12 มี.ค. 2020 เวลา 04:50 • ประวัติศาสตร์
โรคระบาด แห่งยุคดึกดำบรรพ์
โรคระบาดเป็นหนึ่งในหายนะที่ปรากฏในประวัติศาสตร์โลก ทว่า นอกจากจะเป็นสาเหตุให้ผู้คนหลายร้อยล้านต้องล้มตายแล้ว บ่อยครั้ง ที่โรคระบาดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ร่องรอยเก่าแก่ที่สุดของโรคระบาด มาจากกระดูกของสตรียุคหินใหม่คนหนึ่ง ที่ถูกพบในปี ค.ศ.2018 ที่เมืองฟาลคอพิง(Falkoping) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของประ เทศสวีเดน โดยทีมนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยโกเตนบอร์ก แห่งสวีเดน
ร่างของสตรีผู้นั้นถูกพบใน สุสานของมนุษย์ยุคหินใหม่ซึ่งมีโครงกระดูกฝังอยู่ทั้งหมด77 ร่าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หญิงคนดังกล่าว เสียชีวิตเมื่อ 4,900 ปีก่อน โดยตอนเสียชีวิต เธอมีอายุได้ 20 ปี ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ กระดูกของเธอมีร่องรอยดีเอ็นเอของแบคทีเรียที่ชื่อ เยอร์นิเซีย เพสตีส (Yernisia Pestis) ซึ่งเป็นแบค ทีเรียต้นกำเนิดของเชื้อกาฬโรค โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่าห้าร้อยล้านคนตลอดระยะเวลากว่าเจ็ดพันปี
จากการศึกษา ได้พบว่า สาเหตุที่สตรีผู้นี้เสียชีวิต น่าจะเป็นเชื้อกาฬโรค นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ยังพบร่องรอยคล้ายกัน ในกระดูกของร่างอื่นๆที่อยู่ในสุสานเดียว กัน ซึ่งเป็นได้ว่า ชุมชนนี้ อาจจะถูกกาฬโรคโจมตี
1
หลังยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลงเมื่อ 12,000 ปีก่อน มนุษย์ได้มีพัฒนาการเข้าสู่ยุคหินใหม่และเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากสังคมนักล่าสัตว์ หาของป่า มาเป็นสังคมเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ โดยมนุษย์เริ่มต้นเพาะปลูก เมื่อราวเจ็ดพันปีก่อน ในดินแดนเมโสโปโตเมีย จากนั้น วิถีชีวิตแบบเกษตรกรก็แพร่ไปยังพื้นที่ต่างๆ
1
หน้าตา ชาวยุโรปยุคหินใหม่
นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการอย่างหยาบๆไว้ว่า ในช่วงปลายยุคหินใหม่ของยุโรป เมื่อ5,000 ถึง 6,000 ปี ก่อน ยุโรปมีประชากรราวเจ็ดล้านคน และมีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่ 20,000 ถึง 40,000 คน อยู่นับสิบแห่ง ซึ่งใหญ่กว่าชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของช่วงต้นยุคหินใหม่ถึงสิบเท่า นักประวัติศาสตร์จึง มักเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า การตั้งถิ่นฐานขนาดยักษ์ (mega settlement)
ทว่าการตั้งถิ่นฐานขนาดยักษ์เหล่านี้ มีหลายแห่ง กลับล่มสลาย ไม่ได้ขยายตัวต่อเนื่องจนถึงยุคทองแดงและยุคบรอนซ์ ซึ่งการล่มสลายของชุมชนเหล่านี้ เคยเป็นปริศนาข้อหนึ่ง จนเมื่อมีการพบร่องรอยของโรคระบาด ปริศนาดังกล่าวก็เริ่มคลี่คลาย
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า กาฬโรคน่าจะเริ่มระบาดขึ้นในชุมชนกสิกรรมของวัฒนธรรมคูคูเตนี -ไตรพิลเลีย (Cucuteni–Trypillia culture)ในแถบยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลดำ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ ถือเป็นการรวมกลุ่มตั้งถิ่นฐานที่ใหญ่ที่สุดของยุคหินใหม่
1
จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบว่า วัฒนธรรมคูคูเตนี-ไตรพิลเลีย กินพื้นที่กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร
ประกอบด้วยชุมชนหลายแห่งที่มีประชากรราว 20,000 ถึง 40,000 คน ที่อยู่รวมกันในพื้นที่เพียง 3 - 4 ตารางกิโลเมตร โดยชุมชนในยุคหินใหม่ มักอยู่รวมกัน แน่นหนา เนื่องจากการชลประทานยังไม่ขยายไปมากพอ อีกทั้งยังเพื่อป้องกันการโจมตี ทั้งจากเผ่าเร่ร่อนรวมถึงชุมชนกสิกรรมอื่นๆ และเนื่องจากแถบนี้ ได้มีการติดต่อค้าขายกับพื้นที่อื่น นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า เครือข่ายการค้าในยุคแรกๆ ที่ผ่านทุ่งสเตปป์ทางตะวันออก ได้นำเอาแบคทีเรีย เยอร์นิเซีย ติดมากับขบวนสินค้า
แม้แบคทีเรียชนิดนี้จะมีถิ่นกำเนิดในแถบทุ่งสเตปป์โดยแฝงอยู่กับสัตว์ฟันแทะ แต่เพราะประชากรแถบนั้น ไม่หนาแน่น สุขอนามัยจึงไม่เลวร้ายนัก เชื้อจึงยังไม่มีผลร้ายแรง ทว่าเมื่อเชื้อดังกล่าว เดินทางมาถึงชุมชน ที่มีคนนับหมื่นอยู่รวมกันในพื้นที่แคบๆ ปะปนกันทั้งคน ทั้งสัตว์เลี้ยงและมีภาวะสุขอนามัยที่ย่ำแย่ รวมถึงมียุ้งฉางซึ่งเป็นสถานที่โปรดของพวกฟันแทะ จึงทำให้เชื้อส่งผล กลายเป็นโรคระบาดและแพร่ไปยังชุมชนอื่นๆ ผ่านขบวนสินค้า
1
ภาพจำลองหนึ่งในชุมชน mega settlement ริมฝั่งทะเลดำ
เมื่อมีคนจำนวนมากในชุมชนขนาดยักษ์ล้มตายจากโรคระบาดจึงทำให้คนที่เหลือ ต้องอพยพหนีและชุมชนก็ล่มสลาย ยังไม่นับว่า โรคระบาดได้ทำให้ประชากรเดิมของยุโรปลดลงเป็นจำนวนมากในช่วงปลายยุคหินใหม่เช่นกรณีของบริเตนที่เชื่อว่า โรคระบาดทำให้ประชากรเดิมบนเกาะล้มตายไปกว่าแปดสิบเปอร์เซนต์
ผลที่ตามมา หลังการระบาดในยุคหินใหม่จบลง คือการอพยพของประชากรจากทุ่งสเตปป์ในรัสเซียตะวันออก ที่เข้ามาในยุโรป ช่วงต้นยุคทองแดงจนถึงยุคบรอนซ์และได้เปลี่ยนแปลงลักษณะของชาวยุโรปจนเป็นอย่างที่เห็น
แต่เดิม ชาวยุโรปในยุคน้ำแข็งและยุคหินใหม่ตอนต้น มีผิวสีเข้ม นัยน์ตาสีน้ำตาล ผมดำ ร่างสันทัด จนถึงเมื่อราวแปดพันปีก่อน จึงเริ่มได้รับยีนส์ ที่ทำให้มีผิวสีอ่อน ตาสีฟ้า ร่างสูงใหญ่จากกลุ่มชนที่เริ่มอพยพมาจากทุ่ง สเตปป์ และเมื่อเกิดโรคระบาดที่ทำให้ประชากรเดิมลดจำนวนลง จึงทำให้ประชากรที่มีลักษณะแบบผู้อพยพจากตะวันออก เข้ามาแทนที่มากขึ้น ทั้งยังทำให้ ภาษาพูดและวัฒนธรรมเดิมถูกเปลี่ยนไปตามกลุ่มผู้อพยพมาใหม่ด้วย
มาถึงตรงนี้ อาจจะพอสรุปได้ว่า ผลจากโรคระบาดในยุคหินใหม่ ได้ทำให้ชาวยุโรป มีลักษณะอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ทั้งยังทำให้ ระบบภาษา วัฒนธรรม และ ความเชื่อ เปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนจะกลายมาเป็นรากฐานวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของยุโรปในเวลาต่อมา
หลุมศพโบราณ 4,900 ปีก่อน ค.ศ.
โฆษณา