9 มี.ค. 2020 เวลา 12:45 • ธุรกิจ
Insight บทวิเคราะห์เชิงลึก : สงครามราคาน้ำมัน...ชนวนที่ 2 ของวิกฤตได้ถูกจุดขึ้นแล้ว
จากข่าวใหญ่ ๆ เมื่อเช้านี้เราจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงตัวเลขต่าง ๆ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ Coronavirus ราคาหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ
แต่ประเด็นที่ World Maker อยากจะ Focus ในตอนนี้ก็คือ "น้ำมัน" โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจที่สุดคือ "บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน" อาจเป็นเหยื่อรายใหญ่ที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนี้ !!
1
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
Breaking News : ราคาน้ำมันร่วงหนักต่อเนื่องอีก 10 % จากเมื่อเช้า ทำให้โดยรวมในวันนี้ร่วงแล้วประมาณ 30%
Session 1 : ซาอุฯ เปิดสงครามครั้งนี้มีความหมายหลายอย่าง
เหตุการณ์นั้นเริ่มมาจากการที่กลุ่ม OPEC+ มีความเห็นตรงกันที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน และกำลังรอดูความเห็นจากทางรัสเซีย
1
แต่แล้วรัสเซียก็เห็นต่าง และได้จุดประกายสิ่งที่อาจกลายเป็นสงครามราคาน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้
1
Vladimir Putin ประธานาธิบดีของรัสเซียประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผานมาว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันมีความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจรัสเซียแล้ว โดยเขากล่าวเพิ่มเติมว่า รัสเซียมีเครื่องมือในการตอบสนองต่อผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ใด ๆ จากการแพร่กระจายของ Coronavirus ในบรรยากาศทางการเงินทั่วโลก (กล่าวคือพี่แกไม่กลัว และไม่เดือดร้อนนั่นแหละ)
ข้อสังเกตุ : ในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในรัสเซียอยู่ที่ 17 คน และไม่มีการระบาดหนัก ข้อมูลตรงส่วนนี้จึงสมเหตุสมผลว่าทำไมรัสเซียถึงชิวได้ขนาดนั้น
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของรัสเซียครั้งนี้คือการตอบโต้ผู้ผลิตหินน้ำมันของสหรัฐฯ (U.S. Shale Producer) และเป็นการโจมตีสหรัฐฯ ที่เคยขัดขวางประเทศอื่นไม่ให้พัฒนาเศรษฐกิจ
ข้อควรรู้ 1 : สหรัฐฯ เคยประกาศคว่ำบาตรการโครงการท่อก๊าชของรัสเซีย
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่เชื่อมระหว่างรัสเซีย-เยอรมนี และโครงการท่อส่งก๊าซ TurkStream ที่เชื่อมระหว่างรัสเซีย-ตุรกี
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในกฎหมายหมายจัดการอำนาจด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญคือการคว่ำบาตรบริษัทต่าง ๆ ที่ร่วมลงทุนในโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และ TurkStream มูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่พร้อมจะเปิดใช้งานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่งผลให้บรรดาชาติในสภาพยุโรปนำโดยเยอรมัน รวมถึงรัสเซียแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการคว่ำบาตรครั้งนั้น
1
มาตรการคว่ำบาตรโครงการท่อส่งก๊าซดังกล่าวบรรจุอยู่ในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ประจำปี 2563
เหตุผลที่สหรัฐฯ คัดค้านการวางท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ใต้ทะเลบอลติก เนื่องจากวิตกว่าท่อส่งก๊าซใหม่อาจเป็นเครื่องมือที่รัสเซียใช้กดดันประเทศเพื่อนบ้านทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น เพราะรัสเซียจะสามารถหยุดการส่งก๊าซให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาขัดแย้งกันได้โดยที่ไม่กระทบต่อการส่งพลังงานไปยังยุโรปตะวันตก จากเดิมที่ต้องขนส่งก๊าซผ่านท่อในยูเครน
Nord Stream 2 มีระยะทางทั้งหมด 1,230 ก.ม. มีกำหนดจะเริ่มปฏิบัติการช่วงกลางปี 2020 ขณะที่ TurkStream มีท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่ง 2 ท่อที่มีความยาว 930 ก.ม. มีกำหนดเปิดดำเนินการปลายปี 2562 และเป็นที่คาดว่าจะเชื่อมต่อก๊าซสำรองของรัสเซียกับบัลแกเรีย เซอร์เบีย และอิตาลี ในอนาคตด้วย
2
ผลจากการที่ไม่สามารถจูงใจรัสเซียให้ร่วมกันพยุงราคาน้ำมันได้ ทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ร่วงราว 10%
"ผมอยากเน้นย้ำว่าราคาน้ำมันของรัสเซียเมื่อเทียบกับงบประมาณและเศรษฐกิจของเราในตอนนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้" Putin กล่าวในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ด้านพลังงานของรัสเซีย
ซาอุดิอาระเบียออกมาตรการตอบโต้ในทันที โดยการประกาศที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้ลง โดยจะเพิ่มให้ถึงระดับ 10 ล้านบาร์เรล/วัน และอาจพุ่งไปถึง 12 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน การเพิ่มขึ้นดังกล่าวคิดเป็นมากกว่า 3% ของการผลิตน้ำมันในซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (ซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าพวกเขาสามารถสูบได้มากถึง 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน)
นอกจากนี้ยังให้ Saudi Aramco บริษัทรัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศ ปรับลดราคาขายน้ำมันดิบทั่วโลกลง โดยอาจลดมากถึง 6-8 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข้อควรรู้ 2 : "Saudi Aramco" คือบริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในโลก
หลายคนคิดว่าบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก คือบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Apple, Amazon หรือแม้แต่ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น !! บริษัทที่มีกำไรสูงที่สุดกลับเป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานคือ Saudi Aramco
หากพูดถึงบริษัทด้านพลังงานแล้ว หลายคนคงจะรู้จัก Exxon Mobil , BP และ Shell แต่อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของ Saudi Aramco ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากบริษัทแห่งนึ้มีผู้ถือหุ้น 100% เป็นรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย
และแม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลกำไรสูงกว่าบริษัทพลังงานทั้งหลายแห่งบนโลกรวมกัน แต่บริษัทแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีความลับมากมาย ภายใต้ผู้ถือครองตัวจริงซึ่งก็คือราชวงศ์ Al-Saud (The House of Saud)
รู้ไว้ใช่ว่า : The House of Saud เป็นหนึ่งในตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเงินที่สุดในโลก ซึ่งเคยมีการกล่าวถึงในแนวของ "ทฤษฎสมคบคิด" ว่าเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังระบบการเงินโลก และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ของ "Illuminati" นอกจากนั้นยังมีตระกูล Rothschild, Rockyfeller และอื่น ๆ อีกมากมาย
Souce : Finnomena.com
จากการเปิดเผยของ Moody's Investors Service หน่วยงานวิจัยด้านการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่า Saudi Aramco ทำกำไรตลอดปี 2561 สูงถึง 1.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 3 ล้านล้านบาท) ขณะที่บางรายงานระบุว่าอาจสูงถึง 3.55 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Apple Inc. ที่มีกำไรเป็นอันดับสองในปี 2561 คือ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เราจะพบว่า Saudi Aramco ทำกำไรได้มากกว่า Apple ประมาณ 2 เท่า !
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2561 Saudi Aramco มีรายได้มากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ทั้ง J.P. Morgan Chase, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Facebook และ Exxon Mobil รวมกันเสียอีก
รายงานของ Bloomberg เมื่อปี 2561 ระบุว่า Saudi Aramco นอกจากจะเป็นบริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นบริษัทที่มีแหล่งสำรองน้ำมันดิบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกถึง 3 แสนล้านบาร์เรล และเป็นบริษัทที่สามารถผลิตน้ำมันรายวันได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ส่วนในปี 2562 ที่ผ่านมานั้นพบว่า Saudi Aramco ก็ยังครองแชมป์อันดับ 1 โดยทำไรมากกว่า Apple ถึง 1.8 เท่าเลยทีเดียว ซึ่ง 10 บริษัทที่มีผลกำไรสูงสุดในปี 2562 มีดังนี้
1. Saudi Aramco - $110.9 billion
2. Apple - $59.5 billion
3. Industrial & Commercial Bank of China - $45 billion
4. Samsung Electronics - $39.8 billion
5. China Construction Bank - $38.4 billion
6. JPMorgan Chase & Co. - $32.4 billion
7. Alphabet - $30.7 billion
8. Agricultural Bank of China - $30.6 billion
9. Bank of America Corp. - $28.1 billion
10. Bank of China - $27.2 billion
Source : visualcapitalist.com
ราคาน้ำมันในขณะนี้ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่มกราคม 2534 ในช่วงสงครามอ่าว และเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 2 ที่เคยถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และเป็นการปรับลดราคาลงอย่างเป็นทางการมากที่สุดในรอบ 20 ปี
ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารรายใหญ่อย่าง Morgan Stanley และ Goldman Sachs ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ Demand ทั่วโลกลง
Morgan Morgan คาดการณ์ว่าจีนจะไม่มีการเติบโตของ Demand เลยในปี 2563 ส่วน Goldman Sachs มองว่า Demand ทั่วโลกจะลดลง 150,000 bpd
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs กล่าวว่าน้ำมันจะทรุดลงไปได้มากกว่านี้อีก (ทำนองว่านี่เป็นแค่ Phase แรกของวิกฤต) โดย Goldman Sachs คาดการณ์ไว้ว่าราคาน้ำมันโลกอาจลดลงไปถึงระดับ 20 $/บาร์เรล
ในตลาดอื่น ๆ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเยน ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนัก(มากที่สุดเกือบ 10% ในวันนี้) และทองคำพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเหนือ 1700 $/Oz นับตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากนักลงทุนทำการโยกย้ายเงินเข้าสู่ Safe Heaven อย่างรุนแรง
Session 2 : แท้จริงแล้วซาอุฯ ไม่ได้เปิดสงครามกับรัสเซีย
หากคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป การลดราคาน้ำมันและเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อฉุดราคาน้ำมันลงอีก ถือเป็นการ "ฆ่าตัวตาย" ทางเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้ และรายได้หลักของประเทศก็แทบจะมีอยู่ทางเดียวคือการขายน้ำมัน แล้วซาอุฯ จะทำเรื่องเสี่ยงอย่างนั้นไปทำไม ? ก่อนจะอธิบายเหตุผลอยากให้ลองมาตัวเลขพวกนี้กันครับ
*สำหรับประเทศที่ผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด หลายคนอาจคิดว่าเป็นประเทศในตะวันออกกลางหรือกลุ่ม OPEC+ แต่แท้จริงแล้วคือสหรัฐฯ โดยมีกำลังผลิต 17.94 ล้านบาร์เรล/วัน คิดเป็น 18% ของกำลังผลิตน้ำมันทั้งหมดของโลก ที่สองคือซาอุดิอาระเบีย 12.42 ล้านบาร์เรล (12%) และอันดับที่สามคือรัสเซีย 11.40 ล้านบาร์เรลต่อวัน (11%)
Source : eia.gov
สาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกได้ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ ก็เพราะมีเทคโนโลยี "Shale Oil" ซึ่งก็คือการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน
แต่ Shale Oil ก็ยังมีข้อจำกัดจากต้นทุนการผลิต Shale Oil ยังค่อนข้างสูง (ประมาณ 40 $/บาร์เรล) ขณะที่น้ำมันดิบจากรัสเซียก็มีต้นทุนที่สูงเช่นกัน แต่ซาอุฯ นั้นมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดคือ 20 เหรียญต่อบาร์เรล
ซาอุฯ อาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า เริ่มต้นสงครามราคา (Price War) กับสหรัฐฯ และรัสเซีย (หรือเปล่า?) ซึ่งในอดีตเป็นมิตรแท้กันมาก่อน เพื่อที่จะกลับมาครองส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันโลกเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวอย่างหนัก (ในมุมของนักลงทุนถือเป็นการมองเห็นโอกาสที่ดีมาก)
การฉวยโอกาสครั้งนี้อาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันต้องหวาดหวั่นกันไม่น้อย เนื่องจาก Demand น้ำมันทั่วโลกมีแต่ขาลง จากการที่เทคโนโลยีเติบโตและมี "พลังงานทางเลือก" เข้ามาแย่งชิงตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการระบาดของ Coronavirus ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก และเหตุผลสำคัญข้อสุดท้ายคือ ซาอุฯ ยังไม่สามารถหารายได้เข้าประเทศจากช่องทางอื่นได้เลย
ในสถานการณ์กำลังบีบคั้นแต่กลับมีโอกาสดี ๆ เช่นเกิดขึ้น ซาอุฯ จึงตั้งใจจะคว้าโอกาสสุดท้ายที่โลกยังมีการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่ เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ให้มากที่สุดพร้อมกับเร่งปฎิวัติเศรษฐกิจของประเทศให้ลดการพึ่งพาการขายน้ำมันให้มากที่สุด ก่อนที่จะสายเกินไป
Source : edf.org
ทำไมรัสเซียไม่เห็นด้วยที่จะลดการผลิต ?
