27 ก.พ. 2020 เวลา 14:36 • ไลฟ์สไตล์
"ความรัก" กับ "ธรรมะ" เป็นเรื่องที่ควรคู่กัน เป็นสิ่งที่คู่รักควรหยิบยื่นให้กัน เพราะ ชีวิตคู่จะไปกันได้ดี ก็ต้องอาศัยข้อธรรมเป็นปัจจัยหลักนี่แหละ ฉะนั้นคำว่า รักใครให้ธรรมะ จึงเป็นคำที่คู่รักทุกคู่ ควรคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อความราบรื่นในชีวิตคู่ตลอดไปนั่นเอง... ว่าแต่คู่รักควรหยิบยื่นหลักธรรมข้อใดให้แก่กันบ้าง?
รักใครให้ธรรมะ ข้อธรรมสำหรับคนครองคู่
1. ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์
ก่อนอื่นเลย ต้องเข้าใจคำว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" เสียก่อน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า...
"ปิยโต ชายเต โสโก" - ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีแต่ความเศร้าโศก
"ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข" - ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง ย่อมเป็นทุกข์
เมื่อเข้าใจโลกไปตามความจริงดังนี้แล้ว จะทำให้เราไม่ยึดมั่น ถือมั่นกับความรักจนเกินไป เมื่อต้องพลัดพราก ต้องลาจาก หรือต้องเลิกกันไป ก็จะได้เข้าใจความเป็นธรรมดาของความรัก รู้จักปล่อยวาง ทำให้ไม่เสียสติ ไม่เครียดจนเกินไป และไม่เป็นโรคซึมเศร้า เหมือนที่ออกข่าวอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
2. ความรัก ต้องมี พรหมวิหาร 4
พรหมวิหาร 4 ควรมีอยู่ประจำใจของคู่รักทุกคน เพราะ พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ความรักราบรื่น สดใส ไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน และรู้จักให้อภัยกันและกัน
โดยพรหมวิหาร 4 ประกอบไปด้วย...
เมตตา - แปลว่า ความรัก หมายถึงความรักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี โดยให้เราระลึกอยู่เสมอว่า เราจะจะไม่สร้างความสะเทือนใจ ความลำบากกาย ให้เกิดขึ้นแก่คนที่เรารัก ถ้ามีความทุกข์เกิดขึ้น เราจะมีทุกข์เสมอด้วยเขา ถ้าเขามีสุข เราจะสบายใจด้วยกับเขานั่นเอง
กรุณา - แปลว่า ความสงสาร มุ่งหน้าให้คนที่เรารัก หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์เท่าที่เราจะทำให้แก่กันและกันได้
มุทิตา - แปลว่า มีจิตอ่อนโยน มีอารมณ์แจ่มใสตลอดเวลา เห็นแฟน/ภรรยา/สามี ได้ดีก็ผ่องใส ชื่นอกชื่นใจ เหมือนเราก็ได้ไปด้วย
อุเบกขา - แปลว่าความวางเฉย ความวางเฉยในพรหมวิหารนี้ หมายถึงเฉยโดยธรรม คือทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงไปเข้าข้างคนที่เรารัก (ถ้าเขาทำผิด) พร้อมกันนั้นก็มีอารมณ์ประกอบด้วยความเมตตาปรานี พร้อมที่จะสงเคราะห์ หรือสอนสั่งไปในทางที่ดีขึ้นได้
3. รักอย่างมี "สติ"
รักใครให้ธรรมะ
ให้จำไว้เสมอว่า เราไม่สามารถบังคับคนอื่น ให้เป็นดั่งที่ใจเราต้องการได้ตลอด ให้ดูง่าย ๆ แม้กระทั่งร่างกายเราเอง ยังไม่สามารถบังคับ ไม่ให้หิว ไม่ให้เจ็บป่วยได้เลย ฉะนั้น ก็จงอย่าไปบังคับคนที่เรารักจนเกินไป เพราะ ไม่มีใคร เป็นอะไร ของใครจริง ๆ
คู่รักที่ดีต้องรู้จักเปิดใจ ยอมรับ ให้โอกาส ให้เกียรติ ให้อิสระกันและกัน หากเราจะแนะนำอะไร ก็ให้ทำด้วยความรักความเมตตา ความปรารถนาดี
"วิสัยโลกจะต้องมีความรัก แต่ให้มีสติควบคุมใจ มิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ"
คำสอนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
4. ฆราวาสธรรม 4
รักใครให้ธรรมะ
ในพระพุทธศาสนา ก็ได้สอนเรื่องข้อธรรมสำหรับผู้ครองเรือนด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า "ฆราวาสธรรม 4" อันได้แก่...
1.สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ หมายถึง การดำรงมั่นในสัจจะ การมีความจริง ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง ย่อมเป็นเหตุให้เป็นคนที่ไว้ใจได้
2.ทมะ คือ การฝึกตน การรู้จักฝึกฝนตนเอง ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา ย่อมเป็นเหตุให้อยู่กันด้วยความราบรื่น
3.ขันติ คือ ความอดทน มุ่งหน้าประกอบหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ผลดี
4.จาคะ คือ ความเสียสละ การมีน้ำใจไม่หวงแหนของกินของใช้ต่าง ๆ ย่อมเป็นเหตุให้มีใจกว้าง ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว
5. ศีลเสมอกัน
รักใครให้ธรรมะ
"ศีลเสมอกัน ถึงอยู่ด้วยกันได้" ประโยคยอดฮิต ที่หลาย ๆ คนคงคุ้นหูกัน นั่นก็เพราะ ศีลนี่แหละที่ทำให้ครองคู่กันอย่างยั่งยืน สมหวังในรักมั่นคง
โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ว่า “…..ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานีถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ (ชาติหน้า) ไซร้
ทั้งสองคนนั้นแลพึงเป็นผู้มี...
มีศรัทธาเสมอกัน (to be matched in faith)
มีศีลเสมอกัน (to be matched in moral)
มีจาคะเสมอกัน (to be matched in generosity)
มีปัญญาเสมอกัน (to be matched in wisdom)
ผาสุขของชีวิตคู่ โดยศีล 5 มีดังนี้
ศีลข้อที่ 1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ สิ่งที่มีชีวิต
ศีลข้อที่ 2 เว้นจากการลักทรัพย์ สิ่งของของใคร ๆ ก็รัก และสงวน
ศีลข้อที่ 3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่นอกใจด้วยการไปแย่งชิง ไปมีเพศสัมพันธ์กับ สามี หรือ ภรรยา ผู้อื่น
ศีลข้อที่ 4 เว้นจากการพูดเท็จ มุสา การโกหกพกลม เป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่น ไม่หลอกลวงให้คนที่เรารักเสียหาย ด้วยการโกหกกัน
ศีลข้อที่ 5 เว้นจากการดื่มน้ำเมา สุรา ยาเสพติด หลายต่อหลายคู่ ต้องเลิกลากันไป เนื่องด้วยเหตุแห่งสุราเมรัย นี่แล
สามีภรรยาคู่ใดก็ตาม ที่นำหลักธรรมเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติ เรียกได้ว่าเป็น คู่สร้างคู่สม คือ มีหลักธรรมของคู่ชีวิตที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาวนั่นเอง... รักใครให้ธรรมะ แก่กันด้วยนะ.
โฆษณา