27 ก.พ. 2020 เวลา 16:40 • ปรัชญา
"...ไม่เป็นไรหรอก เรื่องเล็กน้อย"
ช่วงนี้ทุกภาคส่วนกำลังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (nCoV-2019) อย่างเข้มงวด ใครที่มีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาทันที ใครที่มีความเสี่ยง เช่น กลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อ ต้องกักกันตัวเองเพื่อสังเกตุอาการอย่างน้อย 14 วัน
แต่จากข่าวของผู้ติดเชื้อรายล่าสุดเมื่อวาน แสดงให้เห็นว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ซึ่งกลุ่มคนที่มีความคิดลักษณะนี้ยังมีอยู่อีกมาก แม้ว่าเขาจะมีโอกาสติดและแพร่เชื้อ แต่เขาก็เลือกที่จะใช้ชีวิตตามปกติ ไปซื้อของในที่ชุมชน ไปทำงาน ไปท่องเที่ยว หรือแม้แต่เข้าประชุมรัฐสภา!
คนพวกนี้มีมักแนวความคิดทำนองว่า "ผมแข็งแรงดี ไม่ป่วยหรอก" หรือ "ฉันป่วยเป็นหวัดเฉย ๆ เดี๋ยวก็หาย"
เมื่อวันก่อน ผมทันได้เห็นข่าวที่รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุขของประเทศอิหร่าน ขึ้นชี้แจงสถานการณ์ระบาดของเชื้อ nCoV-2019 ทั้งที่ตัวเองป่วยอยู่ (ซึ่งต่อมาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเขาติดเชื้อจริง ๆ) ตามภาพประกอบ
พอมาวันนี้ก็มีรายงานข่าวว่า รองประธานาธิบดีของอิหร่านป่วยเป็น COVID-19 ไปแล้ว (COVID-19 หมายถึงโรคที่เกิดจากเชื้อ nCoV-2019) ซึ่งก็คงไม่ต้องสงสัยว่า เขาติดเชื้อจากท่าน รมช คนนั้นนั่นแหละ และก็อาจจะเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ จะมีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีของอิหร่านอีกหลายท่าน ป่วยเนื่องจาก COVID-19
ผมเป็นแฟนซีรีย์ The Walking Dead และเคยคุยเล่นกับเพื่อนจำนวนหนึ่งว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ซอมบี้ระบาดขึ้นมาจริง ๆ เพื่อน ๆ จะทำยังไง
คำตอบที่ได้นั้นมีหลากหลาย ทั้งหนีเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีเสบียงอยู่เต็ม เข้าไปหลบอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคาร หรือพยายามหนีไปอยู่เกาะร้างที่ห่างไกลผู้คนมากที่สุด
แต่แทบจะไม่มีใครเลยที่จะตอบว่า "ไม่ทำอะไร เพราะป่านนั้นเขาคงกลายเป็นซอมบี้อีกตัวไปแล้ว"
ซึ่งถ้าใครดูซีรีย์นี้เหมือนกันก็จะรู้ว่า กลุ่มพระเอก และผู้รอดชีวิตที่หลงเหลืออยู่ เป็นกลุ่มที่มีน้อยถึงน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่กลายเป็นซอมบี้ไปแล้ว
อะไรที่ทำให้คนส่วนมากถึงคิดว่าตัวเองจะรอด และไม่กลายเป็นซอมบี้? หรือถ้าเอาให้เข้ากับสถานการณ์ก็คือ อะไรที่ทำให้หลายคนคิดว่า ตัวเองจะไม่ป่วยเป็น COVID-19?
ความคิดลักษณะนี้เรียกว่า "False Uniqueness" หรือทีผมแปลของผมเองว่า "ความคิดแบบสำคัญตัวเองผิด" ครับ
เป็นธรรมดาที่คนเราจะคิดว่าตัวเองนั้นมีความพิเศษมากกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่โชคร้ายกว่าคนอื่น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีทางรู้หรอกครับว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราพิเศษนั้น มีคนอื่นที่พิเศษกว่าเราหรือเปล่า ที่เราคิดว่าเราดีนั้น มีคนอื่นดีกว่าหรือเปล่า หรือที่เราคิดว่าคนอื่นโชคร้ายนั้น เราจะไม่โชคร้ายแบบเขาบ้าง
False Uniqueness นั้นฝังอยู่ในความคิดของเราอยู่แล้วครับ อาจจะมีบางครั้งที่เราอิจฉาเพื่อนที่หน้าตาไม่ได้ดีไปกว่าเรานัก แต่กลับได้แฟนที่หน้าตาดี แอบอิจฉาเพื่อนที่ผลการเรียนพอ ๆ กันที่ไปได้รางวัลจากการประกวดตอบปัญหามา หรือแอบสงสัยว่าคนที่ถูกหวยรางวัลใหญ่ถึงเป็นคนขับสามล้อธรรมดา ไม่ใช่ฉัน
นี่แหละครับ False Uniqueness
เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในอเมริกาครับ ผู้วิจัยแบ่งอาสาสมัครเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนธรรมดา และอีกกลุ่มเป็นนักโทษคดีร้ายแรง ทั้งสองกลุ่มจะได้กระดาษคำถามเหมือนกัน ซึ่งชุดคำถามจะแบ่งออกเป็นสองข้อใหญ่ ๆ คือ ข้อแรก คุณคิดว่าคุณดีแค่ไหน และอีกข้อหนึ่งคือ คุณคิดว่าคนอีกกลุ่มดีกว่าคุณไหม
ผลการเก็บข้อมูลปรากฎว่า ทั้งสองกลุ่มให้คะแนนข้อแรกของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งคู่ และที่น่าสนใจจากข้อที่ 2 คือ กลุ่มนักโทษให้คะแนนกลุ่มคนธรรมดาที่สามารถตีความได้ว่า แม้เขาจะโดนคดีร้ายแรง แต่เขาก็คิดว่าคนธรรมดาก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขาเท่าไหร่
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติของคนเรานั้น มักไม่คิดว่าคนอื่นจะดีไปกว่าตัวเอง
ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันครับ
ทั้ง Superspreader (คุณป้ามหาภัย) ที่เกาหลี หรือเคสคู่สามี - ภรรยาล่าสุดในบ้านเรา ต่างก็มีความคิดว่า "ตัวเองไม่เป็นอะไรหรอก" หรือ "ถึงจะป่วย ก็ไม่โชคร้ายป่วยเป็น COVID-19 หรอก" เขาจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีการควบคุมหรือป้องกัน จนทำให้เชื้อนั้นแพร่ไปติดคนอื่น สร้างความเดือดร้อนในวงกว้าง (เคสของบ้านเรายังถือว่าโชคดีที่ทั้ง 2 คนยังไม่ได้เดินทางไปไหนไกลมาก)
มันเป็นผลจากความคิดที่ว่า "ไม่เป็นไร เรื่องเล็กน้อย" อันเป็นผลมาจาก False Uniqueness ส่วนตัว ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง
ถ้าเราเอารถไปซ่อมที่อู่ ช่างต้องรื้อเครื่องยนต์ออกมาเพื่อซ่อมแล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ ตอนที่เราจะเอารถออกมาชำเลืองไปเห็นน็อตตัวนึงตกอยู่
มันอาจจะเป็นน็อตตัวเล็ก ๆ ตัวเดียวที่อาจจะไม่มีความสำคัญอะไร เราจะไม่สนใจมันก็ได้
แต่หากมันเป็นน็อตที่ยึดชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์เอาไว้ เมื่อขับออกไปไม่นานอาจทำให้เครื่องยนต์หลุดหรือขัดข้อง จนทำให้รถเสียการควบคุมจนประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น
ดังนั้น แม้มันจะเป็นแค่น็อตตัวเล็ก ๆ ตัวเดียว แต่หากมันมีความเสี่ยงที่จะส่งผลรุนแรง ก็จงอย่ามองข้ามครับ
ฉันใดก็ฉันนั้น
โฆษณา