2 มี.ค. 2020 เวลา 16:28 • ครอบครัว & เด็ก
วันนี้มาอัพเดตเพิ่มเติมหลังจากที่ลูกกลับไปโรงเรียนวันแรกว่าลูกโดน bully รึเปล่า
จากความพยายามของคุณครูที่สร้างความเข้าใจให้กับเด็กๆ ในห้องถึงความหมายของการกักกันตนเองมาตลอด 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าความพยายามของคุณครูได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต้องขอบคุณคุณครูที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากๆ ค่ะ
เราถามลูกสาวว่าวันนี้เพื่อนที่ห้องถามมั้ยว่าหายไปไหนมา เค้าก็ตอบว่าถามค่ะ หนูก็ตอบไปว่าเพราะคุณแม่ให้กักกันตัวเองที่บ้าน เราจึงถามเค้าต่อว่าแล้วเพื่อนๆ เล่นกับหนูเหมือนเดิมมั้ย เธอก็ตอบว่าเหมือนเดิม พร้อมทั้งสาธยายเจื้อยแจ้วให้ฟังว่าเล่นอะไรไปบ้าง
เราดีใจจริงๆ ที่ได้ยินแบบนี้
แต่นอกจากการ bully เรามองว่าก็ยังมีอีกประเด็นที่เกิดพร้อมๆ กัน คือ ความตระหนกตกใจจนกลายเป็นความหวาดกลัวเกินกว่าเหตุ
อาจจะเพราะอาจุมม่าหมายเลข 31 และอากงอาม่าที่ปกปิดการเดินทางไปฮอกไกโดต่อคุณหมอ บวกกับ social media ที่ทำให้เราสามารถเกาะสถานการณ์ในแต่ละประเทศแทบจะทุกนาที การรับข่าวสารที่มากเกินไปเหล่านี้มันกลับไปจุดประกายเกิดกระแสตื่นกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งความตื่นกลัวมากๆ เข้ามันกลับกลายเป็นความตื่นตระหนกโดยที่เราไม่รู้ตัว
source: pixabay/Alexas_Fotos
เมื่อพ่อแม่ตื่นตระหนกจนไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับลูกว่า "การกักกันคือความรับผิดชอบต่อสังคม" และ "กักกันไม่ใช่ติดเชื้อ" ลูกก็จะตื่นตระหนกและพกความหวาดระแวงต่อเพื่อนที่กักกันตัวเองไปด้วย ในที่สุดแล้วเด็กที่กักกันตัวเองจะถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและโดดเดี่ยว
และมันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการ bully แม้แต่น้อย...
ดังนั้น นอกจากคุณครูที่จะอธิบายให้เด็กๆ ฟังเรื่องของการกักกันตัวเองและความรับผิดชอบต่อสังคม เราคิดว่าที่บ้านก็น่าจะเป็นอีกแรงที่คอยช่วยเสริมสร้างพลังบวกเข้าแทนที่ความตื่นตระหนกนี้ไปด้วย
#และเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันนะคะ
ขอน้อมรับคำติชมและฝากกดไลค์กดติดตามด้วยนะคะ 😊 // ขอบคุณค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา