29 ก.พ. 2020 เวลา 04:00 • กีฬา
RUNNING INSINDER : เพจวิ่งสัญชาติไทยที่บินไปคุยกับ “คิปโชเก” ถึงนิวยอร์ค
“ถ้าคุณอยาก ‘รู้’ เรื่องวิ่ง คุณอ่านจากเพจไหนก็ได้ แต่ถ้าคุณอยาก ‘รู้สึก’ คุณต้องอ่านเพจเรา”
บุ๊ย - มนตรี บุญสัตย์ อดีตนักเขียนมนุษย์เงินเดือน ที่ลาออกจากงานเพื่อทำแฟนเพจที่ชื่อ “Running Insider” เพจวิ่งเชิงลึกที่มีการนำเสนอเนื้อหา บทความ ข่าวสาร แบบเฉพาะตัว แตกต่างกับกับเพจวิ่งทั่วๆ ไป ที่เน้นการรายงานข่าวสาร สถิติ ข้อมูลนักกีฬา บอกประโยคนี้กับเรา
Running Insider เป็นเพจหนึ่งที่เราติดตามมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะเพจนี้ สามารถทำให้คนที่ไม่คิดจะออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อย่าง “ผู้เขียน” ยอมคลิ๊กปุ่มไลค์ให้แต่โดยดี เพื่อติดตามเนื้อหาที่เพจ Running Insider ผลิตออกมาได้
นั่นก็น่าเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่า คอนเทนต์ของเพจ Running Insider สามารถเข้าถึงคนทั่วไปไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่สนใจด้านวิ่งเท่านั้น
โดยเฉพาะในช่วงเดือน ตุลาคม ปีที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญระดับปรากฏการณ์ในโลกกีฬาขึ้น เมื่อยอดนักวิ่งชาวเคนย่า นามว่า “เอเลียด คิปโชเก” สามารถจารึกชื่อเป็น มนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
ในห้วงเวลานั้น Running Insider เป็นเพจหนึ่งที่นำเสนอเนื้อหาของ คิปโชเก ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับ คิปโชเก ได้อย่างลึกซึ้ง และถัดจากนั้นไม่นานนัก เพจ Running Insider ก็ทำให้เราประหลาดใจไม่น้อยบนหน้าฟีดเฟซบุค
เมื่อเจ้าของเพจวิ่งรายนี้ เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้โอกาสพูดคุยกับ เอเลียด คิปโชเก ที่ ณ ตอนนั้น เขากลายเป็นบุคคลประวัติศาสตร์ของกีฬาโลกไปแล้ว…
หากหมดศรัทธาในชีวิต ให้ออกไปยืนดูคนวิ่งมาธารอน
“ก่อนหน้าที่บุ๊ยจะเริ่มมาวิ่ง บุ๊ย เป็นคนที่ไม่ชอบเรื่องของการเล่นกีฬาเลย ก็ใช้ชีวิตเหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ถ้ามีเวลาว่างจากงาน ก็อยากกิน พักผ่อน ไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ไม่อยากออกกำลังกาย เรื่องวิ่งนี่ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย”
ย้อนกลับเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนที่เรื่อง “วิ่ง” จะเป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ “มนตรี บุญสัตย์” นึกถึงทุกเช้าที่ตื่นลืมตาขึ้นมา เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ให้เวลากับตัวเองในการดูแลสุขภาพ
มนตรี ทำงานคลุกคลีกับสื่อสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้นามปากกาในการเขียนว่า Buiberry ก่อนจะลากยาวอยู่ในนวงจรชีวิตการทำอาชีพ “นักเขียน” มาตลอดตั้งแต่เรียนจบ
