11 มี.ค. 2020 เวลา 06:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข่าวร้าย COVID-19 มี 2 สายพันธ์ย่อย
เรื่องโควิด-19 ถ้ากลัวก็ถือว่าประมาท ถ้าไม่กลัวก็ถือว่า “ประมาท” เราควรรู้ทำ(ธรรม)เพื่อกำจัดโรคโควิด-19 กัน
พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ธรรมที่สอนมากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์นี้ เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่ที่จะเอาไปใช้จริงๆแค่หยิบมือเดียว”
ถ้าใครสมองเป็นเลิศก็จำไปทั้ง “84,000 พระธรรมขันธ์” ถ้าจำไม่ได้ให้นึกถึง “มรรค 8” แต่ถ้ายังจำยากให้จำแค่
1
“ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ถ้าจำยากอยู่ให้จำตัวเดียวเลย “อัปมาทะ” ก็คือ “ความไม่ประมาท” นี่เอง
1
“รู้ธรรม”เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ และ เกิดการระบาดใหม่ แต่ทั้งโรค (COVID-19) และเชื้อโรค (SARS-CoV-2)
ต่างก็หนีไม่พ้นการ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” เหมือนทุกสิ่ง เป็นเช่นเดียวกับกราฟการระบาดที่เห็นกันอยู่ ของจีนจะชัด ค่อยๆขึ้นแล้วชันจนสูงแล้วก็ค่อยๆลง ก็ให้เรารู้จัก “ทำใจ” และ “ไม่ประมาท”
ธรรมชาติของไวรัสโรคโควิด-19 เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ ไม่มีดีเอ็นเอคอยกำกับพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ จึงมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่าย สามารถกลายพันธุ์อย่างช้าๆได้ตลอดเวลา (antigenic drift)
ไวรัสตัวนี้ชื่อ ซาร์สโควี-2 มีขนาด 0.1 ไมครอน เล็กกว่าเม็ดเลือดแดงเรา 70 เท่า และเล็กกว่าเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจเรา 100 เท่า
มีส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนแกน (สารรหัสพันธุกรรม/อาร์เอ็นเอ) เยื่อหุ้ม (Capsid) และเปลือกหุ้ม (Envelope) ที่มีหนามแหลม (spike เป็นโปรตีน) เอาไว้จับกับตัวรับในทางเดินหายใจที่ชื่อ ACE-2 receptor
สายรหัสพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสซาร์โควี-2 ตัวนี้ ยาว 29,903 นิวคลีโอไทด์ ตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาอาร์เอ็นเอไวรัสด้วยกัน มีโปรตีนหลัก 4 ชนิด คือ โปรตีนเยื่อหุ้ม (M) โปรตีนเปลือก (E) โปรตีนหนาม (S) และโปรตีนเอนไซม์เจาะผนัง (Hemagglutinin-rsterase)
คำว่า “นิวคลีโอไทด์” คือ หน่วยย่อยของกรดนิวคลีอิกหรือสารรหัสพันธุกรรม
ประกอบด้วย น้ำตาลไรโบส ไนโตรเจนเบส และหมู่ฟอสเฟต ถือเป็นสารพลังงานสูงในเซลล์ เช่น เอทีพี (ATP)
อาร์เอ็นเอมีหน้าที่สร้างโปรตีน ถ้ารหัสพันธุกรรมเปลี่ยน การสร้างโปรตีนก็เปลี่ยน รูปร่างหน้าตาหรือส่วนประกอบย่อยๆหรือ
คุณสมบัติของไวรัสก็จะเปลี่ยนไป ก็คือ กลายพันธุ์ นั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถถอดรหัสสายพันธุกรรมไวรัสตัวนี้ได้ตั้งแต่ต้นมกราคม 2563 พร้อมกับรู้จุดยีนพันธุกรรมจำเพาะของมัน จึงนำมาสร้าง primer และprobe ในการตรวจวินิจฉัยไวรัสได้
ขณะนี้เราสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวเป็นๆได้แล้ว แต่ต้องเก็บและทำในห้องที่มีชีวนิรภัยสูงสุด ระดับ 3 เพื่อป้องกันการรั่วไหลออกสู่ภายนอก...มั่นใจได้ครับ เก็บไว้ดีกว่าตู้เซฟซะอีก
และป้องกันอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ค้องสวมชุดป้องกันภัยเต็มที่ (เชื่อว่าป้องกันการสัมผัสเชื้อได้ 100%) ดูเหมือนชุดที่จะใส่ออกไปนอกยานอวกาศ ไปลงดาวเคราะห์อื่นสักดวงหนึ่ง ดูในรูปครับ
ส่วน N95ในห้องแล็บใช้ในขั้นตอนสกัดสารพันธุกรรมไวรัสในห้องที่มีระบบชีวนิรภัยระดับ 2 เพื่อเอามาตรวจวิเคราะห์จากสารคัดหลั่งในผู้ป่วย/เสี่ยง เชื้อไวรัสอาจมีชีวิตอยู่ จึงต้องป้องกันไว้ก่อน
การปฏิบัติงานทั่วๆไปในห้องแล็บก็จะใส่หน้ากากอนามัยผ่าตัด (surgical mask)
แต่ถ้าเจ้าหน้าที่แล็บปฏิบัติกิจวัตรประจำวันทั่วไปก็สามารถใส่หน้ากากผ้า (cotton mask) ได้ หรือ ไม่ใส่ก็ได้
ผ้าcottonมีเส้นใยขนาด 12-20 ไมครอน ช่องห่างระหว่างเส้นใยเล็กมาก ซักใช้ซ้ำหลายครั้งได้ กันน้ำดี ถ้าไม่ชัวร์ใช้ผ้าcotton สัก 2 ชั้น ก็ได้ ท่านลองเอาผ้าซ้อนสองแผ่นแล้วหยดน้ำ ดูก็ได้
ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู ช่องว่างระหว่างเส้นใยจะกว้างกว่า จะกันได้ไม่ดี ผ้านาโนก็ยังไม่มีวิจัยเรื่องความปลอดภัย
แต่หากป่วยเป็นหวัดไอจาม ต้องใส่หน้ากากอนามัย (surgical mask)
เจ้าตัวไวรัสนี้ก็ถูกจัดอยู่ในเชื้อโรคกลุ่มที่ 3 (มี 4 กลุ่ม) ใครอยากจะเอาไปครอบครอง ต้องยื่นจดทะเบียน บอกเหตุผลและต้องตรวจสถานที่เก็บว่าเป็นตามมาตรฐานหรือไม่ (Biosafety level 3) แต่ตอนนี้ ยังไม่อนุญาตเชื้อนี้ให้ใครครับ
ข่าวร้ายที่ 1 ล่าสุด นักวิจัยชาวจีนเอาสารพันธุกรรมไวรัส 100 ตัว (จีโนม) มาศึกษา พบว่า ไวรัสซาร์โควี-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นี้ มีอยู่ 2 สายพันธุ์ย่อย แตกต่างกันที่รหัสพันธุกรรมสร้างโปรตีน 2 ตำแหน่ง
ความแตกต่างนี้เกิดจากการเปลี่ยนชนิดนิวคลีโอไทด์เพียงตำแหน่งเดียว (เช่น จาก “ก” เป็น “ข” เรียกว่า สนิปส์ (single nucleotide polymorphisms : SNPs)
สองสายพันธุ์ย่อยนี้ตำแหน่งสายพันธุกรรมต่างกันที่สนิปส์ ลำดับที่ 8,782 และ 28,144 ทำให้มีความแตกต่างกันที่กรดอะมิโนที่สร้างขึ้น คือ
1. ชนิดเอส (S type) เป็นไวรัสตัวเดิมที่กลายพันธุ์มาติดคน “ตัวแม่” ที่ตำแหน่ง 28,144 จะมีกรดอะมิโน ตำแหน่งที่ 84 เป็น ซีรีน (T SNP) ถือว่าเป็นบรรพบุรุษไวรัสโควิ-19 ในคน เพราะสารรหัสพันธุกรรมเหมือนไวรัสในค้างคาว Bat NoV TG13 มากกว่าชนิดแอล พบผู้ป่วย 30%
2. ชนิดแอล (L type) เป็นไวรัสที่ปรับตัวใหม่ จึงถือเป็น “ตัวลูก” ที่ตำแหน่ง 28,144 (ORF-8) ตำแหน่งที่ 84 เป็นกรดอะมิโนลูซีน (C SNP) พบในผู้ป่วย 70%
“การกลายพันธุ์” จาก “ตัวแม่” สู่ “ตัวลูก” ทำให้อยู่ในตัวคนได้ดีขึ้น แบ่งตัวขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น ติดจากคนสู่คนง่ายขึ้น (transmission) และทำให้คนเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น (aggressive)
แถมทั้ง “ตัวแม่” และ “ตัวลูก” ก็ยังก่อโรคในคนได้ทั้งคู่ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีทั้งกลุ่มไม่มีอาการ มีอาการน้อย/ปานกลาง/หนัก และจนถึงตาย
ข่าวร้ายที่ 2 คือ ตั้งแต่จับตัวมันได้เมื่อเดือนมกรามาจนถึงตอนนี้ พบว่ามันมีกลายพันธุ์ (non-synonymous mutation) มาถึงต้นเดือนมีนานี้ พบถึง 111 รูปแบบแล้ว
ข่าวร้ายที่ 3 คือ จีนพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น แต่อาจไม่ใช่ทุกราย และเราก็พบว่า...
ข่าวดีที่ 1 คือ การกลายพันธุ์ทั้ง 111 รูปแบบที่พบไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการก่อโรคในคนหรืออัตราแพร่เชื้อใดๆ
ข่าวดีที่ 2 คือ แม้จะมีถึงสองสายพันธุ์ ก็ไม่กระทบต่อกระบวนการพัฒนาวัคซีน เนื่องจากการกลายพันธุ์นี้ไม่มีผลต่อโปรตีนหนาม (S1 spike protein) ที่เป็นจุดจำเพาะเป้าหมายของการผลิตวัคซีน
ข่าวดีที่ 3 คือ อาการอาการแสดง การพยากรณ์โรค อัตราป่วยตาย ลักษณะการแพร่เชื้อ ยังคงเหมือนเดิม ผ่านทางการสัมผัสละอองฝอยขนาดใหญ่ของน้ำลายเสมหะน้ำมูกน้ำตาของผู้ป่วย
เมื่อ “รู้ธรรมชาติ” ของไวรัสโควิด-19 แล้ว ทีนี้ก็มาถึงตัวเรา ละว่า “รู้ทำ” ตัวให้ปลอดโรค ทำประเทศให้ปลอดการระบาด และ
ลงมือทำกันด้วย
ใครๆสัมผัสไวรัสนี้จำนวนพอเหมาะ (น่าจะหมื่นแสนตัว) ก็ติดโรคได้ง่าย เพราะ ภูมิคุ้มกันเรา ยังไม่เคยเจอมันมาก่อน ไม่รู้ว่ามันจะออกอาวุธอะไรมารบกับเรา
ภูมิคุ้มกันทั่วไป จึงอาจเอามันไม่อยู่ จึงรับมือได้ช้า หรือ พลาดพลั้งรับมือไม่ได้ในช่วงแรกๆ ก็ป่วยได้
“รู้ทำ” ง่ายๆ 2 อย่างสำหรับทุกคน ก็คือ
1) ลดการสัมผัสเชื้อ ก็ตามที่ท่องๆกัน เน้น “ล้างมือ ล้างเมือง ป่วยสวมแมสก์อนามัย ไม่สัมผัสใบหน้า อย่าไปประเทศพื้นที่เสี่ยง เลี่ยงกิจกรรมสถานที่คนแออัด”
2
2) ลดการติดเชื้อ อันนี้ปัจจัยภายในครับ เน้น “สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” และ “ปรับสมดุลร่างกาย” ครับ
เห็นไหมครับ “ไม่ประมาท” ด้วยการมี “สติ” ไตร่ตรอง จะได้ไม่ “ตระหนก” แล้ว “แตกตื่น” ไปตามตัวเลข “สถิติ” ทุกๆวันมีทั้งข่าวร้ายและข่าวดีครับ
ไม่ประมาทในการเสพข่าว ต้องอ่านให้จบเนื้อเรื่องก่อน คิด วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ แล้วค่อยแชร์ครับ อย่าอ่านแค่ “พาดหัว” หรือเนื้อความแค่ 2-3 บรรทัดแรก ครับ มันจะ “เขว” ง่าย
อยากให้ลดกังวลและไม่ไปกักตุนของใช้ จนขาดแคลน กระทบต่อคนที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อจะได้เพียงพอต่อทุกคน เพราะ
“ทรัพยากรบนโลกนี้มีเพียงพอต่อทุกคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภคนเดียว”
การที่คนไทยไม่ป่วย/ไม่ได้มาจากพื้นที่เสี่ยง/ไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่คัดกรองตรวจรักษาผู้ป่วย ใส่หน้ากากผ้า ก็สะท้อนถึงยอดหลักธรรมคำว่า “ไม่ประมาท” แล้ว
ที่ว่า “ไม่ประมาทสำหรับตัวเอง” ถือว่าป้องกันไว้หน่อย และ “ไม่ประมาทสำหรับประเทศชาติ” ที่จะได้มีหน้ากากอนามัยและN95 ไว้ให้บุคลากรสาธารณสุขใช้รับมือกับโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ
คิดดูสิ ถ้าลูกเราเป็นหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวในการลดสัมผัสเชื้อโรค เราจะอยากให้เขาไปทำหน้าที่ไหม เหมือน ส่งเขาไปรบ แต่ไม่ให้เสื้อเกราะกันกระสุน
ไม่ได้เพราะเป็นหมอ เลยห่วงแต่พวกหมอด้วยกัน ไม่ให้ชาวบ้านใช้ อะไรทำนองนี้หรอกครับ
องค์การอนามัยโลกก็แนะนำไม่ให้คนปกติสวมหน้ากากอนามัยครับ ผมถึงแนะนำตั้งแต่บทความแรกๆ(ตั้งแต่มกรา63)แล้วว่า แมสก์(หน้ากาก)ผ้าก็ใช้ได้
เราน่าจะเรียก surgical mask หรือ “หน้ากากอนามัย” (ใช้ตาม รพ.หรือ สถานีอนามัย/รพ.สต.) แล้วเรียก หน้ากากผ้า นี้ว่า “หน้ากากชุมชน” จะไปเรียกว่า “หน้ากากผ้าอนามัย” ก็จะกระไรอยู่ ส่วนN95 ก็เรียกว่า “หน้ากากห้องแยก” อะไรทำนองนี้
ส่วนวัสดุอื่นๆ ที่จะเอามาทำหน้ากากกันสัมผัสเชื้อ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนนัก วัสดุนาโนก็ยังไม่มีผลการวิจัยชัดเจนว่า วัสดุนั้นเมื่อเอามาปิดปากจมูกแล้ว มันจะไม่สูดดมเข้าไปทำอันตรายเราซะเอง ก็อนุภาคมันเล็กขนาดนั้น
เห็นข่าวคนไทยแต่ละที่แต่ละหน่วยงานช่วยกันเย็บหน้ากากผ้า (cotton mask) ไปใช้ไปแจกแล้วก็สุขใจ ใครจะไปรู้ได้ว่า ไทยเราอาจจะไม่เข้าเฟส 3 ก็เพราะ การทำแมสก์ผ้านี่แหล่ะ
คงไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ของแมสก์ผ้าหรอกที่จะดึงไว้ไม่ให้เราเข้าเฟส 3 แต่มันสะท้อนถึงความรัก ความห่วงใย ความใส่ใจ ความมีน้ำใจ ที่ไทยเรามีให้กันและมีให้ต่างชาติ นี่ละครับ เขาเรียกว่า “Thailand only”
นพ.พิเชฐ บัญญัติ
แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน
แพทย์แผนไทย
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
๘/๓/๒๕๖๓
โฆษณา