6 มี.ค. 2020 เวลา 13:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ที่มาของถุงพลาสติกและทำไมเราถึงต้องเลิกใช้ถุงพลาสติก/โดยเดอะฟอร์เรสต์แก๊ง
.
ปี 2020 เป็นปีแรกที่ห้างร้านจำนวนมากยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก ถือเป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าพลาสติกมาจากไหน และทำไมการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกถึงดีต่อสิ่งแวดล้อมวันนี้เดอะฟอร์เรสต์ แก๊งจะมาเล่าให้ฟัง
.
ถุงพลาสติกมาจากไหน?
ที่มาของถุงพลาสติกนั้นต้องเริ่มมาจากเม็ดพลาสติก ซึ่งเม็ดพลาสติกได้มาจากสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีขนาดเล็กซึ่งได้มาจากขั้นตอนการกลั่นลำดับส่วนของน้ำมันดิบ และนำมาทำปฎิกิริยากันจนได้สายยาวที่เรียกว่าโพลิเมอร์ โดยโพลิเมอร์แต่ละชนิดก็จะสังเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบที่เริ่มต้นแตกต่างกันไป โดยเม็ดพลาสติกแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท แต่ที่นำมาทำถุงพลาสติกที่เราใช้กันนั้นคือ เม็ดพลาสติกประเภท PE ( polyethylene)
เมื่อได้เม็ดพลาสติกแล้วจึงนำมาเข้าเครื่องเป่าถุงพลาสติกโดยเครื่องเป่าถุงพลาสติกจะทำการหล่อเม็ดพลาสติกโดยใช้ความร้อนในแม่แบบรีด เม็ดพลาสติกที่หลอมเหลวจะถูกอัดผ่านแม่แบบจากนั้นจะเป่าอากาศเข้าไปในช่องอากาศให้พลาสติดพองตัวตามขนาดที่ต้องการ ชิ้นงานที่ได้จะมีลักษณะเป็นหลอดพลาสติกขนาดใหญ่ ซึ่งจะถูกส่งผ่านลูกกลิ้งที่มีความเรียบสนิทอีกครั้งเพื่อรีดพลาสติกให้อยู่ในลักษณะแบน ชิ้นงานที่ออกมาจะมีลักษณะแบนและม้วนไว้เพื่อรอการพิมพ์หรือตัดเย็บต่อไป เราก็จะได้ถุงพลาสติกที่เราใช้กันทุกวันนี้
.
พลาสติกส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างทำไมเราจึงควรเลิกใช้ ?
การผลิตถุงพลาสติก 1 ใบปล่อยคาร์บอนประมาณ 0.2 กิโลกรัม ถ้า 1 วันใช้ถุงพลาสติก 5 ใบเท่ากับปล่อยคาร์บอน 1 กิโลกรัม ต่อวันและเท่ากับ 365 กิโลกรัมต่อปี โดยประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึงปีละ 1.9 ล้านตัน ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
เป็นอันตรายต่อทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำจำนวนมาก เราจะได้เห็นข่าวมีสัตว์จำนวนมากตายเพราะกินถุงพลาสติกอย่างกรณีล่าสุดก็คือน้องพะยูนมาเรียมที่กินถุงพลาสติกเข้าไป โดยในโลกเรานี้ ทุก 1 ตารางไมล์จะมีถุงพลาสติก 46,000 ใบลอยในมหาสมุทรส่งผลให้แต่ละปี มีนกทะเลตาย 1 ล้านตัวและสัตว์ทะเลตาย 1แสนตัวและปลาตายอีกจำนวนมาก
ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นแก๊สพิษจากการเผาถุงพลาสติกหรือกรณีการกินปลาที่มีไมโครพลาสติกจำนวนมาก โดยมีรายงานว่าคนไทยอาจกินไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัวโดยมีปริมาณไมโครพลาสติกที่กินเข้าไปต่อปีเทียบเท่าบัตรเครดิต 1 ใบ
.
การย่อยสลายของพลาสติกใช้เวลานานมากโดยใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 450 ปีซึ่งเท่ากับหลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว ปี 2020 จึงเป็นปีที่ดีที่เราจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะนอกจากประเทศไทยเราแล้วประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นวาระสำคัญของโลกเราเพราะถ้าเราไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในตอนนี้โลกเราอาจจะถึงจุดที่หวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกไม่ได้แล้ว จะมีประโยชน์อะไรถ้าโลกเราพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแต่ในโลกเต็มไปด้วยอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย ดินเสื่อมโทรมสุดท้ายปัญหาทั้งหมดจะย้อนกลับมาสู่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์อย่างเราด้วย
โฆษณา