25 ก.พ. 2020 เวลา 10:22 • ไลฟ์สไตล์
การวิ่ง การปั่น กับการใช้ชีวิต#6
น้าแอ๊ด คาราบาว กับการวิ่งจงกรมเพื่อรักษาชีวิตธรรมดา
เอ่ยชื่อ แอ๊ด คาราบาว คงไม่มีใครไม่รู้จักนะครับ น้าแอ๊ดเป็นศิลปินตำนานเพลงเพื่อชีวิต เป็นศิลปินแห่งชาติปี 2556 และเป็นเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงที่น้าแอ๊ดถือหุ้นอยู่กว่า 6,000 ล้านบาท
แต่น้อยคนจะรู้ว่าน้าแอ๊ดในวัย 60 ปี ตอนนี้ ลด ละ เลิก อบายมุขอย่างจริงจัง และหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งในแบบที่น้าแอ๊ดเรียกว่า "วิ่งจงกรม"
น้าแอ๊ด บอกว่า เรื่องราวนี้มันเกิดขึ้นแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยอ้างอิงคำสอนของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล และลูกศิษย์ท่านคือหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมทฺโช ที่น้าแอ๊ดนับถือคำสอนของท่านเป็นแนวทางหลักในการวิ่งจงกรม
โดยวิธีการวิ่งจงกรม คือการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานขั้นเบื้องต้น โดยการผสมผสานการวิ่งเข้ากับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ประโยชน์ที่จะได้รับคือได้ทั้งการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันเเละได้ทำวิปัสสนากรรมฐานไปด้วยในตัว
ขั้นตอนการวิ่งจงกรม
1.เมื่อแต่งตัวเรียบร้อยพร้อมวิ่งเเล้ว ก็ให้วอมส์ร่างกายในท่าที่คุณทำอยู่ปรกติ แต่เพิ่มการตามลมหายใจแบบอานาปานสติไปด้วย จนเสร็จเรียบร้อยก็ออกวิ่ง ด้วยมีสติตามลมหายใจไปตลอด วิ่งไปสักพักคุณจะรู้สึกว่าร่างกายเริ่มมีปฏิกริยาอึดอัดเพราะความเหนื่อยเริ่มเกิด ตอนนี้ลมหายใจคุณจะสับสน จากที่เคยหายใจเข้าออกสบายๆ กลายเป็นว่าอากาศไม่พอ ต้องการการปั๊มอากาศเข้าท้องมากขึ้น คุณจะรู้สึกว่าต้องหายใจถี่ขึ้น หนักขึ้น มันจะเป็นอย่างนี้อยู่พักใหญ่ แล้วการวิ่งกับการหายใจก็จะเริ่มสัมพันธ์เป็นจังหวะคงที่ มันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป เอาที่เราสบายที่สุด เมื่อมันคงที่เเล้วไปต่อ
2.เอาบทเรียนที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนเรา เรื่องวิปัสสนาในรูปแบบมาปฏิบัติในขณะวิ่ง เหมือนเรานั่งหลับตาทำสมาธินั่นเเหละ แต่เราเปลี่ยนเป็นลืมตาวิ่งแทน แต่สติเราอยู่กับการเจริญวิปัสสนา คือเมื่อเราทำอานาปานสติจนจิตตั้งมั่นได้เเล้ว เราก็มาเดินปัญญาโดยดูให้เห็นว่าตัวเรานั้นที่เเท้ไม่มี เป็นเพียงธาตุต่างๆที่ประกอบกันเป็นนามรูป หรือใจกาย ขั้นนี้เรียกว่า”แยกธาตุแยกขันธ์”ดูให้เห็นว่าใจก็ไม่ใช่ของเรา กายก็ไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวมันก็เจ็บเดี๋ยวมันก็คิด เเล้วมันก็ดับไป พอมันดับไปเราก็มีสติดึงมันกลับมาอยู่กับฐานหรือสมาธิที่เราตั้งมั่นไว้ตั้งแต่ต้น คืออานาปานสติคือที่การวิ่ง ตอนนี้เราจะเห็นเป็นตัวคนกำลังวิ่ง มีอารมณ์เกิดขึ้นที่ใจที่ขันธ์ตลอด จิตเป็นคนดู ตามดูกายดูใจที่มันแว้บไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อย่าห้ามมัน เทคนิคนี้ไม่เป็นสากล แต่เป็นของหลวงพ่อปราโมทย์สอน ให้มันเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นจะเห็นว่ามันเกิดเอง ทั้งที่กายที่ใจที่ขันธ์เราไปบังคับมันไม่ได้ เราแค่ตามรู้ตามดู เดี๋ยวมันจางลงเราก็กลับมาอยู่ที่ฐาน บทเรียนก็จะเกิดขึ้นเป็นบทๆไป เช่นเกิดที่กาย เจ็บเข่าเราก็รูว่าไอ้คนนี้มันเจ็บเข่าหนอ และมันก็เกิดขึ้นเองเพราะมันอาจจะเเก่เเล้ว หรือวิ่งเร็วเกินไป พอมันวิ่งช้าลงนิด เออดีขึ้น ไม่เจ็บเเล้ว เกิดขึ้นดับไปเราก็มองออกให้เห็นเป็นอาการของไตรลักษณ์คือ เกิดดับของมันเอง บีบคั้นเรา และไปบังคับมันไม่ได้ (อนิจจังทุกขังอนัตตา)
ที่ใจก็เหมือนกัน เช่นวิ่งๆไปเจอผู้หญิงสวย ใจทำงานเลย ขันธ์แปรปรวนเลย เกิดกิเลสขึ้นในใจแล้ว แหมอยากรู้จักจัง ทำไงดีหนอ…..นี่ก็เกิดกิเลสเป็นอกุศลเเล้ว ตามรู้ตามดูเป็นบทเรียนไปเรื่อยๆ วิธีของหลวงพ่อปราโมทย์ถูกต้องที่สุด จิตนั้นมันไม่ใช่แค่คิด มันเป็นสิ่งที่ต้องสอนมัน ต้องฝึกมันถึงจะเชี่ยวชาญ ประหนึ่งนักดนตรีฝึกเครื่องดนตรีจนชำนาญต้องลงไปทำ ไม่ใช่อ่านตำราเเล้วจะเล่นเก่งได้เลย นั่นมันได้แค่คิดฝันไปเท่านั้นครับ อธิบายเช่นนี้คงเห็นได้ชัดนะครับ จิตจึงต้องมีประสบการณ์ตามที่มันเป็นจริง (เป็นไตรลักษณ์) เมื่อเรารู้จักมันดีแล้ว หน้าที่ของเราต่อไปคือเปลี่ยนจิตที่เป็นอกุศลให้เป็นกุศล ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมตามที่ตถาคตสั่งสอน เราก็จะกลายเป็นคนใหม่ เป็นหน่อเนื้อพุทธะหรืออริยะบุคคลในอนาคต
น่าสนใจนะครับ เพื่อนๆลองเอาไปทำดูตอนวิ่งนะ แล้วมาแชร์กันว่าเป็นยังไง 😁
ขอบคุณข้อมูลจาก bizpromptinfo.com ลงไว้ ณ วันที่ 20 May 2019
โฆษณา