29 ก.พ. 2020 เวลา 12:18 • สุขภาพ
วัณโรคปอด ครั้งหนึ่งที่เราต่างกลัวเหมือน COVID -19
โรคที่ค่อย ๆ หายไปจากความตื่นตัว แต่อยู่กับผู้คนมาเสมอ
องค์การสหประชาชาติประกาศจะให้ปลอดจากวัณโรคภายในปี 2573 แต่ตอนนี้ คาดประมาณอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) ของโลกสูงถึง 10.4 ล้านคน (140 ต่อแสนประชากร) มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 1.7 ล้านคน
1
ในระดับโลก วัณโรคยังเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในปี2557 สูงกว่าโรคเอดส์
และประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงที่สุดอยู่นะคะ
เชื้อวัณโรคมักจะชอบแพร่ทางอากาศ ดังนั้นจึงมักกระจายตัวได้ดีในกลุ่นคนจำนวนมาก ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะที่ที่การถ่ายเทอากาศไม่ดี
การแพร่เชื้อกระจายได้กว้าง
สมมติ ไอ 1 ครั้ง มีเชื้อประมาณ 3000 droplet nuclei กระจายไปทั่ว
การพูดต่อเนื่องนานประมาณ 5 นาที (น้ำลายแตกฟองเลย) และการจามมีเชื้อกระจายมากกว่า 3000 ดรอปเล็ตแน่นอนค่ะ
1
น้ำลายพุ่งสะขนาดนั้นเนาะ
พุ่งแรงยิ่งกว่าจรวจไปดวงจันทร์
แต่ว่าการรับมาแค่ 1 droplet ก็สามารถติดเชื้อวัณโรคได้แล้ว
และ... เชื้อลอยในอากาศได้ประมาณ 120 นาที
เหตุการณ์สมมติของชาวออฟฟิศ
ผู้มีเชื้อวัณโรคคนหนึ่งเดินเข้าห้องประชุม และจามไม่ปิดจมูกในห้องนั้น
จากนั้นชาวออฟฟิศที่เหลือเดินตามเข้าไปห้องประชุม พลางดูดกาแฟเย็น พลางหัวเราะ สูดเอาเชื้อเข้าไป เราอาจติดวัณโรคมาได้ค่ะ อย่าลืมว่าวัณโรคชอบห้องปิดที่ไม่ถ่ายเท
ดังนั้นไม่จำเป็นเลยว่าต้องเกิดแค่กับคนในชุมชนแออัดเท่านั้น แต่ทั้งนี้ชาวเราทั่วไปก็ตรวจเจอได้บ่อยเช่นกัน
Macrophage กำลังกลืนเชื้อวัณโรคเข้าไป
โดยกระบวนการนั้นเกิดขึ้นหลังจากเรารับเอาเชื้อเข้าไป Macrophage หนึ่งในทหารเม็ดเลือดขาวที่ไว้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมไปจับกับเชื้อ และกินเชื้อเข้าไป บางครั้งทหารของเราก็เอาไม่อยู่ค่ะ เชื้อวัณโรคปอด (pulmonary TB) ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ เนื้อปอดเละ ภาพเอกซเรย์เห็นเป็นจุดที่ยอดปอดบน ๆ บางรายที่รุนแรงและเป็นมานานทำให้เกิดโพรงอากาศในปอด
โพรงอากาศในปอด ลูกศรชี้ https://en.wikipedia.org/wiki/Tuberculosis
หรือถ้าโชคร้ายหน่อย
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เลือดทั่วอาณาจักรร่างกายของเราจะมาผ่านการฟอกให้สะอาดและรับออกซิเจนที่ปอดค่ะ ดังนั้นหากโชคไม่เข้าข้าง เชื้อวัณโรคจะพัดพาไปกับกระแสเลือด แล้วกระเด็นไปเกาะกับอวัยวะอื่นได้ (Extrapulmonary TB ) เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคกระดูกสันหลัง วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคมดลูก วัณโรคหลังโพรงจมูก เป็นต้นค่ะ
เคสคุณน้ำตาล เดอะสตาร์
ทั้งนี้ขึ้นกับภูมิคุ้มกันของตัวคนไข้เองด้วย หากภูมิดีอาจจะไม่มีอาการใดเกิดขึ้นเลย และอยู่ในร่างกายนานเป็นสิบปีได้ (Latent infection) โดยไม่ก่ออันตราย แต่หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะเกิดอาการ หรือแม้กระทั่งกระจายไปยังอวัยวะอื่นต่อไปอีกอย่างที่เล่าไปแล้วค่ะ
ดังนั้น จนถึงวันนี้เราอาจจะได้รับเชื้อวัณโรคกันมาแล้วก็ได้ (จริง ๆ นะ) เพียงแต่ในวันนี้ร่างกายเรายังคงแข็งแรงดีเท่าที่จะสามารถระงับการกระจายของเชื้อได้อยู่ค่ะ
กลุ่มคนมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการเมื่อได้รับเชื้อ หรือกลุ่มภูมิต้านทานน้อยคือ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และโดยอย่างยิ่งหากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาศัยอยู่กับคนที่ป่วยวัณโรคอยู่ ถือว่ามีเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นแล้วแพร่ทั่วร่างกาย และพบว่าป่วยวัณโรคเยื่อหุ้มสมองได้สูงค่ะ
อาการของวัณโรคปอด หลัก ๆ 5 อย่างนะคะ เจอบ่อยแต่อาจไม่ครบทุกข้อก็ได้
ไอเรื้อรังนาน
เสมหะมีเลือดปน
ไข้ต่ำ ๆ
เหงื่ออกมากตอนกลางคืน (บางคนมาบอกหมอว่าเหงื่อชุ่มเหมือนนอนอาบน้ำเลย)
น้ำหนักลดฮวบฮาบ
https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/LastUpdated/Tuberculosis
หนึ่งในสาเหตุที่วัณโรคยังขจัดไม่หมดไปสักที เพราะ...
ผู้ป่วยที่มีเชื้อไม่ทราบไม่ได้รับการวินิจฉัยเร็วพอ เพราะอาการไอเรื้อรังที่บางครั้ง ไม่ได้ไอแบบเสมหะปนเลือดทุกคน ดังนั้นหากไอนานเกิน 2 สัปดาห์ แนะนำต้องหาคุณหมอปรึกษาแล้วนะคะ
ผู้ป่วยรับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นวัณโรค แต่ไม่ทานยาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากแพร่ให้คนอื่นได้แล้ว ยังทำให้เชื้อได้ใจอีกนะ เดี๋ยวฉันก็ได้ยา เดี๋ยวก็ไม่ได้ยา เชื้อมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมสูง มันเริ่มรู้ว่าหากได้ยาตัวนี้แล้วตายจะทำอย่างไรให้รอด ผลสุดท้ายเกิดเชื้อดื้อยาได้ และจะไม่มียาตัวใดมาฆ่าเชื้อวัณโรคดื้อยาได้อีก .....
ความรู้ในเรื่องการป้องกัน-รักษา ยังไม่เข้าถึงกับทุกคนในสังคมทุกระดับชั้น ทำให้ควบคุมโรคได้ยาก เพราะเราไม่ได้ร่วมมือร่วมใจกันกำจัดเชื้อแบบถูกวิธี
แต่อย่ากลัวไปค่ะ หากเราได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าป่วยวัณโรคปอด และทานยาต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์แรกครบ ก็ระงับการแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แต่ทั้งนี้การทานยาวัณโรคต้องทานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนนะคะ ต้องอดทนและมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตัวเองสูงค่ะ
อย่างไรถึงจะห่างจากวัณโรคได้เล่าหมอ ~
ตอบว่า
สาเหตุอยู่ตรงไหน เราไปอุดที่ตรงนั้นค่ะ
เรารู้ว่า วัณโรคชอบพื้นที่แออัด ดังนั้น
พยายามระบายอากาศ ในพื้นที่โล่งโปร่ง
วัณโรคไม่รอดในแดด UV จะช่วยฆ่าเชื้อวัณโรคได้ในไม่กี่นาที
ไม่ถ่มน้ำลาย บ้วนน้ำลายเสมหะในพื้นที่สาธารณะ
ปิดปากเวลาไอจาม
เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาไอจามให้ไอจามเข้าข้อศอกจะคุมการกระจายดีกว่าการปิดปากจามค่ะ
ล้างมือบ่อย ๆ
เลี่ยงการไปในพื้นที่แออัด
ถ้าเป็นแล้ว ต้องทานยาให้ครบและตรงเวลาเป๊ะ ๆ
ออกกำลังกายจะเสริมภูมิคุ้มกันได้แข็งแรงไปอีก ทำให้แบตเตอรี่ร่างกายอึดขึ้น
นอนหลับพักผ่อนให้ดี การนอนหลับที่ดี ทำให้ร่างกายชาร์จพลังงานเหมือนชาร์จแบต
การออกกำลังกายมากแต่นอนได้น้อยเป็นเหมือนการสูบพลังจากแบตเตอรี่ แบตเตอรี่จะอึดได้นานแค่ไหนกันถ้าไม่ได้ชาร์จเลย
วิธีข้างต้นสามารถใช้ได้ทั่วไป ร่วมถึงเรื่อง ไวรัส COVID-19 ด้วยนะคะ
เวลาจามปิดพื้นที่การกระจายแบบนี้นะคะ จามเข้าข้อศอกค่ะ
หมอหุนหวยคิดว่า ตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 เป็น pandemics คือขยายวงกว้างแทบทุกทวีปแล้วและประเทศไทยเราคงเข้าสู่ระยะ 3 ในไม่ช้า แต่หวังว่าคนไทยทุกคนน่าจะได้รับทราบวิธีการป้องกันและเตรียมรับมือที่ถูกต้องก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่ระยะ 3 เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนไทยได้รู้จักหน้าที่และการรับผิดชอบต่อสังคมได้ค่ะ
1
เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่วัณโรคปอดก็เคยระบาดในหลายประเทศ แต่ก็ถูกจำกัดวงลงมาได้ เพราะเราได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์กับโรค จนทุกคนรู้ว่าวัณโรคปอดนั้นแพร่ทางอากาศและเป็นแล้วตายได้ ขอแค่รู้ใจความหลัก ๆ ก็จะไม่ตกใจ และทำให้เราปฏิบัติตัวได้ถูกค่ะ วันนี้เรากลัว COVID-19 เพราะเราไม่รู้ แต่อนาคตเมื่อเรารู้จักมันดีขึ้น เราจะกลัวมันน้อยลง 😊
ย้ำคำเดิมค่ะ
โรคมีอยู่ทั่วทุกที่ แต่เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้มีความสุข <3<3
โฆษณา