จนถึงวัยที่อายุเข้าหลัก 3 มนตรี ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ความสุขคืออะไร ?” และคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นมาจากสิ่งใด ? กระทั่งมาพบคำตอบของคำถามเหล่านั้นจากการออกมาวิ่ง
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ บุ๊ย สนใจการวิ่ง เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2549 บุ๊ย มีลูกสาวคนแรก เราก็อยากเป็นคุณพ่อที่ดูเท่ๆ ให้ลูกสาว ตอนนั้นบุ๊ยเป็นคนอ้วนๆ น้ำหนักตัวพุ่งไปถึง 90 กิโลกรัม ก็เลยเริ่มออกมาวิ่ง ด้วยความรู้สึกที่อยากออกไปชนะตัวเอง ในช่วงนั้นการวิ่งในบ้านเรา ยังเป็นเรื่องของผู้สุงอายุ งานวิ่งก็ยังไม่บูมอะไร”
“มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ บุ๊ย เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความสุขคืออะไร ? เพราะสิ่งที่เราเจอในชีวิตการทำงานก็คือ เราเริ่มแพ้บ่อยขึ้น ไม่ชนะ หมดแรง ผิดหวังง่าย ด้วยกลไกของการทำงานที่จะมี คนรุ่นใหม่ที่หนุ่มกว่า เร็วกว่า ทำงานได้ถูกต้องมากกว่ามาแทนที่”
“บุ๊ย เป็น Loser (ผู้แพ้) ในสนามชีวิตจริงตลอด บุ๊ยไม่ได้โดดเด่นเหมือนพวกพี่ๆ รุ่นเก่าที่เขามีผลงานรวมเล่ม แต่ก็ไม่ได้แย่ เป็นนักเขียนคนหนึ่งในกองบรรณธิการที่เขียนงานได้ทุกประเภท แล้วแต่ บก.จะใช้งานอะไร แต่บุ๊ยไม่ได้มีความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะทางเลย”
“เรารู้สึกแบบนั้นในสนามชีวิตจริง แต่พอเราอยู่ในสนามมาราธอน สนามวิ่งเทรล มันเหมือนกับเราได้ฟื้นฟูและเยียวยาตัวเอง เพราะการที่เราจบงานวิ่งมาราธอนได้ นั่นแปลว่าเราไม่ได้แย่ไปหมดทุกเรื่อง”
“เราก็สามารถชนะความท้าทายของตัวเองได้ ก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ ขยับจากวิ่งมาราธอน จากมาเป็น อัลตร้า มาราธอน 50 กิโลฯ 100 กิโลฯ วิ่งแบบข้ามวันข้ามคืน 26-27 ชั่วโมง”
มนตรี ยกคำพูดของนักวิ่งคนหนึ่งมาเปรียบเทียบกับ ช่วงชีวิตของเขาในเวลานั้น ก็คือ “เราไม่ได้วิ่งเพื่อให้ชีวิตยืนยาว แต่เราวิ่งเพื่อให้ชีวิตมีความหมาย”
ความหมายในที่นี้ คือการที่ มนตรี ได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น, ได้ออกไปมองโลกที่กว้างขึ้น ไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้ไปพบเจอกับผู้คนมากมาย ที่ออกมาใช้ความพยายามเพื่อวิ่งในระยะทางไกล ซึ่งมันทำให้เขาได้คำตอบของจุดเริ่มต้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเริ่มหลงรักการวิ่ง
“บุ๊ย เคยเป็นคนที่สมัครฟิตเนส คลับ ทิ้งไว้แล้ว ก็เสียเงินไปเปล่าๆ เพราะเราไม่เคยคิดจะไปเล่น เคยเป็นคนตั้งใจเป้าหมายในตอนปีใหม่ แล้วก็ไม่สามารถทำสำเร็จเลย แต่พอเราเริ่มตั้งเป้าหมายว่าจะลงงานวิ่ง เราก็จะเริ่มมีระเบียวินัยกับตัวเองว่า คืนนี้จะไม่นอนดึก พรุ่งนี้จะตื่นเช้าขึ้นเพื่อออกมาวิ่ง มันกลายเป็นว่า การวิ่ง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเรา”
“ตอนที่เป็นคนอ้วนๆ สุขภาพไม่ค่อยดี เพราะไม่เคยออกกำลังกาย เราเป็นคนที่ทัศนคติไม่ดี เวลาเขียนเรื่องอะไร เราก็เขียนแบบคนเบื่อโลก ตัดสินคนนั้นคนนี้ พอเราได้มาวิ่งมาราธอน ได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เรากลับมอง มาราธอนว่า มันเป็นพื้นที่ของจิตวิญญาณ”
“มีคำพูดหนึ่งของนักวิ่งหญิง ในงานวิ่งบอสตัน เธอบอกว่า ‘เมือใดก็ตามที่คุณหมดสิ้นศรัทธาในชีวิต ให้คุณออกไปยืนดูคนวิ่งมาราธอน’ เพระคุณจะได้เห็นความพยายาม ความฝัน ความหวังของผู้คน ผมกลายเป็นคนที่มี Mindset (วิธีคิด) ดีขึ้น ผมไม่ตัดสินใครก่อน ไม่รีบร้อนที่จะสรุปความคิดเห็น ไม่มี Hate Speech (วาทะเกลียดชัง) ผมใจเย็นลง”
“เมื่อทัศนคติ บุ๊ย ดีขึ้น งานที่เราเขียนมันก็ถูกถ่ายทอดในมุมมองที่บวกขึ้น ถ้าทัศนคติเราแย่ มันก็จบ เช่นเรื่องของคุณเอเลียด คิปโชเก บุ๊ย อาจไม่เขียนถึงเขา เพราะเขาเป็นคนผิวสี เราจะอยากรู้เรื่องราวของเขาทำไม เราก็จะไม่ได้เห็นคุณธรรมในตัวเขา”
“ผมเชื่อในพลังของการวิ่ง”
“วิ่ง” กลายเป็นสิ่งที่ มนตรี บุญสัตย์ ให้ความสนใจอย่างมาก ทั้ง ข้อมูลข่าวสาร, บทความเกี่ยวกับการวิ่งเฉพาะทาง ไปจนถึงการแข่งขันรายการวิ่งต่างๆ ที่เขาจะมักหาดูไฮไลท์ หรือหาโอกาสชมการถ่ายทอดสดอยู่เสมอ
จนเมื่อกลางปี 2016 มนตรี ได้นำเอาความชอบเกี่ยวกับการวิ่ง มาผสมผสานกับความถนัด อย่างเรื่องการเขียน ก่อกำเนิดเป็นแฟนเพจที่ชื่อว่า “ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง” โดยที่เขาได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เพจๆนี้ขึ้นมา
เขาใช้เวลา 1 ปีเต็มในการปรับตัวจาก คนทำสื่อสื่อพิมพ์ มาสู่ ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ ผ่านการลองผิด ลองถูกต่างๆ
จนกระทั่งราวๆ ปี 2018 มนตรี เกิดแรงบันดาลใจที่ทำเพจนักวิ่งของตัวเอง ในชื่อ “Running Insider” หลังกลับมาจากได้รับเชิญ รองเท้ารุ่นใหม่ของแบรนด์รองเท้ายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งในงานเดียวกันนั้น มีสื่อมวลชนสายวิ่งจากทั่วโลกไปทำข่าวที่นั่น
“ตอนที่เราทำแมกกาซีน เรามีโอกาสถูกส่งไปงานแถลงข่าว ไปทำงานต่างประเทศหลายครั้ง แต่งานนี้ที่เราไป เราได้เจอกับคนมาทำจาก นิตยสาร Runnersworld ได้เจอนักเขียนจากสื่อเขาทำเรื่องวิ่งเฉพาะทางเจ๋งๆ เพียบๆ เลย ในช่วงพักเบรก นักข่าวพวกนั้นก็จะมานั่งจับกลุ่มคุยกัน”
“มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ตอนที่ วิสสัน คิปแซง (Wilson Kipsang Kiprotich) ทำลายสถิติโลกที่ เบอร์ลิน มาราธอน 2013 เขาเป็นคนแรกเลยนะที่รู้ว่า คิปแซง จะทำสำเร็จในครั้งนี้ เพราะเขาติดตามดูระยะ Pace การวิ่งมาโดยตลอด พอคิปแซงวิ่งถึงกิโลเมตรที่ 30 เขาร่างบทความรอไว้เลยว่า วันนี้จะมีคนทำลายสถิติโลก วินาทีที่ คิปแซง วิ่งแตะเส้นชัย เขาเป็นคนแรกที่กดปุ่ม Enter แพร่กระจายเรื่องราวให้คนทั้งโลกรู้”
“ผมรู้สึกขนลุกกับเรื่องนี้มาก ผมเหมือนเป็นเด็กน้อย ที่นั่งอยู่ท่ามกลางนักเล่าเรื่องวิ่งตัวพ่อ คืนนั้นผมกลับถามตัวเองว่า ผมสามารถเป็นคนๆนั้นได้ไหม ? ไฟลท์กลับจากลอนดอนมาถึงประเทศไทย ผมนั่งคิดตลอดบนเครื่องเลยว่า เพจของผมจะชื่ออะไร ? ผมหมั่นเขี้ยวมากเลย ผมอยากทำคอนเทนต์นี้ให้ได้เลย”
Running Insider ถูกเปิดตัวบนหน้าแฟนเพจเฟซบุค ในเดือนกรกฏาคม 2018 โดยมี บุ๊ย มนตรี เป็นเจ้าของเพจและนักเขียนคนเดียวของเพจ
เพียงแค่บทความชิ้นแรก Running Insider ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากผู้อ่าน มีผู้แชร์เนื้อหาเรื่องนั้น (รู้จัก จอห์น โวลันเธน นักประดาน้ำเหตุการณ์ 13 หมูป่าอคาเดมีฯ ที่เป็นนักวิ่งอัลตร้า มาราธอน) มากกว่า 700 แชร์
มนตรี บอกกับเราว่า เขาขับเคลื่อนด้วยเพจ Running Insider ด้วยรสนิยมและความชอบส่วนตัวล้วนๆ เขาได้เป็นคนตัดสินใจทุกกระบวนการแต่เพียงผู้เดียวในเพจๆ นี้
แม้มันจะต้องแลกกับเสียเวลาชีวิตแทบทั้งวัน ไปกับการต้องปั่นบทความวันละ 3-5 ชิ้นต่อวัน จนถึงจุดที่เขาเลือกทิ้งงานที่สร้างรายได้ให้กับเขา เดือนละเกือบ 50,000 บาท มามุ่งมั่นทำเพจที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย เพื่อหวังจะทำให้คนได้อ่านสิ่งที่เขาต้องการถ่ายทอดออกไป
“ตอนที่คิดว่าจะทำแฟนเพจ บุ๊ย ก็ทุ่มเทให้การทำคอนเทนต์บน โชเซียลมีเดียแบบ 100 เปอร์เซนต์เลย ก็ต้องทำลายวรยุทธ์เดิม เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ตอนนั้นเราอยากรู้ว่า ถ้าเราอยากวิ่งบนเส้นทางนี้ (ทำคอนเทนต์ลงเพจ) มันจะพาเราที่ไหนบ้าง จะไปได้ไกลถึงไหน ก็ตัดสินใจลาออกจากงานที่สร้างรายได้ให้เรา”
“ก่อนหน้านั้น บุ๊ย เป็นฟรีแลนซ์ รับจ้างเขียนงานให้แม็กกาซีนหลายๆเล่ม เพราะเราเขียนได้หลายแบบ บุ๊ย ชัดดาวน์ทุกอย่าง หยุดส่งงาน ก็ยอมทิ้งรายได้ตรงนั้นไปเลย เพราะบุ๊ยอยากใช้ชีวิตที่พรุ่งนี้เช้าสามารถตื่นมาดูแข่งมาราธอนได้ ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากไปคุยงานอะไร”
“โอเค มันมีผลกระทบแน่นอนเรื่องรายได้ แต่เรามีความสุขกับการได้เขียนงานลงเพจ บุ๊ย เขียนงานฟรีอยู่เป็นปีเลยนะ”
“เราไม่คิดหรอกว่ามันจะทำเงินให้เราได้ไหม แต่มันเหมือนหน้าที่ กูต้องเขียนเรื่องนี้ให้ได้ เราจมกับมันไปแล้ว ก็ให้กำลังใจตัวเอง ไม่พยายามคิดว่าต้องหาเงินจากทางนี้ แต่คิดว่ามันคือหน้าที่ ยังไงก็ต้องเขียนเรื่องนี้ให้ได้ เขียนเสร็จ แล้วก็ไม่รู้สึกติดค้างกับตัวเอง มีความสุขที่ถ่ายทอดออกไป”
