8 มี.ค. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
"เจ้าคุณอ่ำผู้ทำการชักช้าและไม่ยอมให้ผู้ใดถวายความช่วยเหลือจนเป็นเหตุให้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวรรคต เมื่อคราวเรือพระประเทียบล่ม"
พระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ อมรานนท์) ข้าหลวงเดิม ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนาม และทรงตั้งกรมเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ โดยมีจารึกพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร สิริวัฒนราชกุมารสิงหนาม แลมีพระนามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณะ สุข พละ ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ"
ในคราวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงตั้งนายอ่ำมหาดเล็กในเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่เป็นปลัดกรม มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า "หมื่นวรราชบุตรารักษ์" ถือศักดินา ๖๐๐ ต่อมาในปี ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ขึ้นทรงกรมขุนและเปลี่ยนพระนามกรมเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" ในครั้งนั้น หมื่นวรราชบุตรารักษ ์(อ่ำ) คงบรรดาศักดิ์และถือศักดินาตามเดิม
2
เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จผ่านพิภพสืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกาธิราช ก็ทรงตั้งข้าหลวงเดิมเป็นข้าราชการตามธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่รัชกาลก่อน ๆ ครั้งนั้นทรงตั้งหมื่นวรราชบุตรารักษ์(อ่ำ) ปลัดกรม เป็น พระอินทรเทพบดีศรีสมุห เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย และต่อมาได้เป็น พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห เจ้ากรมพระตำรวจในขวา เจ้าคุณอ่ำผู้นี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปปลูกบ้านเรือนรักษาที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่บ้านเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) เพื่อเตรียมไว้สร้างวังพระราชทานรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระราชอนุชาทั้ง ๒ พระองค์ แต่ก็ยังมิทันได้สร้างวังจึงโปรดให้ข้าในกรมไปปลูกเรือนรักษาอยู่ ข้าในกรมผู้นั้นก็คือเจ้าคุณอ่ำ
ในปี ๒๔๒๓ เกิดเหตุการณ์เรือพระเทียบล่ม ทำให้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ สวรรคตและสิ้นพระชนม์ เหตุเพราะพระยามหามนตรี (อ่ำ) ทำชักช้าไม่ทันการ ไม่รีบให้ช่วยหงายเรือพระประเทียบ และไม่ยอมให้ใครช่วย ชาวบ้านจะช่วยก็ห้ามเสียเพราะกลัวจะผิดกฎมณเฑียรบาล และผิดที่ว่าห้ามผู้ชายแตะต้องพระวรกายเจ้านายฝ่ายใน อีกทั้งยังเท็จทูลว่าตัวนั้นดำน้ำลงไปงมพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอด้วยตนเอง เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้ว และถอดออกจากข้าราชการ และจำคุกไว้ถึง ๓ ปี
เมื่อเรื่องราวเนิ่นนานผ่านไปสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระเจ้าอยู่หัว ให้พระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องโทษเมื่อคราวเรือพระประเทียบล่มนั้นอยู่หลายหน จนเมื่อวันคล้ายวันสวรรคตครบ ๓ ปี ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี จึงทรงพระราชทานอภัยโทษแก่อ้ายอ่ำเป็นต้น และโปรดเกล้าฯให้กลับเข้ารับราชการเป็นที่ พระยาพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย
เมื่อก่อนถูกถอดออกจากราชการและจำคุกนั้น เจ้าคุณอ่ำเป็นพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา ๓๐๐๐ แต่เมื่อพ้นโทษและกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งก็ได้เป็นถึง พระยาพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย ถือศักดินา ๕๐๐๐
เจ้าคุณอ่ำเมื่อคราวลงท่านก็ลงจนน่าใจหาย จะว่ารอดตายและกลับมาได้ดีมากกว่าเดิมทั้งที่เคยต้องโทษจำคุกถึง ๓ ปี ก็เพราะว่าเป็นข้าหลวงเดิม ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นคงจะไม่ผิดนักกระมังครับ
โฆษณา