รัสเซียกล่าวว่าต้องการเห็นผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบของ coronavirus ต่อ Demand น้ำมันเสียก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐเซียกำลัง Focus เป้าหมายไปที่การทดสอบ Shale Industry ของสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าการตัดราคาครั้งนี้ จะเป็นการหยิบยื่นเส้นทางให้สหรัฐฯ เติบโตมากขึ้นไปอีกและจะมีลูกค้ามากขึ้นจากค่าใช้จ่ายของรัสเซีย
แต่การเคลื่อนไหวที่น่าตกใจของซาอุฯ ล่าสุดนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึง Russia ว่า "การเล่นเกมกับสหรัฐฯ สิ้นสุดลงแล้ว"
ข้อสังเกต : จากข้อมูลตรงนี้ วิเคราะห์ให้ลึกก็คือ รัฐเซียไม่ได้บอกว่าจะไม่ลดกำลังการผลิตลง แต่ตอนนี้สังเกตการณ์สหรัฐฯ อยู่
1
Session 3 : ผลกระทบต่อ Shale Industry ของสหรัฐฯ
การตัดราคาครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความกดดันให้แก่ Shale Industry เท่านั้น แต่ยังกระทบถึงทุกบริษัทด้านพลังงานของสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ผลิตออกมามากแต่ดันมาเจอราคาที่ลดลง)
ที่สำคัญคือ Shale Industry ของสหรัฐฯ นั้นได้ก่อ "หนี้" ไว้อย่างมหาศาล
ข้อควรรู้ 3 : บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกันกว่า 42 แห่งยื่นฟ้องล้มละลายในปี 2558
สาเหตุของการยื่นล้มละลายคือ ณ ตอนนั้นบริษัทเหล่านี้ถือ "หนี้" ไว้ราว ๆ 6 แสนล้านบาท ต่อจากนั้นบริษัทพยายามเจรจาขายหุ้นเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ของตัวเอง ป้องกันการล้มละลาย แต่ปัญหาก็คือหาผู้ซื้อต่อไม่ได้ หากมีก็เสนอราคาซื้อต่ำเกินไป และบางกลุ่มก็ไม่เห็นคุณค่าของสินทรัพย์ที่ขาย
บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกันที่ประกาศล้มละลายต่อเดือน
ตัวอย่างบริษัทเด่น ๆ ใน 42 บริษัทที่ประกาศล้มละลาย
1. Samson Resources Corp. ล้มละลายด้วยหนี้สิน 1.5 แสนล้านบาท
2. Quicksilver Resources ล้มละลายด้วยหนี้ 7 หมื่นล้านบาท
3. Endeavour International ล้มละลายด้วยหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท
4. BPZ Resources ประกาศล้มละลายด้วยหนี้ 1 หมื่นล้านบาท
แต่เมื่อเราลองมาดูตัวเลขในปัจจุบันพบว่าน่าทึ่งกว่ามาก ตัวเลขหนี้พุ่งกว่า 6.5 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน (6 แสนล้าน > 6.5 ล้านล้าน ภายในเวลา 5 ปี = หนี้เพิ่มขึ้น 10 เท่าใน 5 ปี)
หลังจากการตกลงของราคาน้ำมันและก๊าชธรรมชาติในปลายปี 2018 มีบริษัทที่ยืนฟ้องล้มละลายเพิ่มขึ้น 51% ในปี 2562 เป็นจำนวน 65 บริษัท แต่สิ่งที่น่าตกใจคือยอดรวมบริษัทน้ำมันที่ยื่นฟ้องล้มละลายทั้งหมดตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีมากถึง 402 แห่ง (ปี 2558 ยื่นฟ้องล้มละลาย 42 แห่ง และหลังจากนั้นใน 5 ปีเพิ่มอีก 360 แห่ง)
หนี้ที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายในปี 2562 เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2561 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า The Great American Fracking Bust
The Great American Fracking Bust เริ่มต้นในช่วงกลางปี ​​2557 เมื่อราคาของ WTI ลดลงจากกว่า 100 $/บาร์เรลเป็นต่ำกว่า 30$/บาร์เรลในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นราคาเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นไปมากกว่า $ 70 ต่อบาร์เรลในเดือนกันยายนและตุลาคม 2561 จากนั้นราคาก็ร่วงอีกครั้ง WTI ได้ลดลงไปที่ 47 $/บาร์เรล ในตอนท้ายของปี 2018
ข้อสังเกต : ความปั่นป่วนของราคาน้ำมันหลาย ๆ ครั้งไม่อาจทำให้บริษัทพวกนี้ปรับตัวได้และสร้างหนี้สินมากขึ้น
และเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันเราจะเห็นว่าราคาน้ำมันปั่นป่วนอยู่แล้วในก่อนหน้านี้ แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญสองเหตุการณ์ในตะวันออกกลางคือ การโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของ Saudi Aramco เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและการลอบสังหารนายพล Qasem Soleimani ที่สะเทือนตลาดน้ำมันก่อนหน้านี้ ยังถือเป็นแค่ระลอกคลื่นเล็ก ๆ ในสึนามิที่กำลังจะตามมา
ในขณะนั้น WTI มีการซื้อขายที่ 56.08 $/บาร์เรล ซึ่งยังต่ำกว่าที่ Shale Industry จะอยู่รอดได้ในระยะยาวอยู่ดี (แล้วตอนนี้ลดไปอยู่ที่ระดับ 30 $/บาร์เรล จะรอดมั้ยเนี่ย) ฝั่งก๊าชธรรมชาติเองก็ราคาตกต่ำอย่างมากเสียจนไม่มีใครสามารถทำกำไรจากมันได้เลย
สิ่งที่บริษัทน้ำมันเหล่านี้ต้องการมากที่สุดคือ การที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นอย่างมาก แต่แน่นอนว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในขณะที่การผลิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่บริษัทจะอยู่รอดในตลาดซึ่งมีการล้มละลายมากขึ้น ต้องทำโดยการลดกำลังการผลิตและดันราคาให้สูงขึ้น (ลดต้นทุน เพิ่มกำไร)
ประเด็นคือการที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้น ยิ่งเสริมให้ภาคการผลิตต่าง ๆ เร่งการผลิตขึ้นไปอีก นี่จึงเป็นการเร่งเครื่องลงเหวนั่นเอง ดังนั้นแล้วเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการตัดราคาน้ำมันครั้งนี้ถือว่าเป็นการจู่โจมที่ทางการเงินที่รุนแรงอย่างมากต่อสหรัฐฯ
Session 4 : อินเดียและจีนได้ประโยชน์มหาศาลจากการลดราคาครั้งนี้
อินเดียเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีการนำเข้าน้ำมันเกือบร้อยละ 83 ของความต้องการน้ำมันในประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในแต่ละครั้งจะลดค่านำเข้าได้เกือบ 3,000 ล้านรูปี
การลดราคาเพียง 10% จากราคาน้ำมันดิบ 45 $/บาร์เรล ในขณะนี้จะช่วยใหอินเดียประหยัดต้นทุนได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (6.3 หมื่นล้านบาท)
ดังนั้นแล้วการลดลงกว่า 20 $ ที่ผ่านมาช่วยอินเดียประหยัดงบประมาณไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี (9.45 แสนล้านบาท)
ทางฝั่งจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แน่นอนว่ารับผลประโยชน์อย่างมหาศาล (พูดง่าย ๆ คือได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุดแล้ว) การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในปี 2562 เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อนหน้าเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 17 เนื่องจากการเติบโตของ Demand จากโรงกลั่นใหม่ที่สร้างขึ้นในปีที่แล้ว
ในปี 2562 จีนนำเข้าน้ำมันดิบ 506 ล้านตันตามข้อมูลจากกรมศุลกากร ซึ่งเทียบเท่ากับ 10.12 ล้านบาร์เรล/วัน การเพิ่มขึ้นต่อปีเท่ากับ 882,000 บาร์เรล/วัน Demand ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะความต้องการจากโรงงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 900,000 บาร์เรล/วัน แค่นี้คงพอจะเห็นแล้วนะครับว่าได้ประโยชน์ขนาดไหน
Source : wikipedia
Session 5 : ผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
ตลาดหุ้นนานาชาติ
ดัชนี FTSE 100 ของลอนดอนร่วงลงกว่า 6% และเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 2551 Dax ของเยอรมนีและ Cac 40 ของฝรั่งเศสลดลงในปริมาณที่ใกล้เคียงกันและดัชนี Stoxx Europe 600 เลื่อนเข้าสู่ตลาดหมี และเป็นการลดลง 1 ใน 5 ครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
S&P 500 Futures ลดลงมากกว่า 5% เป็นการลดลงในคราวเดียวที่มากที่สุดในรอบประวัติศาสตร์
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีร่วงลงถึง 0.5% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ "หนี้ภาครัฐ" ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ (นี่ยังไม่รวมหนี้เอกชนอีกประมาณ 80% ของ GDP นะ)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 30 ปีลดลงต่ำกว่า 1% ซึ่งทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯทั้งหมดต่ำกว่าระดับ 1% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
Citigroup Inc, Bank of America และ JPMorgan Chase ร่วงระหว่าง 9% -12%
กลุ่มบริษัทน้ำมันรายย่อยอย่าง Marathon Oil , Devon Energy, Apache Corp, Pioneer Natural Resources ลดลงระหว่าง 25% -34%
ตลาดหุ้นเอเซีย แน่นอนว่าแดงทั้งแถบ ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ร่วงตาม ๆ กันไป (ดูภาพข้างล่างประกอบนะครับ)
ตลาดหุ้นไทย
SET Index ลดลง 7.96% ปิดที่ 1,255.94
บริษัทในกลุ่มน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง (ข้อมูลข้างล่างเป็นข้อมูลภาคเช้าของวันนี้)
1. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วงลง 25.82% มาอยู่ที่ระดับ 79.00 บาท (ลดลง 27.50 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 2,057 ล้านบาท
2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วงลง 18.00% มาอยู่ที่ระดับ 30.75 บาท (ลดลง 6.75 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 4,051 ล้านบาท
3. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วงลง 19.53% มาอยู่ที่ระดับ 34.00 บาท (ลดลง 8.25 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 811 ล้านบาท
4. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ร่วงลง 14.37% มาอยู่ที่ระดับ 35.75 บาท (ลดลง 6.00 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 441 ล้านบาท
5. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วงลง 9.57% มาอยู่ที่ระดับ 2.08 บาท (ลดลง 0.22 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 88.58 ล้านบาท
6. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ร่วงลง 6.06% มาอยู่ที่ระดับ 62.00 บาท (ลดลง 4.00 บาท) มูลค่าการซื้อขาย 280 ล้านบาท
วิเคราะห์และทิ้งท้ายประเด็นที่น่าสนใจ
รัฐเซียและซาอุฯ ที่ผ่านมานั้นถือเป็นมหามิตรกันมาอย่างยาวนาน และความตั้งใจของ OPEC+ ตอนแรกคือลดกำลังการผลิต แต่หลังจากมีการประชุมกับรัสเซีย ซาอุฯ กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความต้องการเดิมอย่างสุดขั้ว ตรงจุดนี้ผู้อ่านควรตั้งข้อสงสัยแล้วว่าเขาคุยอะไรกับรัสเซีย ทำไมถึงเปลี่ยนใจอย่างสุดขั้วและดำเนินการในแทบจะทันทีขนาดนี้ แล้วทำไมผลประโยชน์ถึงไปตกอยู่ที่อินเดียและจีนซึ่งกำลังต้องการบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่พอดี (จีนเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว สิ่งที่เขาจะทำต่อไปคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งนำเข้า ส่งออก) เรื่องเหล่านี้พอจะมีความเชื่อมโยงกันบ้างไหม ? ซึ่งหากผู้นำทั้ง 2 ประเทศมองในมุมเดียวกับบทความนี้แล้วล่ะก็...(World Maker ฝากไว้ให้คิดต่อนะครับ)
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา