8 มี.ค. 2020 เวลา 13:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรามีความหวังเพียงใดกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 ?
เรามีความหวังเพียงใดกับการค้นหาวิธีรักษา COVID-19 : pixabay
ถ้าใครที่ตามข่าวการระบาดของ COVID-19 จะพบว่าเราแทบจะมีข่าวร้ายรายวันกันเลยทีเดียวเชียวครับ...ไหนจะยอดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตที่ยังไม่มีทีท่าว่าแนวโน้มจะลดลง นอกจากนี้ยังมีการรายงานความเก่งกาจของเจ้าไวรัสตัวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพบว่าอาจจะเข้าไปมีผลต่อสมองหรือระบบประสาทได้ ทั้งยังพบหลักฐานการกลายพันธุ์ต่างๆของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่นี้ที่อาจทำให้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้น...
แค่คิดก็เริ่มเหนื่อยและท้อใจกันแล้วใช่มั้ยครับ แต่ยังก่อนครับทุกอย่างต้องมีทางออก มนุษย์เราไม่ยอมแพ้ง่ายๆแน่นอนครับ เช่นเดียวกับโรคระบาดในอดีตที่ผ่านมา ที่สุดท้ายเราสามารถค้นหายาหรือวิธีการรักษามาต่อกรกับไวรัสก่อโรคเหล่านี้ได้
แล้วสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้หละ ?
ผมลองรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาต่างๆที่พอจะสืบค้น ซึ่งอาจจะมีศัพท์ทางวิชาการบ้างแต่พยายามจะทำให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด มาเรียบเรียงให้ผู้ที่สนใจลองตามกันดูดังนี้ครับ
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสทำได้ 2 ทางด้วยกัน คือการจำกัดวงของการระบาดและการทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นครับ
1. ลดการระบาดโดยจำกัดวงให้แคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละประเทศพยายามทำมาโดยตลอดครับ แล้วมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยแต่ละรายตามอาการและความรุนแรงของโรคมาก-น้อยแตกต่างกัน โดยที่ยาต้านไวรัสมีบทบาทสำคัญในการลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงครับ แต่ทั้งนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสสำหรับทุกคนเพราะหากผู้ป่วยที่อาการไม่ได้รุนแรงมาก เขาก็มีโอกาสที่สามารถหายได้เองโดยอาศัยระบบภูมิคุ้มกันนั่นเองครับ
ยาต้านไวรัส : จะใช้หวังผลควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโดยตรง
1.1 Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) ชื่อรหัสในงานวิจัย T-705
แรกเริ่มเป็นยาที่พัฒนาโดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โตยามะ เคมิคอล (Toyama chemical) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟูจิฟิล์ม ผู้ผลิตฟิล์มรายใหญ่นั่นเองครับ ยานี้ได้รับการรับรองในปี 2014 สำหรับรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ต่อมามี การนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม (RNA virus) เช่น SARS MERS เป็นต้น ซึ่งก็พบว่าให้ผลการรักษาที่ดี โดยที่กลไกหลักคือตัวยาจะไปยับยั้งกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมสำหรับการเพิ่มจำนวนของตัวไวรัส ผลของการยับยั้งทำให้ลดความรุนแรงของโรคได้ครับ ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงมีการนำมาทดลองใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เนื่องจากเป็นโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกับ SARS และ MERS ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดี หลังจากได้รับยา 3-4 วัน กลุ่มที่ได้รับ Favipiravir มีระดับสารพันธุกรรมของไวรัสลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มผุ้ป่วยที่ไม่ได้รับยานี้ อีกทั้งอาการของผู้ป่วยก็ดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านได้ จีนจึงได้รับรองยานี้เป็นยาตัวแรกสำหรับใช้รักษา COVID-19
Favipiravir จะไปยับยั้งเอนไซม์ RdRp ทำให้กระบวนการต่อสายพันธุกรรมของไวรัสสิ้นสุดลง : https://doi.org/10.1007/978-981-13-9562-8_15
1.2 Remdesivir (เรมเดซิเวียร์) ชื่อรหัสในงานวิจัย GS-5734™
เป็นยาจากฝั่งอเมริกากันบ้างครับ โดยบริษัทกิเลอาด (Gilead) ผู้ผลิตยาต้านไวรัส HIV รายใหญ่ของโลก ในอดีตยานี้เคยใช้สำหรับต้านโคโรนาไวรัสที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค Ebola,SARS และ MERS กลไกของยาไม่ต่างจาก Favipiravir คือตัวยาจะไปรบกวนการสร้างสารพันธุกรรม ทำให้สายพันธุกรรมสั้นลง ซึ่งผลสุดท้ายก็คือจะลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสเหล่านี้ได้ในที่สุด กลไกดังกล่าวทำให้ยาต้านไวรัสตัวนี้มีประสิทธิภาพต่อไวรัสค่อนข้างหลากหลายชนิด ทำให้นักวิจัยคาดว่ายาดังกล่าวน่าจะให้ผลที่ดีกับผู้ป่วย COVID-19
โดยที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระยะที่ 3 (Phase3) คือการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาในกลุ่มตัวอย่างที่ประมาณ 1,000 คนครับ ซึ่งหากยามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่น่าพึงพอใจ จะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา จากนั้นจึงจะสามารถผลิตยาออกมาใช้กับผู้ป่วยอื่นๆได้ต่อไป
Remdesivir อยู่ในขั้นตอนการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย : aidsinfo.nih.gov
...การศึกษาของจีน...
มี 2 งานวิจัยที่เริ่มทำการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาครับ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในจีนที่เป็น COVID-19 แบ่งเป็น จำนวน 308 คน ในการศึกษาของผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับปานกลาง และ 453 คน สำหรับการศึกษาที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง
กลุ่มทดลองแต่ละการศึกษาจะถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มซึ่งต้องมีลักษณะทั่วไป เช่น เพศ ช่วงอายุ ความรุนแรงอาการป่วย ต่างๆไม่แตกต่างกันเพื่อให้การสรุปผลสามารถบอกได้ว่าผลการรักษานั้นเกิดจากยาที่ผู้ป่วยได้รับไปจริงๆ วิธีนี้เรียกว่า Randomized controlled trial (RCT)
รูปแบบของการทำ RCT ซึ่งเป็นวิธีที่การวิจัยได้รับการยอมรับในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาหรือการรักษาใหม่ๆ : http://prehospitalresearch.eu/
โดยกลุ่มหนึ่งจะได้รับ Remdesivir ขนาด 200 mg ทางหลอดเลือดดำในวันที่ 1 หลังจากนั้นจะได้รับยาวันละ 100 mg ต่อเนื่องกันไปอีกจนครบ 10 วัน ขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบจะได้รับเพียงยาหลอก (Placebo) วัดผลในเรื่องของระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการป่วยดีขึ้น, การได้ออกจากโรงพยาบาล เป็นต้น
คาดว่าจะสามารถสรุปผลการวิจัยอย่างเร็วที่สุดได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมข้างหน้านี้ครับ....
...การศึกษาของอเมริกา...
มี 2 งานวิจัยด้วยกันครับ
การศึกษาแรกได้รับการสนับสนุนจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ National Institute of Allergy and Infectious Disease (NIAID) ซึ่งตัวยาที่ใช้วิจัยได้รับบริจาคมาจากบริษัทยา Gilead มีการคัดกลุ่มผู้ป่วยจากหลายแหล่งได้แก่ ในสหรัฐเองเช่น Nebraska, Washington ที่เริ่มคัดคนเข้าการศึกษาแล้วช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมไปถึง Texas, Maryland และ Seoul ประเทศเกาหลีใต้ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยที่คาดว่าจะใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 394 คน
สูตรยาและระยะเวลาที่ทำการให้ยาเป็นแบบในงานวิจัยของจีน โดยที่เราน่าจะได้ทราบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมครับ
อีกการศึกษาทำขึ้นตามกันมาติดๆครับ เพื่อเปรียบเทียบหาระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย COVID-19 แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มครับ
กลุ่มแรกจะได้รับ Remdesivir 200 mg ในวันแรกและจากนั้น 100 mg ต่อเนื่องไปจนครบ 5 วัน ขณะที่กลุ่มที่สองจะได้ยาต่อจนถึง 10 วัน จากนั้นก็จะติดตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อครบ 14 วันตั้งแต่เริ่มมานอนที่โรงพยาบาล คาดว่าจะได้ข้อสรุปในราวๆเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ครับ
1.3 Lopinavir/ritonavir (โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์)
ยานี้เราน่าจะคุ้นเคยที่สุดครับ ชื่อการค้าคือ Kaletra (คาเลตตร้า) ปัจจุบันใช้เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นยาที่ทางไทยเรานำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 อาการหนักที่โรงพยาบาลราชวิถีแล้วพบว่าได้ผลดี คนไข้หายขาดจากโรคได้ในที่สุดซึ่งก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเลยครับ
กลไกของยาจะไปยับยั้งเอนไซม์ Protease ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยในการตัดชิ้นส่วนของสายโปรตีนยาวๆที่ไวรัสนั้นสร้างขึ้นให้สั้นลง จนสามารถออกจากเซลล์ที่มันมาฝังตัวได้ แล้วไปติดต่อสู่เซลล์อื่นๆต่อไป การที่ยาไปยับยั้งทำให้ไวรัสไม่สามารถไปแพร่กระจายต่อๆไปได้ครับ สุดท้ายมันก็จะตายไปในที่สุด
Lopinavir จะยับยั้ง Protease ทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ (ลูกศรสีม่วง) : Lenard Little / https://slideplayer.com
ด้านงานวิจัยเกี่ยวกับยานี้ค่อนข้างจะหลากหลายครับ ซึ่งนิยมนำไปใช้ร่วมกับยาอื่นๆ เช่น Chloroquine (คลอโรควิน) Oseltamivir (โอเซลทามิเวียร์) ที่ซึ่งเป็นสูตรยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี
แต่เนื่องด้วย Lopinavir/ritonavir เป็นยาที่นิยมใช้สำหรับผู้ป่วยเอชไอวีกรณีที่มีการดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรหลัก การที่เราจะนำยานี้มาใช้มากขึ้นในผู้ป่วย COVID-19 อาจทำให้ไวรัสพัฒนาการเกิดภาวะดื้อต่อยาได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผู้ป่วยเอชไอวีจะเสียโอกาสในการได้รับยานี้ไป ทำให้ทางเลือกในการรักษาน้อยลงไปอีกครับ
มาถึงตรงนี้เราพอจะเห็นภาพคร่าวๆแล้วนะครับว่า ยาต้านไวรัสที่มีการใช้และทำการศึกษาอยู่ขณะนี้ บางชนิดเริ่มมาซักระยะแล้ว อย่างเร็วที่สุดสำหรับนำมาใช้กับผู้ป่วย COVID-19 ทั่วไปได้นั้นก็คือช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งขณะนี้เรามียาเพียงชนิดเดียวคือ Favipiravir ที่ได้รับรองจากทางการจีนครับ
สำหรับวิธีอีกที่หนึ่งที่จะช่วยให้การระบาดลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้น....
ผมขอต่อในตอนถัดไปนะครับ ด้วยเพราะเริ่มจะยาวมากเกินไปแล้ว...
ขอบคุณที่สนใจและติดตามอ่านมาจนถึงตรงนี้นะครับ
- 08/03/2563 -
....ณ ห้วงเวลาหนึ่งที่โลกกำลังหาวิธีต่อกรกับ COVD-19....
สามารถติชมแนะนำเพิ่มเติมได้ใน comment เลยครับ
หากคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์หรืออยากให้กำลังใจในการเขียนต่อฝากกด Like กด Share ได้เลยนะครับ
References :
โฆษณา