1 มี.ค. 2020 เวลา 09:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เชื้อปรสิตในแมวที่ติดต่อสู่คนได้?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสความน่ารักของน้องแมวแล้วละก็ คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อตัวนี้!
แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะจากงานวิจัยค้นพบว่าบางพื้นที่มีอัตราการติดเชื้อในคนสูงมากกว่า 90% ของประชากรเลยทีเดียว มั่นใจได้เลยว่าคุณไม่ได้เป็นส่วนน้อยที่ติดเชื้อ
เชื้อปรสิตชนิดนี้เป็นตัวเดียวกับเชื้อที่ทำให้หนูมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและไม่กลัวแมว ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความที่แล้ว หากยังไม่ได้อ่านก็สามารถย้อนกลับไปอ่านกันก่อนได้นะครับ เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น😽
ในบทความที่แล้วผมได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า "นอกจากแมวและหนูแล้วเชื้อชนิดนี้ยังติดต่อมาสู่คนด้วย" หากอยากรู้ว่ามันส่งผลอย่างไร ผมจะอธิบายให้เข้าใจกันครับ
เจ้าปรสิตชนิดนี้คือโพรโทซัว(Protozoan) ที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii (ท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ) ซึ่งมันทำให้เกิดโรคที่เรียกว่าท็อกโซพลาสโมซิส(Toxoplasmosis)
โดยปกติแล้วพวกมันจะอาศัยเป็นปรสิตอยู่ในสัตว์ตระกูลแมวและหนูเท่านั้น แต่ก็แน่นอนครับว่าสัตว์อื่นๆเช่น หมู วัว แพะ แกะ รวมถึงคนเราเองก็สามารถติดเจ้า T. gondii ทำให้เราเป็นที่อยู่อาศัย(host) ของมันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจได้เหมือนกัน
เพราะไข่(oocysts)ของพวกนี้มีจำนวนมาก สามารถปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมต่างๆทั้งในดินและในน้ำได้ดี ยิ่งไปกว่านั้นมันสามารถทนอยู่ได้นานสูงสุดถึง 1 ปีเลยทีเดียว
Life cycle of Toxoplasma gondii
ซึ่งการติดเชื้อก็เกิดขึ้นได้หลายช่องทางเช่น
- ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อน หากดื่มเข้าไปโดยที่ไม่ต้มให้เดือดก่อนแล้ว ก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อเข้าไปได้
- กินเนื้อสัตว์ที่มี T. gondii อยู่แบบดิบๆโดยไม่ผ่านความร้อน การกินเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรก็ตามผมแนะนำว่าให้กินแบบปรุงสุกเท่านั้น เพราะเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อต่างๆเข้าไปในร่างกาย
- กินผักผลไม้ที่ปนเปื้อนดินหรือน้ำที่มีไข่ของ T. gondii อยู่ ควรล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนที่จะกินด้วยนะครับ เพราะอาจติดดินหรือปุ๋ยคอกที่มีเชื้ออยู่ด้วย และยังเสี่ยงต่อไข่ของพยาธิชนิดต่างๆที่อยู่ในดินเช่น พยาธิใส้เดือนได้ หากต้องการกินผักแบบสดๆควรล้างน้ำให้สะอาดด้วย
- ติดจากอุจจาระแมว โดยที่เวลาทำความสะอาดแล้วไปสัมผัสกับอุจจาระหรืออุปกรณ์อื่นๆที่สัมผัสอุจจาระของน้องแมว อย่าลืมนะครับว่าไข่ของปรสิตตัวนี้สามารถทนอยู่ได้ถึง 1 ปี ก็ต้องมีสักวันที่ไปสัมผัสโดนกันบ้าง แนะนำว่าให้ล้างมือบ่อยๆครับ
เมื่อติดเชื้อ T. gondii แล้วจะมีอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บคอ
- มีไข้ ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อาจแท้งลูกได้ ข้อนี้แหละครับที่น่ากลัวที่สุด หากติดเชื้อระหว่างท้องแล้วละก็มีความเสี่ยงที่จะแท้งได้
แต่ไม่ต้องตกใจไปครับเพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราจะต่อสู้กับเจ้าT. gondii ภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนหลังการติดเชื้อร่างกายก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
แต่เชื้อตัวนี้ยังคงอยู่ในร่างกายของเรา ส่วนนี้แหละครับที่น่าสนใจ เพราะขนาดอยู่ในหนูยังส่งผลให้มีพฤติกรรมแปลก หากเข้ามาอยู่ในตัวเราแล้วจะทำให้เราเปลี่ยนไปอย่างไร?
โดยทั่วไปหากติดเชื้อ T. gondii จะไม่ค่อยมีอาการและอาจมีอาการในบางคนเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยที่ผมจะนำมาเล่าในวันนี้มี 2 งานวิจัย ที่วิจัยในผู้หญิงและผู้ชายที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ เลยนำมาทดสอบว่าเชื้อตัวนี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างไร
งานวิจัยแรกทดสอบในผู้หญิงที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการอื่นทางร่างกายพบว่า
- มีความฉลาดเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
- มีความสำนึกผิดที่ลดต่ำลง
- หงุดหงิดง่ายขึ้น
- มีความกระตือรือร้นเพิ่มสูงขึ้น
โอโห! เรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงที่ฉลาดและกระตือรือร้นสูง แต่กลับหงุดหงิดง่ายและไม่ค่อยสำนึกผิด เกือบจะดีอยู่แล้วเชียว การติดเชื้อส่งผลต่อสารเคมีในสมองส่งผลให้มีทั้งพฤติกรรมดีและเสียทั้งคู่เลย
มาดูงานวิจัยในผู้ชายกันบ้างดีกว่าว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างไร ผลของงานวิจัยพบว่า
- ความอยากในการลองอะไรใหม่ๆลดต่ำลง
- ความหุนหันพลันแล่นด่วนตัดสินลดต่ำลง
- ความติดหรูลดน้อยลง
- ไม่ชอบในความไม่เป็นระเบียบเพิ่มสูงขึ้น
- IQ ต่ำลง
- มีโอกาสน้อยที่จะได้ไปเรียนต่อในลำดับที่สูงขึ้น
พูดได้เลยว่าเป็นผู้ชายที่ ไม่ชอบลองของใหม่ ไม่ด่วนตัดสิน เป็นคนติดดินไม่ติดหรู พยายามทำให้ทุกอย่างในชีวิตเป็นระเบียบมากขึ้น ฟังดูแล้วเหมือนจะดีแต่ผลพลอยได้ก็คือ มีทักษะในการแก้ปัญหาต่ำลงมาก และไม่ชอบที่จะเรียนต่อในระดับสูงๆ
จากผลการวิจัยทั้งสอง สรุปได้ว่าเชื้อ T. gondii มีผลต่อสารเคมีในสมอง ทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป มีทั้งพฤติกรรมที่ดีและไม่ดี แต่ไม่ค่อยส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากนัก
รออ่านสาระความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์ได้ต่อในครั้งหน้านะครับ กดติดตามไว้เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารดีๆ และความรู้แปลกๆก่อนใคร แล้วเจอกันใหม่ครับ😊
ลิงก์สำหรับผู้ที่สนใจอยากอ่านงานวิจัยแบบเจาะลึกเพิ่มเติมนะครับ
โฆษณา