Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คนเล่าประวัติศาสตร์ (komkid)
•
ติดตาม
27 ก.พ. 2020 เวลา 05:15 • ประวัติศาสตร์
หายนะที่ถู่มู่เป่า ความอัปยศแห่งต้าหมิง
นับแต่จักรพรรดิหงอู่(หมิงไทจู่ พระนามเดิม จูหยวนจาง)โค่นล้มราชวงศ์หยวนขับไล่ชาวมองโกลออกนอกด่าน ชนเผ่ามองโกลได้ไปตั้งมั่นยังถิ่นฐานเดิมในทุ่งหญ้าสเตปป์ บรรดาเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์หยวนได้รวมตัวกันภายใต้ราชวงศ์หยวนเหนือ หรือ เป่ยหยวน แต่ก็มีชาวมองโกลบางเผ่าแยกไปตั้งอาณาเขตของตน
1
ทหารม้ามองโกล ยุคราชวงศ์เป่ยหยวน
เมื่อ ถึงปี ค.ศ.1388 ราชสำนักเป่ยหยวนตกอยู่ใต้อิทธิพลชาวมองโกลเผ่าวาล่า ต่อมาใน ปี ค.ศ.1438 อีเซน(Esen:เหย่เซียน) หัวหน้าเผ่าวาล่า ขึ้นดำรงตำแหน่งมหาราชครูต่อจากบิดา ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของจอมข่านไท่ซุ่นหรือโตทัว บูเคอร์
อีเซนทะเยอะทะยาน คิดฟื้นฟูจักรวรรดิมองโกล จึงกล่อมให้ไท่ซุ่นข่านทำสงครามขยายอาณาเขตและสามารถผนวกชนเผ่ามองโกลกลุ่มอื่นๆที่แยกตัวไป ได้สำเร็จจนมีเขตแดนติดกับอาณาจักรหมิง
ปี ค.ศ.1449 อีเซนบีบข่านไท่ซุ่นให้ส่งทูตไปต้าหมิงเพื่อเรียกร้องบรรณาการ ซึ่งทันทีที่ถูกปฏิเสธ อีเซนก็ระดมทหารบุกประชิดชายแดน
1
ราชครูเหย่เซียน
จักรพรรดิเจิ้งถง หรือ หมิงอิงจง(พระนาม หมิงอิงจง เป็นพระสมัญญานามที่ได้ หลังสวรรคต) จักรพรรดิหนุ่มวัย 21ชันษา แห่งราชวงศ์หมิง ทรงวิตกเรื่องการสงครามเป็นอันมาก เนื่องจากกองทัพชายแดน ถูกทัพเป่ยหยวนตีแตกพ่าย พระองค์จึงทรงเรียกตัวราชครูหวางเจิ้นมาเข้าพบ เพื่อหารือ
หวางเจิ้นเป็นชาวเมืองเว่ยโจว ถูกส่งเข้าวังเป็นขันทีตั้งแต่เด็ก เขาเป็นคนฉลาด ไหวพริบดี ทั้งรู้หนังสือ จักรพรรดิหมิงเซวียนจงจึงให้รับใช้องค์รัชทายาทจูฉีเจิ้น จนเมื่อหมิงเซวียนจงสวรรคต รัชทายาทจูฉีเจิ้นขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิงอิงจงด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา หวางเจิ้นก็เป็นราชครูและเป็นที่ไว้วางพระทัยของหมิงอิงจงเป็นอย่างมาก
จักรพรรดิเจิ้งถง
ทว่าหวางเจิ้นนั้น แท้จริงเป็นคนโฉดชั่ว เบื้องหน้าทำเป็นจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ แต่ลับหลังตั้งกลุ่มอำนาจของตน ฉ้อราษฏร์บังหลวง บิดเบือนกฏหมายใช้อิทธิพลข่มเหงขุนนางและราษฏร กำจัดผู้ที่ไม่เห็นด้วย ยักยอกงบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ จนราชการแผ่นดินวิปริตแปรปรวน
หวางเจิ้นได้กราบทูลให้หมิงอิงจงเสด็จนำทัพไปปราบข้าศึก โดยอ้างว่า “พวกชนป่าเถื่อนโง่เขลานี้ หากโอรสสวรรค์ทรงนำทัพใหญ่บุกไปถึงแดนของพวกมันด้วยพระองค์เองแล้วไซร้ พวกมันย่อมหวาดกลัวจนหนีไปหมดสิ้นเป็นแน่”
หมิงอิงจงเห็นดีด้วยกับข้อเสนอของหวางเจิ้น แม้เหล่าขุนนางผู้ใหญ่จะคัดค้านก็มิฟัง พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ระดมไพร่พล 240,000 นาย(เอกสารเดิมระบุว่า ห้าแสน) และยกทัพออกจากนครเป่ยจิงทันที ทว่ากองทัพที่พระองค์ทรงนำไปนั้น ถูกเรียกรวมพลในเวลาจำกัด ไพร่พลอาวุธยังไม่ได้เตรียมพร้อมดี ทำให้การสั่งการสับสน อีกทั้งเมื่อเดินทัพออกนอกด่านยงกวนแล้ว เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก ไพร่พลไม่ได้เตรียมเสื้อคลุมป้องกันมา จึงพากันหนาวสั่นด้วยน้ำฝนและล้มป่วยลงเป็นอันมาก
บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จ ต่างรู้สึกถึงอันตรายจากการออกศึกโดยปราศจากความพร้อมเช่นนี้ จึงพากันกราบทูลขอร้องให้จักรพรรดิเสด็จกลับ ทว่าหวางเจิ้นกลับด่าว่าขุนนางเหล่านั้นว่า ขี้ขลาดและสั่งลงโทษให้ทุกคนคุกเข่าตลอดทั้งคืน
เมื่ออีเซนทราบว่าทัพหมิงออกนอกด่านมาโจมตีพวกตน จึงใช้ยุทธิวิธีล่อให้ข้าศึกไล่ตามโดยแสร้งถอยทัพเพื่อรอโอกาสทำลายฝ่ายตรงข้าม ขณะที่หมิงอิงจงไม่มีความรู้เรื่องการสงคราม กลับเชื่อแต่คำพูดหวางเจิ้นคนโฉด พระองค์จึงทรงเร่งเคลื่อนทัพไล่ตามข้าศึกจนเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลน ไพร่พลป่วยเจ็บล้มตาย เกิดความปั่นป่วนขึ้นในกองทัพ
ข่านไท่ซุ่น
หลังจากที่ได้ทราบความเป็นไปของข้าศึกแล้ว อีเซนก็จัดทหารม้าหนึ่งหมื่นซุ่มรอไว้บนเขาและเข้าล้อมตีทัพหน้าของฝ่ายต้าหมิงที่ไล่ตามทัพมองโกลเข้ามาในช่องเขา ก่อนกวาดล้างทหารหมิงได้ทั้งทัพ
ข่าวความพ่ายแพ้ยับเยินของทัพหน้าทำให้ หมิงอิงจงทรงตระหนกยิ่ง ข้างขันทีหวางเจิ้นเองก็ตกใจกลัวจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นเมื่อคนสนิทของเขาแนะให้รีบถอยทัพ หวางเจิ้นจึงรีบกราบทูลจักรพรรดิตามนั้น หมิงอิงจงจึงทรงมีรับสั่งให้ถอยทัพกลับไปทางเว่ยโจว
แต่เว่ยโจวเป็นบ้านเกิดของหวางเจิ้น ทั้งเป็นเมืองที่เขาสะสมอิทธิพล ทรัพย์สินไว้เป็นอันมาก หวางเจิ้นเกรงว่า หากกองทัพใหญ่ถอยผ่านเว่ยโจว เรือกสวนไร่นาจำนวนมากมายของเขาจะได้รับความเสียหาย จึงกราบทูลให้จักรพรรดิเปลี่ยนเส้นทางถอย โดยย้อนกลับขึ้นไปทางทิศเหนือแทน
การเปลี่ยนเส้นทางทำให้ไพร่พลต้าหมิงต่างอิดโรย ประกอบกับอากาศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หนำซ้ำเสบียงอาหารก็แทบไม่มีเหลือ ทหารจึงล้มตายลงเป็นอันมาก ซากศพเกลื่อนกลาดตลอดเส้นทางที่ถอยทัพ ขณะนั้น เยเซได้คัดเลือกทหารชำนาญศึก 20,000 นายข้ามกำแพงใหญ่ไล่ตามทัพหมิง และตามทันที่เซวียนฝู่ หวางเจิ้นสั่งแม่ทัพจูหย่งนำทหารม้า 30,000 นาย ออกต้านข้าศึก ทว่ากลับพ่ายแพ้ยับเยิน จูหย่งตายในที่รบ ทหาร 30,000 คนไม่มีเหลือรอดแม้แต่คนเดียว
ทัพเป่ยหยวนซุ่มรอจู่โจมทัพหมิง
ในเวลานั้นเอง กองทัพใหญ่ของต้าหมิงได้ถอยมาถึงถู่มู่เป่า หรือ (ป้อม ถู่มู่) ทว่าหวางเจิ้นเป็นห่วงทรัพย์สินที่ตนรีดไถจากหัวเมืองรายทางรวมกว่า 1,000 คันรถ ที่ยังตามมาไม่ครบ จึงสั่งให้กองทัพหยุดรอที่นั่น
ถู่มู่เป่าเป็นที่สูง ไม่มีน้ำ ส่วนแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดซึ่งอยู่ห่างไป 8 กิโลเมตรก็ถูกทัพหว่าล่ายึดเอาไว้ พวกทหารพยายามขุดดินลงไปลึกกว่า 20 ฟุต ก็ยังหาน้ำไม่ได้ ทำให้มีไพร่พลล้มตายด้วยขาดน้ำเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันทัพม้าของเยเซก็ตามมาถึงและเข้าโจมตีกองทัพหมิงอย่างดุเดือด บรรดาแม่ทัพนายกองนำไพร่พลเข้าต้านทานสุดชีวิต จนบาดเจ็บล้มตายไปนับไม่ถ้วน
1
ทัพหมิงถูกทำลายที่ป่อมถู่มู่
หลังปะทะกันได้ไม่กี่วัน อีเซนก็ส่งคนมาเจรจา ทั้งจักรพรรดิหมิงอิงจงและหวางเจิ้นดีใจมาก รีบตกลงเจรจาโดยยอมรับข้อเสนอของฝ่ายเป่ยหยวนทุกประการ หลังเจรจาเรียบร้อย หวางเจิ้นก็ให้ย้ายค่ายไปยังแหล่งน้ำ ด้วยความกระหายน้ำ ทำให้บรรดาทหารต่างเร่งรีบไปจนไม่เป็นขบวน
ทว่าการเจรจานั้น แท้จริงเป็นกลลวง ซึ่งพออีเซนทราบว่าทัพหมิงเร่งรีบไปแหล่งน้ำโดยไม่ระแวดระวัง เขาก็นำทัพม้าสองหมื่นเข้าโจมตีทันที
ทัพมองโกลเข้าบดขยี้ทหารหมิงที่กำลังอ่อนล้า ไม่ต่างอะไรกับหมาป่าไล่ขย้ำฝูงแกะ ไพร่พลล้มตายเกลื่อน เลือดไหลนองทั่วสมรภูมิ กองทัพหมิงแตกพ่ายยับเยิน ทหารล้มตายกว่ารัอยละเจ็ดสิบ หมิงอิงจงถูกทหารมองโกลจับเป็นเชลย ส่วนหวางเจิ้นถูกพานจง แม่ทัพรักษาพระองค์ใช้ลูกตุ้มเหวี่ยงใส่ศีรษะ จนกระโหลกแตกตาย มันสมองสาดกระจาย เนื่องจากแค้นใจที่หวางเจิ้นนำความพินาศมาสู่กองทัพ ทว่าพานจงและเหล่าแม่ทัพรวมทั้งขุนนางอีก 50 คนที่ตามเสด็จก็ถูกทหารหว่าล่ารุมสังหารจนหมด
ศึกครั้งนี้นำความอัปยศมาสู่ราชวงศ์หมิง เนื่องจากการนำทัพที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้กองทัพมหึมาของต้าหมิงถูกทำลายล้าง ส่วนองค์จักรพรรดิต้องตกเป็นเชลยของข้าศึก ในประวัติศาสตร์จีนเรียก เหตุการณ์ครั้งนี้ว่า กรณี ถู่มู่เป่า
1
หลังชนะศึก ข่านอีเซนได้รวบรวมกำลัง 40,000 นายเข้าตีนครเป่ยจิง ในยามนั้นเนื่องจากสถานการณ์คับขัน อวี๋เชียน เสนาบดีกลาโหมพร้อมกับเหล่าขุนนางต่างเล็งเห็นว่าบ้านเมืองไม่ควรขาดประมุข จึงไปเข้าเฝ้ากราบทูลพระพันปีให้ยก จูฉวีอี้ พระอนุชาของหมิงอิงจงขึ้นเป็นจักรพรรดิเพื่อรับศึก
1
จักรพรรดิหมิงอิงจง ตกเป็นเชลยมองโกล
จูฉวีอี้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ จากนั้นก็ทรงแต่งตั้งให้อวี๋เชียนเป็นแม่ทัพใหญ่รับศึกมองโกล ซึ่งอวี๋เชียนก็ได้ระดมทหารและชาวเมืองร่วมสองแสนเข้าต่อสู้ป้องกันนครเป่ยจิงอย่างเข้มแข็งจนทัพมองโกลไม่อาจตีเมืองได้ ทั้งยังต้องสูญเสียไพร่พลมากมายจนต้องล่าถอยกลับไป
อีเซนเรียกเงินค่าไถ่หมิงอิงจงเป็นจำนวนมาก ทว่าหมิงจิ่งตี้ทรงปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม หมิงอิงจงก็ได้รับการปฏิบัติด้วยดี ทั้งยังได้เป็นมิตรกับข่านไท่ซุ่นและราชครูอีเซนด้วย และในปีรุ่งขึ้น คือ ค.ศ.1450 อีเซนก็ปล่อยหมิงอิงจงกลับมา ซึ่งหลังจากกลับมาแล้ว พระองค์ได้ถูกกักบริเวณตามพระบัญชาของหมิงจิ่งตี้ จนถึงปี ค.ศ.1457 หมิงจิ่งตี้ประชวรหนัก หมิงอิงจงจึงถือโอกาสยึดอำนาจและกักบริเวณหมิงจิ่งตี้ ซึ่งไม่นานก็สิ้นพระชนม์ ส่วนอวี๋เชียนที่เคยนำทัพปกป้องนครเป่ยจิงนั้น หมิงอิงจงพิโรธที่เขาสนับสนุนหมิงจิ่งตี้ จึงให้นำตัวอวี๋เชียนไปประหาร ทำให้ประชาชนทั้งแผ่นดินต่างสลดใจกับชะตากรรมของขุนนางผู้ภักดีต่อบ้านเมือง
1
หมิงอิงจงขึ้นครองราชย์รอบสอง ในปี ค.ศ.1457 ใช้พระนาม จักรพรรดิเทียนซุ่น และสวรรคตในปี ค.ศ.1465
ทางด้านอีเซน หลังปล่อยหมิงอิงจงกลับไป ก็ได้วางแผนขึ้นเป็นใหญ่ โดยในปี ค.ศ.1454 อีเซนได้ปลงพระชนม์ข่านไท่ซุ่นและแต่งตั้งอนุชาของไท่ซุ่นขึ้นแทน แต่ในปีต่อมา อีเซนก็สังหารจอมข่านคนใหม่ และขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแห่งมองโกลในปี ค.ศ.1455 ทว่าเพียงปีเดียว ก็เกิดกบฏจากกลุ่มราชสกุลเดิม อีเซนถูกลอบสังหารและอิทธิพลของชนเผ่าวาล่าในราชสำนักเป่ยหยวนก็จบสิ้นลง
2
8 บันทึก
38
2
4
8
38
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย