9 มี.ค. 2020 เวลา 04:21 • ความคิดเห็น
ครบรอบ 104 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
หากกล่าวถึงชื่อ 'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักเขาในฐานะผู้ว่าการคนที่ 7 ของธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้วางรากฐานทางเศรษฐกิจไทยคนหนึ่ง แต่ในมุมมองของเด็กธรรมศาสตร์อย่างผม เขาเป็นอาจารย์ที่น่าเคารพนับถือมาก แม้จะไม่เคยเรียนกับเขาก็ตาม
เขาเกิดในครอบครัวชาวจีนที่มีฐานะไม่ร่ำรวยนัก เขาจึงต้องดิ้นรนเพื่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต กระทั่งอาจารย์ป๋วยสำเร็จการศึกษา เป็นศิษย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมชื่อ 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' และต่อมาสอบชิงทุนรัฐบาล ได้ไปศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science เขาเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่นเสมอ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เขากลับมารับข้าราชการที่ไทย แม้จะมีบริษัทเอกชนที่เสนอเงินเดือนสูง ๆ ให้ แต่อาจารย์ก็ยืนยันคำเดิมว่า เขาจะกลับมารับข้าราชการ ด้วยเหตุผลหนักแน่นว่า "ตนเองนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย" จะเห็นได้ว่า เขาเป็นผู้ที่ยอมอุทิศตนให้ชาวไทย แม้จะมีข้อเสนออื่นที่ดีกว่า แต่เขาก็ไม่รับมัน และยืนหยัดจะทำสิ่งที่ได้พัฒนาประเทศไทย นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่ผมประทับใจในตัวอาจารย์
ส่วนอีกเหตุผลที่ทำให้ผมปลาบปลื้มอาจารย์ คือ แม้เขาจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานและดำรงตำแหน่งใหญ่โต แต่อาจารย์ก็ประพฤติตัวติดดิน ใช้ชีวิตเรียบง่าย ชอบสวมกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย แม้ก่อนจะเสียชีวิต อาจารย์ยังคงยืนหยัดความติดดิน เขากล่าวว่า “ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป” อีกทั้งยังยืนหยัดเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวไทย ไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย
ส่วนผลงานด้านการศึกษาที่เป็นที่ประจักษ์ของอาจารย์ เมื่อพ.ศ. 2507 อาจารย์เข้ารับตำแหน่งคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้น มีอาจารย์เพียง 4 คนในคณะ เขาจึงเร่งรับอาจารย์ โดยรับสมัครนักศึกษารุ่นใหม่ แล้วส่งไปเรียนเมืองนอก เพื่อกลับมาพัฒนาวงการเศรษฐศาสตร์ จนคณะมีอาจารย์กว่าร้อยคนใน 10 ปี กระทั่งพ.ศ. 2516 อาจารย์ป๋วยได้ดำรงตำแหน่งคณบดี มหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ ต่อจากอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ และได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผมอยากทิ้งข้อความที่อาจารย์เคยกล่าวไว้ในจดหมายที่เขาเขียนถึงอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลว่า "ประชาธิปไตย เสรีภาพของประชาชน ความสันติสุขและผาสุกของประชาชน เป็นสิ่งที่ผมปรารถนา" ข้อความนี้ประทับใจผมมาก แม้จะเป็นคำเก่า ๆ แต่กลับทรงพลังเหลือเกิน หากลองมองไปที่การเมืองไทยในยุคนี้ ที่เสรีภาพของปวงประชาถูกลิดรอนและประชาธิปไตยกำลังเสื่อมถอย
โฆษณา