5 มี.ค. 2020 เวลา 03:17 • ข่าว
Coronavirus ยอดติดเชื้อพุ่งทะลุ 95,000 ราย นอกจีนระบาดหนัก ในขณะที่จีนติดเชื้อเพิ่มแค่ 160 ราย
ขณะนี้ไวรัสได้ระบาดในทั้งหมด 84 ประเทศทั่วโลกแล้ว !
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
ข้อมูลในปัจจุบัน
ยอดผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น : 95,334 ราย
เสียชีวิตแล้ว : 3,285 ราย
รักษาหายแล้ว : 53,641 ราย
จำนวนประเทศที่มีแพร่ระบาด : 84 ประเทศทั่วโลก
Source : gisanddata.maps.arcgis.com
ทำให้ในขณะนี้มีผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ทั้งสิ้น 38,408 ราย
โดย 31,989 ราย (83%) มีอาการไม่รุนแรง
และอีก 6,419 ราย (17%) มีอาการรุนแรงไปจนถึงสาหัส
ในเคสที่เสร็จสิ้นไปแล้วมีทั้งหมด 56,926 ราย
ซึ่ง 53,641 ราย (94%) รอดชีวิตจากการติดเชื้อ
และอีก 3,285 ราย (6%) เสียชีวิต
โดย 10 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดมีดังนี้
(ตัวเลขภายในวงเล็บคือจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน)
1. จีน 80,430 ราย (+160)
2. เกาหลีใต้ 5,621 ราย (+435)
3. อิตาลี 3,089 ราย (+587)
4. อิหร่าน 2,922 ราย (+586)
5. เรือ Diamond Princess 706 ราย (+0)
6. ญี่ปุ่น 331 ราย (+38)
7. ฝรั่งเคส 285 ราย (+73)
8. เยอรมนี 262 ราย (+59)
9. สเปน 228 ราย (+63)
10. สหรัฐฯ 158 ราย (+34)
ไทยผู้มีติดเชื้ออยู่อันดับที่ 21 ของโลกคือ 43 ราย (+0)
ยอดผู้เสียชีวิต 1 ราย
สถิติการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อกลับมาน่าเป็นห่วงหลังมีการระบาดหนักนอกประเทศจีน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะชะลอตัวลงแล้ว
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็ดูเหมือนอัตราการตายจะเพิ่มขึ้นอีกแล้ว หากมองโดยภาพรวมอาจพอกล่าวได้ว่า ความรุนแรงของการระบาดแทบไม่ลดไปจากวันแรก ๆ เลย
Source : Worldometers.info
อัตราการติดเชื้อนอกประเทศจีนนั้นน่าเป็นห่วงและดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับจีนที่ผ่านมา กลายเป็นว่าตอนนี้จีนเป็นประเทศแรกที่เผชิญวิกฤต และในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศแรกที่รับมือกับวิกฤตได้ (และอาจจะดีกว่าในหลาย ๆ ประเทศ)
สิ่งที่ทั่วโลกกำลังเป็นห่วงตอนนี้ก็คือการระบาดนอกประเทศจีน ซึ่งหากอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบนี้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ในอีกไม่ถึง 10 วันจะมีผู้ติดเชื้อในปัจจุบันภายนอกประเทศจีนมากกว่าภายในประเทศจีนแน่นอน
จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในทั่วโลกค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 กลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนหน้านี้
กราฟข้างบนแสดงให้เห็นชัด ๆ ถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการแพร่ระบาดนอกประเทศจีนในแต่ละวัน
Growth Factor ทั้งโดยรวมและภายนอกประเทศจีนกลับมาอยู่ในระดับที่มากกว่า 1 ตีความหมายได้ว่า "หากปล่อยไว้ตามธรรมชาติ อัตราการแพร่ระบาดจะเร็วขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป"
Source : Worldometers.info
อัตราผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากลดลงได้ไม่ถึง 1 อาทิตย์ นี่คือสิ่งที่การันตีว่า 84 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤต
Source : Worldometers.info
Growth Factor ของอัตราการเสียชีวิตรายวันก็อยู่สูงกว่า 1 เช่นกัน นั่นหมายความว่า "หากปล่อยไว้ตามธรรมชาติ อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้น"
Active Cases หรือยอดผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาในปัจจุบันทั่วโลกลดลงค่อนข้างชัดเจน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่สัดส่วนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็อยู่ภายในประเทศจีน กราฟนี้จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความฉุกเฉินในความเป็นจริงมากนัก
สัดส่วนของยอดผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนทั่วโลกในขณะนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 15.63% จากวันก่อนที่มีสัดส่วนแค่ 4.21%
เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน เป็น 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในตอนนี้ ทำให้ในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 78% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดภายนอกประเทศจีน
อัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากประเทศจีนเช่นกัน กราฟนี้จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้สักเท่าไหร่นัก
อีกเหตุผลหลักว่าทำไมไวรัสนี้ถึงมีอัตราการแพร่ระบาดสูงขนาดนี้ก็คือ ผู้ที่ป่วยโรคนี้ จะมีเพียง 17% เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงจนดูออก ส่วนอีก 83% ที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 อาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนหวัดธรรมดา ซึ่งจะเห็นได้จากกราฟว่า Serious และ Critical Cases ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นกลับมาเท่ากับอัตราการรักษาอีกแล้ว ตีความจากสถิตินี้ได้ว่า "การลดลงของผู้ติดเชื้อภายในประเทศจีนเท่ากับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อภายนอกประเทศจีน"
ดีหน่อยก็คือยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่แนวโน้มของอัตราการรอดชีวิตจะมากขึ้น และอัตราการเสียชีวิตจะลดลง โดยปัจจุบัน อัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 94.0.9% และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5.91% คิดจากเคสที่มีผลลัพธ์เสร็จสิ้นไปแล้ว
แต่ที่แย่หน่อยก็คือ "มันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีใครเสียชีวิตเพิ่มอีก" และไม่ได้แปลว่า "อัตราการเสียชีวิตในความเป็นจริงจะน้อยลง" เพราะการคำนวณตรงนี้เราต้องนำปัจจัยของอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นมาคิดด้วย
กราฟข้างบนเปรียบเทียบระหว่าง
1. ยอดผู้ติดเชื้อในจีน (สีส้ม)
2. ยอดผู้รอดชีวิต (สีเขียว)
3. ยอดผู้ติดเชื้อนอกจีน (สีเหลือง)
ลองสังเกตุตั้งแต่ช่วงวันที่ 18 ก.พ. 2563 เป็นต้นมา ยอดผู้ติดเชื้อนอกจีนเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างรวดเร็วเหลือเกินครับ และในส่วนของการวิเคราะห์คงจะมีเท่านี้ ในส่วนต่อไปจะพาไปอัพเดตสถานการณ์สำคัญทั่วโลกกันครับ
1. FED ลดดอกเบี้ย 0.5%
วันอังคารที่ 3 มี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% โดยให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ FED ต้องตัดสินใจใช้มาตราการบางอย่างโดยเร่งด่วน
การปรับลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินเมื่อวันอังคาร เกิดขึ้นก่อนที่การประชุมตามกำหนดการของ FED ในวันที่ 18 มี.ค. และถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยโดยไม่ต้องรอการประชุมเป็นครั้งแรกนับ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
สิ่งที่ตลาดตอบรับก็คือ การที่ดัชนี Dow Jones ของตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงทันทีกว่า 700 จุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่า การที่ FED ตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉินในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า FED มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบของ COVID-19
แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังไม่คลายความกังวลลง...
"นโยบายการเงินอาจไม่ช่วยเยียวยาผลกระทบของ COVID-19 แม้ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ แต่เมื่อการแพร่ระบาดเข้าสู่ช่วงวิกฤต ความไม่แน่นอนและความผันผวนก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง" Mike labella นักวิเคราะห์จากบริษัท QS Investors กล่าว
Peter C Kenny ผู้ก่อตั้งบริษัท Strategic board Solutions ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว ตลาดหุ้นมักจะขานรับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ครั้งนี้ ตลาดตั้งคำถามมากมายว่า … แล้วเฟดจะทำยังไงต่อ?”
Peter C Kenny
2. World Bank พร้อมสนับสนุนทุกประเทศ รับมือ COVID-19
ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกประเทศที่ประสบภัยจาก COVID-19 ในวงเงินเบื้องต้น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพและเศรษฐกิจ เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีกว่าเดิม การยกระดับการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ
David Malpass ประธานของ World Bank กล่าวว่า "เรากำลังทำงานเพื่อให้การตอบสนองที่รวดเร็วและยืดหยุ่นที่สุดตามความต้องการของทุกประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19"
"สิ่งนี้รวมถึงเงินทุนฉุกเฉิน การให้คำแนะนำด้านนโยบาย และการช่วยเหลือทางเทคนิค ที่พึ่งพาเครื่องมือและความเชี่ยวชาญของ World Bank และองค์กรในความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการรับมือกับวิกฤต"
โดยในแถลงการณ์ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า "World Bank มีส่วนร่วมกับสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบภัย"
David Malpass
3. Facebook ยินดีให้ WHO ลงโฆษณาเผยแพร่ข้อมูล COVID-19 ฟรี
Mark Zuckerberg เปิดเผยในวันนี้ว่า Facebook ยินดีให้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ใช้บริการโฆษณาของ Facebook ฟรี เพื่อให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และจะใช้มาตรการกำจัดข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัส
ผู้ใช้งาน Facebook ที่ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 จะเจอหน้าต่างที่ลิงก์ไปยังรายงานล่าสุดของ WHO และหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น และทา; Facebook จะลบข่าวปลอมหรือทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ และจะบล็อกโฆษณาของกลุ่มคนที่ต้องการฉวยโอกาส เช่น ผู้ขายสินค้าหรือบริการที่อ้างว่าสามารถรักษา COVID-19 ได้
Mark Zuckerberg
4. California ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วรัฐ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
หลังจากมีการติดเชื้อครั้งแรกโดยไม่ทราบสาเหตุใน California ล่าสุด Gavin Newsom ผู้ว่าการของ California ได้ประกาศเหตุฉุกเฉินทั่วทั้งรัฐเพื่อตอบสนองต่อ COVID-19 ซึ่งในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 53 รายทั่วทั้งรัฐ
Gavin Newsom กล่าวว่า "California กำลังปรับใช้ทุกระดับมาตรการของรัฐบาล เพื่อช่วยระบุผู้ติดเชื้อและชะลอการแพร่กระจายของ Coronavirus"
**ข้อสังเกต : California เป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ ลองคิดภาพว่ามีการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น จะส่งผลอะไรต่อสหรัฐฯ บ้าง ?
Gavin Newsom
ภูมิภาค Seattle ที่ยิ่งใหญ่นี้มีจำนวนผู้ป่วยที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่ากรณีของผู้ป่วยในพื้นที่ Seattle ส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมโยงกับการเดินทางหรือการสัมผัสกับคนที่อาจติดเชื้อในต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า COVID-19 ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการนำเข้ามาหรือไม่ก็เกิดจากการเพาะพันธุ์ในรัฐวอชิงตัน (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นคนกล่าว)
หน่วยงานด้านสุขภาพของ Seattle เรียกร้องให้มีมาตรการหลายอย่าง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมถึงการให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังพื้นฐาน
พวกเขายังเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความแออัดของการขนส่งสาธารณะและหลีกเลี่ยงการชุมนุมต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกา บรรลุข้อตกลงทั้งสองฝ่ายในการเรียกเก็บเงินฉุกเฉิน 8.3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือกองทุนในการพยายามป้องกันไวรัส ซึ่งคาดว่าวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้ประธานาธิบดี Donald Trump สามารถลงนามในข้อกฎหมาย
กว่า 3 พันล้านดอลลาร์จะอุทิศให้กับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงชุดทดสอบและการบำบัด ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่ได้รับการยืนยันและอนุมัติอย่างเป็นทางการสำหรับ COVID-19
Source : Reuters
5. ไทยประกาศมาตรการกักตัวผู้ป่วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ดังนี้
คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตรายว่าจะมีกี่ประเทศ และเมื่อประกาศดังกล่าวออกมาแล้ว ไทยจะมีการออกมาตรการควบคุมผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศดังกล่าวให้มีการ "กักกันตัวเอง" ทั้งผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยและนักเดินทางต่างชาติ
Source : Infoquest
สำหรับมาตรการควบคุม ขอความร่วมมือผู้เดินทาง หากมีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อยให้ประสานสถานพยาบาล เพื่อนำมาตรวจรักษา แยกกัก หรือกักกัน ตามเหมาะสม
ผู้มีภูมิลำเนาในไทยจะต้อง "กักกันตนเองในที่พัก 14 วัน" และปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในไทยจะต้อง "แสดงหลักฐานที่พัก" ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ตามตัวได้
ในกรณีของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ(ชาวต่างชาติ) จะต้องมีหลักฐานที่อยู่ที่ชัดเจน ให้ทางโรงแรมหรือสถานที่พัก มีหลักแหล่งจริงๆ ถึงจะสามารถติดตามตัวได้ หากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่พักได้ ก็จะส่งกลับไปประเทศต้นทาง
การเฝ้าระวังและการรายงานตัว ให้บันทึกอาการในระบบรายงานตัวจนครบ 14 วัน โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะเป็นผู้ติดตามอาการทุกวัน หรือหากพบว่าป่วยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 3 ชม. ผู้เดินทางจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใน 14 วันเองทั้งหมด ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ
ในส่วนของประชาชนทั่วไป ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย เมื่อต้องกักกันที่บ้านหลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน
6. กกร. ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ลงเหลือ 1.5-2.0%
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร. ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 ลงเหลือ 1.5-2.0% จากเดิมที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ที่ 2.0-2.5% ขณะที่ยังคงประมาณการส่งออกและเงินเฟ้อไว้เท่าเดิม
"เป็นครั้งแรกที่ กกร.มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ในทุกเดือนของไตรมาสแรก เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบไม่ได้เบาบางลง โดยคาดว่าปัญหา COVID-19 น่าจะคลี่คลายลงได้ในเดือน มิ.ย. 2563"
Source : Infoquest
ความเสียหายเรื่องผลกระทบจาก COVID-19 นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะยืดเยื้อเพียงใด หากควบคุมได้เร็ว และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้น
เบื้องต้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้นมีผลกระทบแตกต่างกันไป หากเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกับจีนก็ได้ผลดี แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดหรือวัตถุดิบจากจีนก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้ กกร. คาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการทั้งด้านการคลังและด้านการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการรับมืออย่างเพียงพอสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันที่ 6 มี.ค.นี้ เป็นครั้งแรกที่มีตัวแทน กกร.เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะได้เสนอความเห็นของภาคเอกชนให้รัฐบาลได้โดยตรง
นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงทิศทางของดอกเบี้ยว่า "การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่สามารถพิจารณาจากปัจจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะการลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ"
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา