9 มี.ค. 2020 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
สรุป ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่เคยเกิดขึ้นในไทยทั้งหมด
เคยสงสัยไหมว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997
ประเทศไทยเคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกี่ครั้ง
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) คือ ภาวการณ์ที่การเติบโตของ GDP เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส
ในปี 2019 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทย
ไตรมาสที่ 1/2019 GDP เติบโต 1%
ไตรมาสที่ 2/2019 GDP เติบโต 0.4%
ไตรมาสที่ 3/2019 GDP เติบโต 0.2%
ไตรมาสที่ 4/2019 GDP เติบโต -0.2%
พอตัวเลขออกมาแบบนี้ ก็หมายว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะของการชะลอตัว ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม
การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยอาจประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ถ้าให้ย้อนกลับไป
นับตั้งแต่ปี 1997 ประเทศไทยนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งกินเวลาไปทั้งหมด 10 ไตรมาส หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง
1) ครั้งที่ 1 ในปี 1997 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไทยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
จุดเริ่มต้นมาจากการเปิดเสรีทางการเงินและการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (BIBF) ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก
ตอนนั้นการกู้เงินจากต่างประเทศได้รับความนิยม เพราะมีดอกเบี้ยถูกกว่าในประเทศ ภาคเอกชนจำนวนมาก จึงไปกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน
อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนไม่น้อยกลับถูกนำไปเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์จนเกิดเป็นฟองสบู่
ช่วงปี 1996 การส่งออกของประเทศเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มขาดดุลมากเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณการอ่อนค่าของเงินบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินบาทเพื่อพยุงค่าเงิน แต่เมื่อทุนสำรองระหว่างประเทศเริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
สุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทยจึงตัดสินใจปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวจากระดับที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินบาทนั้นเคยเพิ่มไปถึงระดับ 56 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
คนที่กู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมากต้องล้มละลาย สถาบันการเงินหลายแห่งปิดกิจการ คนไทยจำนวนมากต้องตกงาน และวิกฤตนี้ยังกระจายไปอีกหลายประเทศในเอเชีย
ในตอนนั้น GDP ของประเทศไทยลดลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/1997 - ไตรมาสที่ 2/1998
Cr. The Daily Star
2) ครั้งที่ 2 ในปี 2008 วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าวิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่กลับมีผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะในยุโรป เพราะสถาบันการเงินในยุโรปหลายแห่งมีการลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อประเภทซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาจํานวนมาก
โดยผลของวิกฤตดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานั้นชะลอตัว จนมีผลทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยไปขายที่สหรัฐอเมริกา และความต้องการวัตถุดิบจากไทยที่นำไปผลิตและส่งออกยังสหรัฐอเมริกานั้นลดลงไปด้วย
ในตอนนั้น GDP ของประเทศไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2008 - ไตรมาสที่ 1/2009
3) ครั้งที่ 3 ในปี 2013 การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป
3
สหภาพยุโรปมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงกว่า 10% จากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะจำนวนมากของหลายประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ และ สเปน ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2009 แต่ส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายปีต่อมา
3
เมื่อรวมกับวิกฤตภัยแล้งของประเทศไทยที่กระทบหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในตอนนั้น GDP ของประเทศไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2013 - ไตรมาสที่ 2/2013
Cr. The Thaiger
4) ครั้งที่ 4 ในปี 2013-2014 ความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมือง
ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2013 มาจนถึงกลางปี 2014 โดยมีการชุมนุมและประท้วงต่อต้านรัฐบาล จนนำไปสู่การปิดกรุงเทพฯ หรือเรียกว่า Bangkok Shutdown ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นำไปสู่การรัฐประหารโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
Cr. Expat.com
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ การท่องเที่ยว การลงทุน การค้าของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงนั้น เพราะสถานที่สำคัญหลายแหล่งในกรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นที่ชุมนุม
ในตอนนั้น GDP ของประเทศไทยลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2013 - ไตรมาสที่ 1/2014
โดยปกติแล้ว เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเข้ามามีบทบาทด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
1
แต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้อาจถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยก็กำลังอยู่ ณ จุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์เรียบร้อยแล้ว หรือพูดอีกอย่างก็คือ นโยบายการเงินของประเทศกำลังมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เพราะกระสุนเกือบหมดแล้ว
ซึ่งตอนนี้หลายคนก็ได้แต่หวังว่า นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ซึ่งเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ ต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่านี้
เราก็ต้องมาตามดูกันต่อไปว่า ด้วยนโยบายการเงินที่มีอยู่ เมื่อรวมกับนโยบายการคลังของประเทศจะสามารถช่วยไม่ให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยได้หรือไม่
ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเจอกับเรื่องนี้ แต่ประเทศทั่วโลกกำลังเจอความเสี่ยงที่เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกันหมด
และโดยปกติแล้วแต่ละประเทศจะดำเนินเข้าสู่ภาวะถดถอยต่างเวลากัน
แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศทั่วโลกมีเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกันทั้งหมด..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Economic Depression) ซึ่งจะกินเวลาหลายปี บางครั้งก็ใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงมากที่สุดก็คือ The Great Depression ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1929-1941 มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา
โดยตั้งแต่ปี 1929-1933 มูลค่า GDP ของสหรัฐอเมริกาหายไปกว่า 33% อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงกว่า 25% ซึ่งนับเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
ธนาคารในสหรัฐอเมริกากว่า 11,000 แห่งต้องปิดตัวลง คนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารเหล่านี้ต้องสูญเงินไปทั้งหมด ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ตกต่ำอย่างหนัก
คนอเมริกันกว่า 2 ล้านคน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และ 60% ของประชากรอยู่ในฐานะยากจน
แม้วิกฤตจะเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในตอนนั้น
แต่ความรุนแรงนั้นกลับแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก
หนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
ทำให้ช่วงนั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องเช่นกัน
ถ้าเรื่องใหญ่สุดก็คือ ปี ค.ศ. 1932 หรือ ปี พ.ศ. 2475
เป็นปีที่ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย นั่นเอง..
โฆษณา