11 มี.ค. 2020 เวลา 12:01 • ไลฟ์สไตล์
พฤติกรรมแห่ตามฝูงชน โดยขาดการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล หนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ที่เราเห็นได้ทั่วไปในสังคมนี้ครับ
เคยไหมครับ บางครั้งเรามักทำอะไรตามคนส่วนใหญ่ เพราะรู้สึกว่าปลอดภัย คนส่วนใหญ่ก็ทำ คนส่วนใหญ่ก็เลือกแบบนี้ หากไม่เลือกก็กลัวที่จะเสียโอกาส ทั้งที่เรายังไม่ได้หาเหตุผล หรือคิดวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจด้วยซ้ำ
ตัวอย่างที่มีให้เห็นในปัจจุบันก็คือ การที่คนญี่ปุ่นแห่กักตุนกระดาษชำระ ทั้งที่ทางการประกาศว่า สามารถผลิตในประเทศได้ จนท้ายที่สุดห้างดังต้องนำกระดาษมาวางขายในปริมาณมากจนคนส่วนใหญ่เลิกกักตุนกันไปเองครับ
พฤติกรรมดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า Herding Behavior ครับ หรือแปลตรงตัวก็คือ พฤติกรรมที่คนเรามักจะทำตามคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การต่อคิวกินร้านดังที่เราไม่รู้ว่าอร่อยจริงไหม แต่มีคนต่อคิวเยอะมากๆ การแห่ซื้อของที่คนส่วนใหญ่ใช้ แม้ของชิ้นนั้นเราอาจจะไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เลยก็ตาม
โดยพฤติกรรม Herding Behavior จัดเป็นพฤติกรรมที่เป็นผลต่อเนื่องจากอคติทางอารมณ์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Regret Aversion bais ครับ
โดย Regret Aversion bias เป็นกลไลการหลีกเลี่ยงความเสียใจที่ตัดสินใจพลาดของมนุษย์ครับ โดยเชื่อว่า มนุษย์จะให้น้ำหนักในการตัดสินใจหรือการกระทำที่ผิดพลาด มากกว่าการพลาดโดยที่ไม่ได้กระทำหรือตัดสินใจครับ เช่น ผมจะเสียใจมากกว่าเมื่อตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่แล้วไม่ถูกรางวัล เมื่อเทียบกับการที่ผมปล่อยผ่านไม่ได้ซื้อลอตเตอรี่แม้มันจะถูกรางวัลในรอบนั้น
แล้ว Regret Aversion bias ส่งผลให้เกิด Herding Behavior ยังไงหล่ะ
เนื่องจากพอมนุษย์เรากลัวการตัดสินใจที่ผิดพลาด จึงมองหาหนทางเยียวยา หรือสร้างความเชื่อใหม่ๆขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลรองรับในการตัดสินใจครับ ทำให้เกิด Herding Behavior ด้วยความเชื่อที่ว่าคือ “การทำตามคนส่วนใหญ่ไม่ผิด ” และถึงต่อให้ผิดคนส่วนใหญ่ก็ทำ มันจะทำให้เรารู้สึกเสียใจน้อยลงครับ
โดยในบางครั้งแม้เราเองจะไม่เห็นด้วยหรือมีความขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่อยู่ลึกๆก็ตาม แต่เรามักจะโดนน้ำหนักของสังคมทำให้เราคล้อยตามไปด้วยพฤติกรรมนี้ครับ เพราะมนุษย์เราไม่อยากแปลกแยก และไม่ต้องการที่จะไม่เป็นที่ยอมรับครับ
จริงๆแล้วพฤติกรรมของมนุษย์จุดนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะนำไปใช้เป็นเทคนิคในการตลาด เทคนิคในการโน้มน้าว เทคนิคในการเจรจา เทคนิคในการลงคะแนนเสียงเป็นต้น
แต่ลึกๆแล้วพฤติกรรมเหล่านี้เองก็มีความน่ากลัวอยู่มิใช่น้อยครับ เนื่องจากว่า มันสามารถเปลี่ยนหรือล้างสมองแนวคิดของคนได้เลยทีเดียว โดยอาจทำให้เรามองสิ่งที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องหากสิ่งนั้นทำโดยคนส่วนใหญ่ หรืออาจทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานแปลกๆขึ้นมา ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ยอมรับและทำตาม มันจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปเลยครับ เช่น หากมีกลุ่มคนที่ทำให้การนำเครื่องเขียนของบริษัทกลับบ้านกลายเป็นเรื่องปกติ มันจะขยายวงกว้างจนคนส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แม้จริงๆแล้วมันจะถือเป็นความผิดในฐานขโมยของเลยก็ตามครับ
สุดท้ายผมก็อยากจะฝากเอาไว้ว่า การทำตามคนส่วนใหญ่จริงแล้วก็ไม่ได้ผิดเสมอไปหรอกครับ เนื่องจากผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ว่าก็คงมีคนกลุ่มที่มีการคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจมาอย่างดีแล้ว
แต่ยิ่งในยุคกระแสโซเชียลเข้าถึงง่าย ผมก็อยากจะฝากให้ทุกคนกรุณาใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ประกอบไปด้วยก่อนการตัดสินใจหรือทำอะไรทุกครั้งครับ อย่าเอาแต่ตามคนส่วนใหญ่โดยไม่มีเหตุผล อาจจะทำให้เราพลาดข้อเท็จจริงบางอย่างไปได้ครับ
Source : CFA 2018 - Level 3 Schweser Notes Book 1 ; THE BEHAVIORAL BIASES OF INDIVIDUALS
โฆษณา