2 มี.ค. 2020 เวลา 15:59 • ไลฟ์สไตล์
บทที่ 4 ว่าด้วยค่าวิชาชีพทนาย : ตัดราคาสุดโหด เหมือนโกรธใครมา
ซีรีส์ : เรื่องจริงหลังสอบตั๋วทนาย ความลับที่ไม่มีใครบอกคุณ
2
ทนายความถือเป็นวิชาชีพเฉพาะทางเช่นเดียวกับ แพทย์ วิศวกร หรือผู้สอบบัญชี ค่าจ้างทนายนั้นเราเรียกกันเท่ๆ ว่า “ค่าวิชาชีพ” ซึ่งไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอน แต่เป็นเรื่องที่ทนายความแต่ละคนเป็นผู้เรียกจากผู้มาว่าจ้างเอง การเรียกค่าวิชาชีพนั้นทนายความมักพิจารณาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น ความยากง่ายของคดี ระยะทางในการไปศาล ระยะเวลาในการทำงาน ทุนทรัพย์ของแต่ละคดี บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและประสบการณ์ของทนายความคนนั้น ๆ ด้วย พูดกันง่ายๆ คือยิ่งดังก็ยิ่งราคาแพง
1
ด้วยความที่ทนายความเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน (เว้นทนายความที่มีสังกัด) การมีคนมาจ้างว่าความคือการมีรายได้ คือความอยู่รอด ยิ่งมีทนายความจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะทนายป้ายแดงซึ่งต้องการให้มีคนมาจ้างอยู่แล้วก็ยินดีและยอมที่จะรับค่าจ้างน้อยๆ แม้จะรู้ว่า เมื่อทำไปแล้วจะเข้าเนื้อหรือไม่เหลือเลยก็ตามเพื่อให้มีงานและประสบการณ์ในการทำคดี
มองผิวเผินก็ดูจะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้มีคดีความ แต่หากมองลึกลงไปการแข่งขันโดยไม่มีมาตรฐานมาควบคุมกำกับแบบนี้จะเป็นการทำลายทั้งผู้ประกอบอาชีพทนายความและประชาชนผู้มีคดี เพราะการที่ทนายความเรียกค่าวิชาชีพที่ต่ำเกินไปจนไม่พอเลี้ยงชีพ ทำให้ต้องรับงานมาก ๆ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาเท่าที่เราเคยพบก็เช่น การทิ้งงานทำให้คดีของลูกความเสียหายหรือล่าช้า
ทนายความบางคนใช้วิธีทยอยเรียกเก็บค่าวิชาชีพเป็นรอบ ๆ เมื่อไปศาล ทำให้ดูแล้วเหมือนจะจ่ายน้อย แต่ก็ใช้เทคนิคเพื่อให้ตนเองต้องไปศาลหลายๆ รอบ เคยมีลูกความของทนายท่านอื่นมาปรึกษาเราว่าทำไมทนายที่เขาว่าจ้างจึงประสบปัญหาถูกศาลให้กลับมาแก้คำฟ้องบ่อยมาก เมื่อสอบถามรายละเอียดจึงได้ทราบว่าเขาไปตกลงกับทนายว่าจะจ่ายค่าจ้างเป็นรายครั้ง ไปศาลครั้งหนึ่งแล้วกลับมาเบิก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทนายท่านนั้นอยากจะไปศาลบ่อยครั้งหรือทำให้คดีล่าช้า เพราะยิ่งไปศาลหลายครั้งก็จะได้กลับมาเบิกได้หลายๆครั้งยังไงล่ะ
สิ่งที่ทนายป้ายแดงจะต้องเจอคือการห้ำหั่นค่าวิชาชีพอย่างดุเดือด ชนิดที่ต้องตั้งคำถามว่าทำงานได้ไงด้วยเงินแค่นั้น ทนายคนหนึ่งเรียกค่าวิชาชีพไปห้าพัน ก็โปรดรู้ไว้เถิดว่ามีทนายอีกคนที่พร้อมจะเรียกตัดราคาลงเหลือสามหรือสองพัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าทนายป้ายแดงนั้นจะเลือกเดินทางไหน จะเลือกลงไปแข่งขันราคาที่แม้จะได้คดีเยอะ ๆ แต่ก็แทบจะไม่พอยาไส้ หรือเลือกที่จะรับคดีน้อยลงหน่อยแต่ได้งานที่มีคุณภาพด้วยค่าวิชาชีพที่เลี้ยงชีวิตตนเองให้มีคุณภาพได้ และสิ่งผู้ที่ต้องการว่าจ้างทนายความควรพิจารณาในการจ้างทนายคือความเป็นไปได้ในการที่ทนายความคนนั้นจะทำคดีให้เสร็จสมบูรณ์ได้ภายใต้ค่าจ้างที่ตกลงกัน ค่าจ้างที่ต่ำเกินไปอาจกระทบกับคุณภาพในการทำคดี ดังนั้น อย่าเลือกเพียงเพราะราคาถูก
มีทนายความหลายท่านที่เรารู้จัก ไม่ได้ทำอาชีพทนายความเพียงอย่างเดียว แต่มีอาชีพอื่นที่ทำรายได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะทนายความซึ่งเคยบอกไปแล้วว่าเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีสิ่งใดที่จะรับประกันว่าจะมีงานคดีความเข้ามาประจำสม่ำเสมอ จึงจำเป็นที่จะต้องมีอาชีพอื่นรองรับ เช่น ค้าขาย เป็นนักออกแบบ นักแปล หรือเป็นพนักงานประจำในบริษัทเอกชน ที่เมื่อมีคดีความก็ใช้วันลาเมื่อต้องไปศาล มีไม่น้อยที่ทำอาชีพอื่นเป็นอาชีพหลัก ส่วนงานทนายความเป็นอาชีพเสริม บางคนโชคดีมีทุนมากหน่อยก็เปิดสำนักงานทนายความของตนเองแล้ววิ่งหางานหรือรับงานคดีจากองค์กรต่าง ๆ เช่น จากธนาคารหรือไฟแนนซ์รถยนต์
2
การที่ทนายป้ายแดงสักคนจะสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการอาชีพทนายความได้อย่างมั่นคงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งเวลาและความทุ่มเทมากพอสมควร เคยมีหลายคนกล่าวว่าการเป็นทนายความต้องใช้เวลาถึงห้าปีกว่าจะยืนได้และไปรอด แต่เราไม่เคยเชื่อคำพูดนั้นนะ เพราะหากแค่ถือตั๋วไว้ห้าปีโดยไม่ขวนขวายหาประสบการณ์ทางวิชาชีพแล้วก็เปล่าประโยชน์ ส่วนการแข็งแรงยืนหยัดอยู่ได้นั้นเราว่าอยู่ที่ความทุ่มเท เอาจริงเอาจัง ไหวพริบปฏิภาณ และที่สำคัญคือกล้าที่จะเสี่ยงทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หลายคนสอบตั๋วทนายได้แต่ไม่กล้าที่จะขึ้นศาลว่าความ หากเป็นแบบนี้แล้วแม้อายุตั๋วจะมากสักกี่สิบปีจะมีความหมายอะไรล่ะ..จริงไหม
#สอบตั๋วทนาย
#ทนายความ
โฆษณา