1 มี.ค. 2020 เวลา 09:08 • การศึกษา
แฉ!!! ประวัติ......... เรื่องราว รอยต่อป่า
หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไป มีหลายเรื่องหลายประเด็นเกิดขึ้น
มีหลายคนผิดหวังกับเรื่อง(ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ทำให้การเมืองเข้มข้มดุเดือด
และไวรัสเองก็เดือดไม่แพ้กันระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากผมได้ฟังอภิปราย
มีหนึ่งเรื่องที่เขาพูดขึ้นมาคือ "ป่ารอยต่อ"
หลายคนสงสัยไหมครับว่า "ป่ารอยต่อ" หมายถึงอะไร
.
.
.
.
เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง เรื่องราวของ "รอยต่อป่า" ไม่ใช่ ป่ารอยต่อนะครับ
เรื่องนี้จริง ๆ แล้วมีผู้ร่วมกระบวนการใหญ่ ๆ ด้วยกันถึงสองเจ้า
สองเจ้านี้กินเส้นกันมาตลอด ไม่ค่อยจะลงรอยกันสักเท่าไหร ค่อยแก่งแย่งชิงผลประโยชน์กันตลอดเวลา ไม่มีใครยอมใคร สู้กันมาหลายสมัยตั้งแต่รุ่นลูกยันรุ่นหลาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และเรื่องราวนี้ไม่มีวี่แววว่าจบลงเลยสักนิด จนกระทั่งมี " สิ่งหนึ่งเข้า" ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่าง…
"ป๋าเบญ" ป๋าเบญเสี่ยใหญ่ที่คุมครึ่งหนึ่งของพื้นที่ มีสมุนด้วยกัน 5 คน คือ มะค่า แดง ประดู่ ชิงชัน ป๋าเบญเป็นคนชอบความชุ่มชื้น ชอบน้ำ พื้นที่ที่ป๋าเบญอยู่จึงมีความเขียวขจี
ป๋ามีพรรคพวกมากมาย เครือข่ายเยอะ
.
.
"ป๋าแดง" คุมพื้นที่อีกส่วน มีมือขวาชื่อว่า "ไอ้เต็ง" มือซ้ายชื่อว่า "ไอ้รัง" ป๋าแดงเป็นคนชอบความร้อน มีความสามารถอยู่ยงคงกระพัน ขาดน้ำได้นาน โดนไฟเผาก็ไม่ตาย อดถึกทน
มีพรรคพวกน้อยกว่าป๋าเบญแต่สมาชิกเเต่ละคนเรียกได้ว่า "แข็งแกร่ง"
"ป๋าเบญ"และ "ป๋าแดง" ต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในผืนป่า
ต่อสู้กันทั้งวันทั้งคืนตลอดเวลาไม่มีพัก เพื่อที่จะขยายพื้นที่ของตนเองให้ได้มากที่สุด
โดยการส่งลูกน้องเข้าไปในอาณาเขตของอีกฝ่าย
ศึกนี้กินเวลาอย่างยาวนานแต่จะส่วนหนึ่งเสียเปรียบฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอยู่เป็นช่วงเวลา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แต่ละฝ่ายสามารถช่วงชิงอาณาเขตของอีกฝ่ายได้
คือ สภาพแวดล้อม และ สภาพภูมิอากาศ
ต่างฝ่ายต่างเพรียงพร่ำเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน…
ในช่วงฤดูแล้ง ฝนไม่ค่อยตก น้ำขาดแคลน ทำให้ฝ่าย "ป๋าเบญ" อ่อนแรงจึงได้เป็นฝ่ายตั้งรับ ส่วนฝ่าย "ป๋าแดง" จะชิงความได้เปรียบในช่วงนี้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่แย่งชิงอาณาเขต
.
แต่ถ้าเมื่อใดฝนตกเป็นเวลานาน "ป๋าเบญ" จะฟื้นคืนพลังและไล่ "ป๋าแดง" กลับถิ่น ซ้ำยังเข้าไปบุกรุกพื้นที่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ "ป๋าแดง" อ่อนแอ
สองป๋า ตีกัน!!! ไม่เกิดความเสียหายแต่กลับได้ "ประโยชน์"
ใครจะไปคิดว่า…สงครามแย่งชิงพื้นที่จะสร้างประโยชน์ได้มากมายมหาศาล
เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของอีกฝ่าย กลับมีสมาชิกในพื้นที่นั้นได้ประโยชน์
ไม่ว่าจะเป็น ช้างป่า กระทิง เก้ง กวาง กระต่ายป่า เสือ ตลอดจนสมาชิกเล็ก ๆ อย่าง กบ เขียด เต่า นก ต่างได้รับผลประโยชน์จากการรบครั้งนี้
โดยเฉพาะในพื้นที่ "รอยต่อป่า" เป็นพื้นที่มีการรบกันมากที่สุด บริเวณนั้นจะมีลูกน้องของทั้งสองฝั่งปักหลักอยู่กันเต็มไปหมด เศษซากจากการสู้รบ(จากไฟป่า) พวกอินทรีย์วัตถุ จะกลายเป็นอาหารให้แก่สมาชิกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น บริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยอาหารการกิน ที่อุดมสมบูรณ์ สมาชิกต่างก็แวะเวียนมาบริเวณนี้กันยกใหญ่
รอยต่อป่า หรือที่เรียกว่า "Ecotone" เป็นช่วงรอยต่อของระบบนิเวศที่แตกต่างกัน
ในที่นี้คือ "ป่าเต็งรัง" และ "ป่าเบญจพรรณ" ซึ่งไม้ในป่าเต็งรังเป็นไม้ที่มีลักษณะทนแล้งได้สูง
มีเปลือกแข็งป้องกันไฟป่า เมื่อเวลาเกิดไฟป่าไฟจะไหม้เพียงเปลือกไม้เท่านั้น
ป่าเต็งรังจะมีลักษณะเป็นป่าโปร่งไม่รกทึบ
ส่วนป่าเบญพรรณจะเป็นป่าที่มีความชื้นมากกว่าป่าเต็งรัง
และมีไม้เศรษฐกิจอยู่ 5 ชนิดดังชื่อ"เบญจ"ที่แปลว่า 5 เบญจพรรณ
จึงแปลว่าป่าที่ประกอบด้วยไม้ 5 ชนิด ได้แก่ สัก มะค่า แดง ประดู่ และชิงชัน
กลไกของสองป่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ หากในป่ามีฝนตกชุกเป็นเวลานาน ดินจะเก็บความชื้นได้มาก ไฟป่าจึงไม่ค่อยเกิดทำให้ป่าเบญจพรรณเจริญเติบโตได้ดีจึงขยายอาณาเขตเข้าไปในป่าเต็งรัง ในทางกลับกันหากเกิดไฟป่าขึ้นบ่อยครั้งฝนไม่ตกเป็นเวลานานป่าเต็งรังก็จะเติบโตได้ดีกว่า
"รอยต่อป่า" เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง โดยมีป่าทั้งสองชนิดขึ้นอยู่บริเวณนี้สลับฟันปลากันเป็นแนว จึงเกิดความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทั้งหญ้าจากป่าเบญจพรรณ
และไม้จากป่าเต็งรัง เมื่อความหลากหลายสูง สัตว์กินพืช เช่น กวาง เก้ง หมูป่า
จึงลงมาหากินในบริเวณพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก เมื่อกวาง เก้ง และหมูป่า มาหากินในพื้นที่นี้
ผู้ล่าอย่างเสือ สุนัขจิ้งจอก จึงตามเฝ้าดักสัตว์เหล่านี้
แต่มนุษย์ผู้ต้องการความเจริญ กลับแบ่งแยกป่าออกเป็นสองฝั่งจากการตัดถนนผ่านป่าผ่านภูเขา แยกป่าออกจากกันทำให้รอยต่อป่าหายไป สัตว์ป่าต้องกลับเข้าไปอยู่ในป่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับมัน หรืออาหารไม่เพียง แต่มันก็ไม่อาจสามารถย้ายข้ามถิ่นฐานได้หรือทำได้ยาก เพราะเราได้แบ่งป่าออกสองฝั่งเสียแล้ว
.
อีกทั้งเหล่านายพรานก็ย่อมมาดักซุ่มอยู่บริเวณนี้เพื่อล่าสัตว์
ศึกแห่งศักดิ์ศรีของเจ้าแห่งป่าทั้ง 2 กำลังจบลงเพียงเพราะมนุษย์มือที่สามที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสตอนที่ป่าทั้งสองกำลังเพรียงพร่ำ จากนั้นก็เข้าบุกรุกทำลายสร้างอาณาเขต
จับจองพื้นที่เป็นของตัวเอง ขับไล่ทุกสิ่งในป่าจนหมดสิ้น…
เกร็ดความรู้ : วิธีสังเกตใบต้นเต็งกับต้นรัง
🍃ใบเต็ง จะเต็มใบ ปลายและโคนใบมน เนื้อใบหนา
🍂ใบรัง ปลายมน โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ
📌ท่องจำง่าย ๆ ว่า "เต็ง เต็ม รัง เว้า "
ทิ้งท้ายกันด้วย. ข้อคิดจากคนเข้าป่า : ธรรมชาติแข่งขันให้คุณ มนุษย์แข่งขันให้ตัวเอง
ขอบคุณนักอ่านทุกคนใน BD ผิดพลาดประการใดขออภัย
หากชอบกดไลค์ กดติดตาม ด้วยนะครับ 🙏
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด มาร่วมเป็น "ฅนอนุรักษ์" ด้วยกันนะครับ
เรียบเรียงโดย : เรื่องเล่าคนเข้าป่า
ติดตามเพจ FB ได้ที่ https://www.facebook.com/storyintotheforrest/
ติดตามเพจ BD ได้ที่ https://www.blockdit.com/intothejungle
ไฟป่ามีประโยชน์อย่างไร 👇👇
โฆษณา