1 มี.ค. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
"แม่ภา" ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมมาดาอำภา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นธิดาพระยาอินทรอากร (อิน - เจ้าสัวเตากะทะ) ชาวจีนฮกเกี้ยนแซ่หลิมหรือลิ้ม (林 - หลิน ในภาษาจีนกลาง) ซึ่งมีนิวาสสถานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านชุมชนชาวจีน ซึ่งในปัจจุบันคือที่ทำการธนาคารไทยพาณิชย์ ข้างกรมเจ้าท่า ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เจ้าคุณอินบิดาเจ้าจอมมารดาอำภานั้นท่านเป็นข้าหลวงเดิม ใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับราชการอยู่ในกรมท่าซ้าย และยังได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยคนแรก เล่าสืบกันมาในราชสกุลปราโมชว่าท่านร่ำรวยมากมายมหาศาล หุงข้าวเลี้ยงกุลีขนสินค้าลงเรือวันหนึ่งถึง ๗ กะทะใหญ่ ๆ เจ้าคุณอินจึงได้สมญานามว่า "เจ้าสัวเตากะทะ" พระยาอินทรอากรเป็นน้องขายของพระยาไกรโกษา (เริก ไกรฤกษ์) และเป็นญาติแซ่เดียวกับ ขุนพัฒนอากร (ฉ่ำ) ต้นสกุลพหลโยธิน ปู่ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ คือ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
เจ้าจอมมารดาอำภารับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นบาทบริจาริกาในพระองค์จนมีพระหน่อถวายรัชกาลที่ ๒ ถึง ๖ พระองค์ด้วยกัน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่เพียง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เหตุก็ด้วยว่าเรื่องราวที่จะได้เล่าต่อไปในเบื้องหน้านั้น ล้วนเป็นเรื่องราวที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พระนัดดา ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ได้รับทราบเรื่องราวมาโดยมุขปาฐะ และนำเรื่องราวที่เจ้านายในสายราชกุลปราโมชที่ทรงเล่าประทานนี้มาเขียนหนังสือเรื่องโครงกระดูกในตู้ เล่าเรื่องราวบรรพบุรุษทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดาเอาไว้ให้ได้อ่านกัน จึงขอกล่าวถึงแต่เพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เพียงพระองค์เดียวจากพระหน่อทั้ง ๖ พระองค์ ไถลลงข้างถนนเข้ารกเข้าพงจนเข่าถลอกเสียแล้ว ผมขอปีนขึ้นถนนมาเข้าเรื่องเจ้าจอมมารดาอำภาต่อนะครับ
ผมขอนำเอาความบางตอนจากหนังสือเรื่องโครงกระดูกในตู้นิพนธ์ของ พลตรี ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาให้ท่านได้อ่านกันว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเรียกเจ้าจอมมารดาอำภาว่า "แม่ภา" ทั้งที่เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม ใน รัชกาลที่ ๒ ต่างก็เป็นพระวิมาดา (แม่เลี้ยง) ของพระองค์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเรียกท่านใดว่าแม่ ทรงเรียกเพียงแต่ชื่อเฉย ๆ ซึ่งต่างจากเจ้าจอมมารดาอำภาที่ทรงเรียกว่า "แม่ภา" นับเป็นเพียงท่านเดียวที่ทรงเรียกอย่างนั้น ครั้นผมจะเขียนเล่าเองก็คงไม่ได้ความที่ชัดเจนเท่าที่คุณชายคึกฤทธิ์ท่านเขียนเอาไว้ จึงขอคัดความบางตอนมาให้อ่านดังนี้ ความว่า
"เจ้าจอมมารดาอำภานั้นถึงแม้ว่าพระยาอินทรอากร บิดาของท่านจะเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตาม แต่รู้สึกว่าท่านจะมีความเคารพนับถือและจงรักภักดีในทูลกระหม่อมใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษมาโดยตลอด เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ท่านก็ทำเครื่องเสวยส่งออกมาจากในวังให้ตั้งเครื่องเช้าเครื่องเพลเป็นครั้งคราวตลอดมามิได้ขาดถึงหน้าผลไม้ใด ๆ ท่านก็เลือกซื้อหาเอาแต่อย่างดีเอามาทำบุญถวายทูลกระหม่อมพระ พระองค์เจ้าปราโมชอันเป็นบุตรคนเล็กของท่านนั้น ท่านส่งมาถวายให้เป็นศิษย์วัดของทูลกระหม่อมพระที่วัดบวรฯ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้ผู้เขียนเรื่องนี้คุยเขื่องอยู่ได้เสมอว่าปู่ของตนเป็นลูกศิษย์วัดบวรฯ ในเมื่อมีผู้ถามว่าเพราะเหตุใดจึงบวชที่วัดบวรนิเวศ
ด้วยความจงรักภักดีอันแน่นแฟ้นที่เจ้าจอมมารดาอำภามีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดาอำภาว่า "แม่ภา" แต่เพียงคนเดียวในบรรดาเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ นับว่าทรงยกย่องเป็นพิเศษ ท่านผู้อื่นนั้นตรัสเรียกหรือตรัสถึงแต่นามเฉย ๆ มิได้ทรงใช้คำว่า แม่ นำหน้านาม
สมัยนี้เป็นสมัยที่ผู้มีทรัพย์ที่ต้องการจะบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นจำนวนมากเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะหรือตามพระราชอัธยาศัย เจ้าจอมมารดาอำภาดูเหมือนจะเป็นคนแรกที่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินในลักษณะเช่นนี้หรือใกล้เคียงกันนี้ ท่านปรารภกับพระองค์เจ้าหญิงชายบุตรท่านว่า "ในหลวงแผ่นดินนี้ (รัชกาลที่ ๔) ท่านยากจน ทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์และลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ ไม่มีเวลาที่จะสะสมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์ก็อัตคัด" เมื่อท่านปรารภดังนี้แล้วท่านก็รวบรวมเงินของท่านใส่ถุงตีตราครั้งละมาก ๆ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานรับไว้เพื่อเอาใจท่าน มิได้ทรงถือว่าท่านละลาบละล้วงล่วงเกินแต่อย่างใด"
ป.ล. ขอขอบคุณภาพเจ้าจอมมารดาอำภาจากวิกิพีเดีย
โฆษณา