มนตรี กลายเป็นชายวัยกลางคนที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เพื่อศึกษาและเรียนรู้ทักษะใหม่ ในกา่รทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ให้น่าสนใจ เมื่อมีเวลาว่างก่อนหรือหลังเขียนบทความ เขาก็มักจะใช้เวลาไปกับการดูแลตัวเอง ครอบครัว และออกกำลังกาย
รวมถึงการพาตัวเองไปสัมผัสประสบการณ์ในการแข่งขันมาราธอน ระดับนานาชาติ ทั้งในฐานะนักวิ่งและผู้ชม
มันอาจเป็นเรื่องดูงมงายไม่น้อยที่ มนตรี บุญสัตย์ เลือกที่ใช้ชีวิตตลอด 1 ปีนั้นโดยไม่มีรายได้จากสิ่งที่ตัวเองทุ่มเทลงไปเลย เราถามเขาว่า “อะไรคือพลังที่ทำให้คุณยังเชื่อและทำมันต่อไป” มนตรี ตอบเรากลับมาว่า
“ผมเชื่อว่า คอนเทนต์ที่ดีมันจะนำไปสู่ คอมมูนิวตี้ที่ดีได้ และคอมมูนิวตี้ที่ดี มันจะนำไปสู่ วัฒนธรรมที่ดีได้ สำหรับคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน”
“ข้อดีของโชเซียลมีเดียคือ เราสามารถทำเนื้อหาเฉพาะทางได้ ไม่เหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทุกอย่างมันมีต้นทุน พอเราผลิตเนื้อหาที่มันแตกต่าง มันก็จะนำพาคนที่มีความชอบคล้ายๆกัน มาเจอกัน หรือในบางครั้งผมก็สามารถเขียนในเรื่องที่ผมสนใจมากๆ ให้คนอ่านได้รู้จักนักวิ่งคนนี้ จนคนที่อ่านเรื่องชอบคนๆนั้นด้วย”
“ผมเชื่อในพลังของ Subculture (วัฒนธรรมย่อย) เรื่องที่เราเขียนบางครั้งมันอาจไม่ใช่ 100 คนที่เห็น รู้จักหมดทั้ง 100 คน แต่ 10 คนรู้จัก เขาชอบเรื่องนี้จริงๆ เขารออ่านจริงๆ ผมก็ยินดีที่จะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงเพื่อเขียนบทความชิ้นนั้น”
ไม่มีขีดจำกัดสำหรับมนุษย์
“เอเลียด คิปโชเก เป็นนักวิ่งคนหนึ่งที่ผมชอบ ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ในบ้านเรา ที่เขียนถึงเขา ตั้งแต่ตอนนี้ผมยังเขียนชื่อเขาเป็น เอลิอุด อยู่เลย” มนตรี ย้อนความหลังถึงผู้ชายคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจมหาศาลแก่เขา
“เหตุผลที่ผมติดตาม เอเลียด มานาน เพราะเขาเป็นคนที่เก่งมากๆ คนหนึ่ง เขาเป็นคนเคนยาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ สนใจเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา ซึ่งเรารู้สึกว่า นักวิ่งคนนี้เขามี ความคิด ความสนใจคล้ายๆกับเรา เพราะเราก็ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน”
“เอเลียด มักจะมีคำพูดดีๆ เสมอ อย่างเช่นตอนเขาไปพูดที่ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขาพูดคำว่า ‘ถ้าคุณไม่มีวินัย คุณก็จะตกเป็นทาสของอารมณ์’ หรือ ‘การปลูกต้นไม้ที่ดีสุด คือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่เวลาที่ดีสุดรองลงมาคือ วันนี้’ เขาเป็นคนที่มีความคิดดีๆ แบบนี้นี่แหละ ผมเลยชอบเขา และก็เอาความชอบของเขา มาบอกเล่าลูกเพจอยู่เสมอ จนคนอ่านเริ่มรู้จัก คิปโชเก”
Running Insider แสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับ คิปโชเก มานำเสนอเป็นข่าวและบทความร่วมๆ 40 ชิ้น ตั้งแต่วันที่ ยอดนักวิ่งปอดเหล็กชาวเคนย่า ยังไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย, วันที่เขาสามารถทำลายสถิติโลกมาราธอน, วันที่พยายามสถิติวิ่งมาราธอน ด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงไม่สำเร็จ ไปจนถึงวันที่เขาทำสำเร็จ จนพูดถึงไปทั่วโลก ในฐานะมนุษย์คนแรกที่ทำสิ่งนี้ได้
แต่ มนตรี ก็ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเขาจะเข้าใกล้โอกาสได้ สนทนาแบบ ตัวต่อตัวกับ เอเลียด คิปโซเก ชายที่เขาชื่นชมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และหน้าจอทีวี
“บุ๊ย ไม่คิดเลยว่าจะได้ยืนคุยกับเขา เพราะตอนที่ บุ๊ย เขียนเรื่องเขา บุ๊ย อยู่ที่ นนทบุรี ส่วนเขาเป็นนักกีฬาระดับโลก การจะเข้าถึงเขาได้ เพื่อขอสัมภาษณ์ มันแทบไปไม่ได้เลย เพราะเราเป็นแค่เพจวิ่งเล็กๆ แถมยังเขียนด้วยภาษาไทยอีก”
“บุ๊ยเพียรเขียนถึง 30-40 บทความ เพราะบุ๊ยชื่นชมในความพยายามของเขา เรารู้ว่าแค่วิ่ง 10 กิโลเมตร ให้เร็วขึ้น 2 นาที มันก็ยากมากๆแล้ว แต่คุณเอเลียด ต้องวิ่งด้วย Pace 2.53 ตลอด 42.195 กิโลเมตร เราเคยวิ่งมาราธอน เราเข้าใจเลยว่า มันยากขนาดไหน เราเลยให้คุณค่ากับความมุ่งมั่น และความพยายามของคน”
“หลังจากที่เขาทำได้สำเร็จ 2 สัปดาห์ บุ๊ย ก็ไปวิ่งในรายการ นิวยอร์ก มาราธอน ก็พอได้ยินมา คุณเอเลียดมาที่นิวยอร์ก ตอนนั้นก็พยายามเช็คจากแท็คทวิตเตอร์ อินสตาแกรม จนกระทั่งมีพี่ที่เขาพักอยู่ในโรงแรมเดียวกัน เอเลียด เขาทักมาบอกว่า เอเลียด พักอยู่ที่นี่นะ
เช้าวันจันทร์หลังผ่านงานมาราธอน ผู้คนในเมืองนิวยอร์ก จะห้อยเหรียญที่ได้รับจากการวิ่งมาราธอน เดินออกใช้ชีวิตประจำวัน มนตรี และกลุ่มนักวิ่งชาวไทย เลือกที่จะตื่นแต่เช้า เพื่อไปตามหา เอเลียด คิปโซเก จากข้อมูลที่ได้รับแค่ว่า เอเลียด จะลงมากินอาหารเช้า เวลา 8.00น.
แต่การเข้าไปในโรงแรมสุดหรูแห่งนั้น ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ยืนคุมเข้มตั้งแต่หน้าปากประตู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“จริงๆ ถ้าวันนั้นเราไม่ได้วิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร มีเหรียญห้อยคอในวันรุ่งขึ้น บุ๊ย ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะให้เราเข้าไปในโรงแรมนะ แต่พอเขาเห็นเหรียญที่คอ เขาก็ยินดีต้อนรับให้เขาผ่านเข้าไปโรงแรมได้ ทีนี้ผมก็มองหาว่า เอเลียด ในรูปที่พี่ส่งมานั่งมุมไหน”
“ตอนนั้นเป็นวันท้ายๆ ที่ผมใกล้เดินทางกลับแล้ว เงินที่มีติดตัวก็น้อย ผมสั่งเมนูที่ถูกสุด แต่ก็แพงอยู่ดีสำหรับผม ตีเป็นเงินประมาณ 2,000 กว่าบาท ผมนั่งรออยู่ประมาณ 40 นาที ก็ตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่า เอเลียด ลงมาไหม ในใจก็กลัวเจ้าหน้าที่โรงแรมจะมาไล่เราหรือเปล่า ?”
“พอถึงเวลา 8 โมงเช้าเป๊ะ เอเลียด ก็เดินลงมาพร้อมทีมงานของเขา มันเหมือนกับเป็นช่วงเวลา Magic Moment (โดนมนต์สะกด) ของผม”
“เขาหันมาทางผม เขาก็เห็นเหรียญที่คอ ผมรีบเดินเข้าไปหาเขา แนะนำว่าตัวเองว่า ผมชื่อมนตรี มาจากประเทศไทย เป็นเจ้าของเพจ Running Insider ผมเขียนเรื่องราวของคุณเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่าน ผมขอแสดงความยินดีกับคุณด้วย สำหรับสถิติที่คุณทำสำเร็จ คุณพิสูจน์ได้แล้วว่า ไม่มีข้อจำกัดสำหรับมนุษย์”
“เอเลียด เขาก็อัธยาศัยดีมาก เขาฟังทุกอย่างที่ผมพูด เขาถามผมว่า คุณมาจากประเทศไทยเหรอ ? คุณรู้จัก ตูน (บอดี้แสลม - อาทิวราห์ คงมาลัย) ไหม ? ผมก็บอกว่า รู้จัก เพราะเคยวิ่งมาด้วยกัน เอเลียดก็ชื่นชมว่า พี่ตูนเป็นคนที่เก่ง จากนั้นเขาก็เซ็นลายเซ็นให้ผม และเขียนคำว่า 1.59.40 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาทำได้”
เช้าวันจันทร์หลังผ่านงานมาราธอน ผู้คนในเมืองนิวยอร์ก จะห้อยเหรียญที่ได้รับจากการวิ่งมาราธอน เดินออกใช้ชีวิตประจำวัน มนตรี และกลุ่มนักวิ่งชาวไทย เลือกที่จะตื่นแต่เช้า เพื่อไปตามหา เอเลียด คิปโซเก จากข้อมูลที่ได้รับแค่ว่า เอเลียด จะลงมากินอาหารเช้า เวลา 8.00น.
แต่การเข้าไปในโรงแรมสุดหรูแห่งนั้น ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ยืนคุมเข้มตั้งแต่หน้าปากประตู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“จริงๆ ถ้าวันนั้นเราไม่ได้วิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร มีเหรียญห้อยคอในวันรุ่งขึ้น บุ๊ย ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะให้เราเข้าไปในโรงแรมนะ แต่พอเขาเห็นเหรียญที่คอ เขาก็ยินดีต้อนรับให้เขาผ่านเข้าไปโรงแรมได้ ทีนี้ผมก็มองหาว่า เอเลียด ในรูปที่พี่ส่งมานั่งมุมไหน”
“ตอนนั้นเป็นวันท้ายๆ ที่ผมใกล้เดินทางกลับแล้ว เงินที่มีติดตัวก็น้อย ผมสั่งเมนูที่ถูกสุด แต่ก็แพงอยู่ดีสำหรับผม ตีเป็นเงินประมาณ 2,000 กว่าบาท ผมนั่งรออยู่ประมาณ 40 นาที ก็ตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่า เอเลียด ลงมาไหม ในใจก็กลัวเจ้าหน้าที่โรงแรมจะมาไล่เราหรือเปล่า ?”
“พอถึงเวลา 8 โมงเช้าเป๊ะ เอเลียด ก็เดินลงมาพร้อมทีมงานของเขา มันเหมือนกับเป็นช่วงเวลา Magic Moment (โดนมนต์สะกด) ของผม”
“เขาหันมาทางผม เขาก็เห็นเหรียญที่คอ ผมรีบเดินเข้าไปหาเขา แนะนำว่าตัวเองว่า ผมชื่อมนตรี มาจากประเทศไทย เป็นเจ้าของเพจ Running Insider ผมเขียนเรื่องราวของคุณเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่าน ผมขอแสดงความยินดีกับคุณด้วย สำหรับสถิติที่คุณทำสำเร็จ คุณพิสูจน์ได้แล้วว่า ไม่มีข้อจำกัดสำหรับมนุษย์”
“เอเลียด เขาก็อัธยาศัยดีมาก เขาฟังทุกอย่างที่ผมพูด เขาถามผมว่า คุณมาจากประเทศไทยเหรอ ? คุณรู้จัก ตูน (บอดี้แสลม - อาทิวราห์ คงมาลัย) ไหม ? ผมก็บอกว่า รู้จัก เพราะเคยวิ่งมาด้วยกัน เอเลียดก็ชื่นชมว่า พี่ตูนเป็นคนที่เก่ง จากนั้นเขาก็เซ็นลายเซ็นให้ผม และเขียนคำว่า 1.59.40 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาทำได้”
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา