27 ก.พ. 2020 เวลา 13:48 • บันเทิง
"Everybody Need A Friend" จากดนตรีคลาสสิกสู่เพลงร็อคละเมียดโดย Wishbone Ash
นอกจากเพลง "A Whiter Shade of Pale" ของ Procol Harum ที่เพิ่งเล่าถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว ในยุค 70s ก็ยังมีเพลงร็อคอีกเพลงหนึ่งที่ผู้แต่งได้บอกเล่าว่า เขานำทำนองจากบางส่วนของบทเพลงคลาสสิคมาใช้ด้วยเช่นเดียวกัน
"Everybody Needs a Friend" เพลงร็อคนุ่มนวล จังหวะเนิบช้า เนื้อหาดี โดดเด่นด้วยเสียงโซโล่กีต้าร์คู่อมตะอันแสนไพเราะและยาวนาน ถูกอกถูกใจคนรักเสียงกีต้าร์ยิ่ง ผลงานเพลงในปี 1973 จากอัลบั้ม "Wishbone Four" ของวงฮาร์ดร็อคจากเกาะอังกฤษในนาม Wishbone Ash
เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา และเชื่อว่ายังคงอยู่ในใจคนไทยอีกมากมายหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ามันจะไม่เคยฮิตติดอันดับใด ๆ บนชาร์ตทั้งที่อังกฤษและอเมริกาเลยในช่วงเวลานั้น
Martin Turner นักร้องนำและมือเบสของวง ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลงนี้ เคยเล่าให้บรรดาแฟนเพลงฟังว่า เขาได้ทำนองเพลงนี้มาจากมูฟเม้นท์ที่สองของ "Piano Concerto in G Major" ผลงานในช่วงปี 1929-1931 ของนักประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศสชื่อ Maurice Ravel
น่าจะเป็นผลจากประสบการณ์ทางดนตรีในวัยเยาว์ของ Martin เอง เขาเคยเป็นสมาชิกของวงนักร้องประสานเสียง หรือที่เรียกกันว่าวง Choir จึงมีโอกาสได้ซึมซับความงดงามของดนตรีเหล่านั้นเอาไว้ และต่อมาก็ได้พัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นผลงานเพลงอมตะของวง Wishbone Ash ในที่สุด
เพลง "Everybody Needs a Friend" เป็นซอฟต์ร็อคที่มีส่วนผสมของดนตรีโฟล์ครวมอยู่ด้วย เสียงกีต้าร์เป็นองค์ประกอบที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเพลงนี้ ท่อนโซโล่กีต้าร์สวย ๆ ยาว ๆ ถูกเติมแต่งลงไปในบทเพลงในปริมาณที่มากกว่าท่อนคำร้องเสียด้วยซ้ำ
ขอบคุณภาพ "Maurice Ravel ในปี 1914" จาก: Commons.wikimedia.org
ทำให้เพลงนี้มีความยาวในระดับที่ไม่ธรรมดาถึง 8 นาที 24 วินาที ซึ่งจัดว่ายาวนานมากสำหรับเพลงร็อคในยุคนั้น แต่เมื่อได้ฟังมัน เรากลับพบว่าเวลากว่า 8 นาทีนั้นหมดลงไปอย่างรวดเร็ว และไม่ลังเลใจที่จะฟังมันซ้ำอีกครั้ง
Andy Powell และ Ted Turner สองมือกีต้าร์ของวงนั้น ได้รับการยกย่องให้อยู่ในกลุ่มของ "20 มือกีต้าร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล" ซึ่งจัดโดยนิตยสารดนตรีทรงอิทธิพลอย่าง Rolling Stone พวกเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินเพลงรุ่นต่อมาอย่าง Steve Harris แห่งวงเฮฟวี่เมทัล Iron Maiden, Thin Lizzy และวงดนตรีอื่น ๆ ที่มีมือกีต้าร์คู่อีกมากมายหลายวงด้วย
จุดเด่นอีกอย่างของเพลงนี้ที่ทำให้มันฟังดูแตกต่างจากเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มเดียวกันอย่างสิ้นเชิงก็คือ เสียงของเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด เราจะได้ยินทั้งเสียงเปียโนและเสียงสตริง เป็นเสียงสนับสนุนที่ช่วยให้เพลงนี้ฟังดูอ่อนโยน และให้บรรยากาศที่ล่องลอยเบาสบายไปด้วยพร้อม ๆ กัน
นอกจากทั้งสมาชิกทั้งสามคนที่เอ่ยถึงไปข้างต้นแล้ว Wishbone Ash ยังมี Steve Upton มือกลองฝีมือไม่ธรรมดาอีกหนึ่งคน ทั้งสี่คนนี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง และผมถือว่าเป็นสมาชิกในยุครุ่งเรืองที่สุดของวงด้วย น่าเสียดายที่หลังจากการทัวร์สนับสนุนอัลบั้มชุดนี้ในปี 1974 Ted Turner ก็ได้ออกจากวงไป และตามมาด้วยการออกจากวงในปี 1980 ของ Martin Turner คนเขียนคำร้องหลักของวง
ขอบคุณภาพ "Wishbone Ash บนเวที ในปี 2015" จาก: Carlos Delgado | Commons.wikimedia.org ภายใต้ CC BY-SA 4.0
มีสมาชิกหน้าใหม่หมุนเวียนเข้าออกวงตลอดช่วงเวลากว่า 40 ปีมานี้ มีเพียง Andy Powell เพียงคนเดียวเท่านั้นที่อยู่กับวงตั้งแต่ก่อตั้งวงมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แนวทางดนตรีของวงก็มีการเปลี่ยนแปลงตามสมาชิกที่เปลี่ยนไป และตามความนิยมของดนตรีในแต่ละยุคสมัยด้วย แต่ก็ไม่มีผลงานเพลงยุคใด ได้เป็นที่จดจำของผู้คนได้มากเท่ากับงานเพลงในยุค 70s ของวงอีกแล้ว
สำหรับตัวผมเอง ท่อนโซโล่กีต้าร์ในช่วงท้ายของเพลง "Everybody Needs a Friend" ยังคงเป็นหนึ่งในท่อนบรรเลงดนตรีที่ผมโปรดปรานที่สุดจากบรรดาทุก ๆ บทเพลงที่เคยได้ยินได้ฟังมาในชีวิต
และเพลงนี้ยังเป็นตัวอย่างสำคัญของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมทางดนตรี ด้วยการหลอมรวมดนตรีจากยุคสมัยหนึ่ง เข้ากับแนวดนตรีที่แตกต่างกันในอีกยุคสมัยหนึ่ง แล้วพากันเดินทางข้ามกาลเวลามาจนผู้คนในยุคสมัยต่อมา ได้มีโอกาสเสพ ได้ชื่นชม และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชีวิตพวกเขาเหล่านั้นได้ดำเนินไปในวิถีแห่งสุขต่อไป...ช่างดีงามจริง ๆ
อ้างอิง:
คุณอาจจะอยากอ่านเรื่อง { "A Whiter Shade of Pale" นิยามคำว่าอมตะจาก Procol Harum } นี้ด้วย โปรดคลิกที่ลิงค์ด้านล่าง
โฆษณา