรื่องราวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและมีหลักฐานเด่นชัดในภาพถ่ายจากดาวเทียมซึ่งจะทำให้เราเข้าใจมันง่ายยิ่งขึ้น
สำหรับโพสแรกนี้ ต้นเหตุก็มาจากข่าวไฟป่าโหมกระหน่ำที่ภูกระดึงเมื่อกลางเดือนแห่งความรักที่ผ่านมา สื่อเกือบทุกช่องต่างพากันนำเสนอเพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่ไอ้ความขี้สงสัยผมดันไปสะดุดตรงคำของนักข่าวสำนักหนึ่งที่ว่า “...ไฟป่าได้กระโดดจากด้านล่างขึ้นสู่ยอดเขาที่เต็มไปด้วยป่าสน....” หืมม ไฟป่ากระโดดได้ด้วยเหรอ ว่าแล้วก็ค่อยๆเปิดหลักฐาน ดูเรื่องราวความเป็นมาของเหตุการณ์นี้ไปพร้อมกันครับ ไปดูกันว่าภาพดาวเทียมจะบอกอะไรเราบ้าง
นี่คือภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2 บริเวณอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถ่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 หรือ 5 วันหลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้ป่าในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 มาวันนี้ภูเขารูปร่างคล้ายหัวใจเมื่อมองจากมุมบน กลับมีรอยบาดแผลขนาดใหญ่สีดำ ผลจากการเผาไหม้ที่ไม่ยั้งคิด กินพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ หรือประมาณ 1,000 เท่าของสนามฟุตบอลขนาดมาตราฐาน ซึ่งยังไม่รวบพื้นที่เผาไม้ด้านล่างยอดเขา ถ้ารวมแแล้วพื้นที่เสียหายก็คงไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่
1
แต่ความสำเร็จในการควบคุมเพลิงทั้งหมดนี้ต้องยกย่องให้กับความอุตสาหะจากเหล่าเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่ช่วยกันเร่งสร้างแนวกันไฟและระดมกำลังดับไฟข้ามวันข้ามคืน จนไฟดับลงในที่สุด ซึ่งแนวกันไฟดังกล่าวก็ปรากฏเป็นแนวขอบเส้นตรงของพื้นที่ถูกเผาไหม้นั้นเอง (ขอบพื้นที่สีดำ)
1
Sentinel-2, 11 ก.พ.63
ย้อนมาก่อนเกิดเหตุ ซึ่งภาพด้านบนเป็นภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ถ่ายเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบแต่ก็ไม่ซะทีเดียว พักประเด็นนี้ไว้ก่อนเดียวเรากลับมา อันดับแรกเราต้องเข้าใจสัณฐานของภูเขาลูกนี้เสียก่อน บริเวณกลางภาพปรากฏรูปร่างหัวใจสีเขียวสดใสกว่าโดยรอบนั้นเพราะว่าบริเวณนี้มีความสูงประมาณ 1,200 เมตรเหนือระดับทะเลปานกลาง ซึ่งก็คือป่าสน ป่าที่ไม่ผลัดใบตลอดทั้งปี จากนั้นพื้นที่โดยรอบก็ค่อยๆลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ประเภทป่าไม้ก็แตกต่างกันไปตามระดับความสูง
ที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร ส่วนมากก็จะเป็นป่าสน ลดหลั่นลงมาก็เป็นป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง หรือบริเวณที่ปรากฏเป็นสีน้ำตาลบนเขียวอยู่รอบๆ ทั้งที่จริงแล้วบริเวณนี้ก็ยังคงมีต้นไม้อยู่ แต่ที่ไม่ปรากฏสีเขียวเหมือนยอดเขา เนื่องมาจากช่วงนี้เป็นฤดูแล้งต้นไม้ต่างพากันทิ้งใบเหลือแต่ลำต้นและใบไม้แห้งตามพื้น ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟป่านั้นเอง
ในบริเวณป่าเต็งรังนี้ ก็ปรากฏสองโทนสีสำคัญได้แก่ สีน้ำตาลอ่อนและน้ำตาลเข้มเป็นหย่อมๆ ให้ทุกคนสังเกตบริเวณสีน้ำตาลเข้มที่เป็นหย่อมๆไว้ เพราะว่านี่คือพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้จากไฟป่ามาแล้วก่อนหน้านี้จากหลายๆสาเหตุ ซึ่งจากสถิติการเกิดไฟป่าในประเทศไทย มันจะเกิดในป่าเต็งรังเป็นส่วนมาก เนื่องจากมีปัจจัยในเรื่องของเชื้อเพลงและมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย
1
Sentinel-2, 16 ก.พ.63
สองภาพด้านบนเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2 ถ่ายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นภาพเดียวกันแต่ใช้เทคนิคผสมสีเท็จ เพื่อต้องการจะเน้นบริเวณที่เกิดแนวไฟให้เห็นได้ชัดมากขึ้นดัง โดยในภาพบนปรากฏแนวไฟเป็นลักษณะเส้นสีแดงส้มทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ของภูเขา แต่ก็ไม่ชัดเท่ากับภาพล่างที่ปรากฏแนวไฟเป็นสีเหลือง ตัดกับกลุ่มต้นไม้ที่ปรากฏเป็นสีน้ำเงินได้อย่างชัดเจน
แนวไฟทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูกระดึงมีทิศทางการเผาจากด้านล่างขึ้นสู่บนที่สูง ประกอบกับกระแสลมแรง (ตามข่าว) ทำให้เปลวไฟทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเห็นขนาดที่แตกต่างอย่างชัดเจนในภาพ และไม่มีทีท่าว่าจะดับลงง่ายๆ
จากภาพนี้ก็เริ่มจะมองเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เพราะทั้งเชื้อเพลิงที่เป็นเศษใบไม้แห้ง ลมที่คอยเติมออกซิเจน และความร้อนจากไฟที่กำลังลุกโชน มันครับองค์ประกอบการเกิดไฟอย่างสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับภาพในข่าวที่ความสูงของไฟเรียกได้ว่าสูงมากเลยทีเดียว
ด้วยรูปร่างของไฟป่าและพื้นที่เสียหายทางตอนใต้ของภูกระดึงมีลักษณะคล้ายวงรี ผมก็ได้ไปเทียบกับทฤษฎีรูปร่างของไฟซึ่งอธิบายไว้ว่า “ไฟป่าที่เกิดในที่ลาดชันมักจะมีการกระจายของเชื้อเพลิงที่ไม่สม่ำเสมอ ประกอบกับเมื่อเกิดไฟป่าจะทำให้อากาศในบริเวณนั้นร้อนและลอยตัวขึ้นเหนือกองไฟ อากาศเย็นในบริเวณข้างเคียงจะไหลเข้ามาแทนที่อากาศร้อน เกิดเป็นระบบลมของไฟป่านั้นๆ ดังนั้น ไฟป่าในความเป็นจริงจะไม่มีรูปร่างเป็นวงกลม แต่มักจะเป็นรูปวงรี เนื่องจากอัตราการลุกลามของไฟในแต่ละทิศทางจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้เกิดจากอิทธิพลของลม หรืออิทธิพลของความลาดชันของพื้นที่ ซึ่งแล้วแต่กรณี โดยรูปร่างของไฟที่ไหม้ไปตามทิศทางของลม จะเป็นไปในทำนองเดียวกับไฟที่ไหม้ขึ้นไปตามลาดเขา”
Landsat-8, 19 ก.พ.63
สองภาพด้านบนเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 ถ่ายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เพียงสามวันหลังจากภาพก่อนหน้านี้ ด้วยความแรงของไฟที่เราเห็นในภาพก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดลูกไฟลุกลามจากด้านล่างขยายวงกว้างจนขึ้นมาถึงยอดเขา (หลังแป) ที่มีความสูงกว่า 1,200 เมตร ตามข่าวที่เราได้ยินกัน ซึ่งลูกไฟ หรือ Jump Fire or Spot Fire ก็คือ “ส่วนของไฟที่ไหม้นำหน้าตัวไฟหลัก โดยเกิดจากการที่สะเก็ดไฟจากตัวไฟหลักถูกลมพัดให้ปลิวไปตกหน้าแนวไฟหลักและเกิดลุกไหม้กลายเป็นไฟป่าขึ้นอีกหนึ่งไฟ” นี้หากรวมพื้นที่ที่ถูกเผาทั้งบนเขาและเชิงเขาคาดว่าน่าจะมากกว่าหมื่นไร่
แต่กระนั้น ไฟป่าบริเวณเชิงเขาทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังไม่ดับสนิทซะทีเดียว ดังเห็นเป็นจุดสีเหลืองในภาพล่าง
Sentinel-2, 21 ก.พ.63
สองภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ผ่านไปเพียงสองวันไฟบนเขาคงจะดับสนินแล้ว แต่ไฟบริเวณเชิงเขาค่อยเผาไหม้จากบนเขาไต่ระดับลงมาเรื่อยๆ ตามแนวไฟที่เห็น ขยายพื้นที่เผาไหม้ออกไปอีกมุ่งหน้าสู่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งก็คือพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน
จากหลักฐานพื้นที่เสียหายจากการเผาไหม้ และขนาดของแนวไฟในภาพถ่ายจากดาวเทียม พอสรุปได้ว่า ไฟกระโดดนั้นมีจริง แต่ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นแรงลมและเชื้อเพลิง ทีนี้ก็ไม่สงสัยเลยว่าบางข่าวที่บอกว่าไฟสามารถกระโดดข้ามแนวกันไฟก็คงจะเป็นเพราะปรากฏการณ์เดียวกัน
ทั้งนี้และต่อจากนี้ไปก็ขอให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจและยกนิ้วให้กับความอุตสาหะของเหล่าวีรบุรุษนักผจญเพลิงทุกๆๆๆคน ไม่ใช่แค่ที่ภูกระดึงแห่งนี้ แต่ยังรวมถึงทุกคนทั่วทั้งประเทศไทยที่ตอนนี้ไหม้กันหลายพื้นที่เหลือเกิน ส่วนตัวดูจากภาพดาวเทียมแล้วยิ่งชัดเจนมาก สุดจะบรรยาย
หน้าแล้งปีนี้ยังไม่จบ เราก็ต้องติดตามกันต่อไป
โฆษณา