12 มี.ค. 2020 เวลา 06:54 • ท่องเที่ยว
พระราชวังป่ากวาง
ผมเองก็คงเหมือนกับอีกหลายๆ ท่านที่ได้รับผลกระทบจากพิษภัยของ COVID-19 จนทำให้ทริป การไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิตที่วางแผนมา ครึ่งปีต้องล้มแบบไม่เป็นท่า หลังจากติดต่อเลื่อนตั๋วกับสายการบินเจ้ากรรมนายเวรจนเหนื่อยใจ ในที่สุดทางสายการบินก็ออกมาตรการเยียวยาให้เหล่าลูกค้าจนเป็นที่น่าพอใจสะที
ผมเบนเข็มจากเที่ยว "แดนปลาดิบ" มาเยือน. "ถิ่นมีหอย" แทน เพราะคุ้นเคยสถานที่และชอบในความ Classic ของเมืองนี้ ซึ่งใครที่รู้จักผมดีคงรู้ว่าผมเป็นพวกที่ชอบสิ่งใดแล้ว ต้องไปซ้ำสิ่งนั้นอยู่เสมอ!!!
Trip นี้ก็เช่นกัน ผมมาเที่ยว "หัวหิน" แล้วขับรถเลยชายแดนไปยัง "ชะอำ" เหมือนทุกครั้ง ซึ่งทุกคนต่างทราบดีว่า 2 อำเภอนี้มีอาณาเขตติดต่อกัน แม้จะอยู่คนละจังหวัดกันก็ตาม
สำหรับผมแล้ว ในบรรดาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่เคยไปเที่ยวมา "พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน" เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผมคิดว่าสะกดยากที่สุด จะพิมพ์ทีต้องย้อนไปเปิด Google ดูแล้วดูอีกว่าใช่รึเปล่า ยิ่งภาษาอังกฤษ ยิ่งแล้วใหญ่ (Mrigadyavan Palace) หากตอนเด็กๆ คุณครูออกข้อสอบโดยให้สะกดคำๆ นี้ ผมคงหมดกำลังใจในการเรียนภาษาอังกฤษเป็นแน่แท้
ที่นี่เปิดให้เข้าชมโดยคิดค่าธรรมเนียมแบ่งเป็น 1. เดินชมรอบๆ ด้านล่างเฉยๆ 30 บาท 2. ขึ้นชมหมู่อาคารพระที่นั่ง อยู่ที่ 150 บาท โดยจะมี จนท. มาเดินอธิบายให้ความรู้เป็นรอบๆ รอบละ 20 นาที แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามถ่ายรูปด้านบนพระที่นั่งโดยเด็ดขาด ส่วนเครื่องแต่งกายก็ขอให้แต่งแบบสุภาพทั่วไป แต่หากใครเผลอใส่ขาสั้นมาแบบผม เค้าจะมีโจงกระเบนสีม่วงไว้คอยให้บริการ...ใส่แล้วก็ได้ Feel ไปอีกแบบ
จนท. ที่นี่ดูยิ้มแย้มแจ่มใสและอายุน้อยกว่าที่ผมคิดไว้มาก และเมื่อลองฟังจากหลายๆ ประเด็นที่น้อง จนท. เล่าแล้วคิดว่าน้องคงมีพื้นฐานด้าน สถาปัตยกรรมอย่างแน่นอน
พระราชนิเวศน์ฯ แห่งนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายพระราม 6 กองบัญชาการ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จ. เพชรบุรี สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัย ร. 6 (พ.ศ. 2467) นับนิ้วไปมาก็อายุ 90 กว่าๆ เอง ซึ่งหากจะนับว่าเป็นโบราณสถานก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก แต่ถ้านับว่าเป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อายุน้อยมากๆ แห่งหนึ่งก็คงจะไม่ผิดอะไรนัก
สันนิษฐานกันว่าตำบลห้วยทรายเหนือ ในที่นี้แต่เดิมเป็นป่าที่มีสัตว์จำพวก "เนื้อทราย" ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูล กวาง เป็นจำนวนมาก และด้วยพระปรีชา สามารถทางด้านศิลปะและวรรณกรรมของล้นเกล้ารัชการที่ 6 เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า "มฤค" (กวาง) กับ "ทายวัน" (ป่า) นั่นเอง
พระราชวังแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี (เจ้าเก่า) ผู้ที่แทบจะรับงานสัมปทานก่อสร้าง (เกือบ) ทุกแห่งในยุคนั้น มีลักษณะเป็นอาคารแบบไทยประยุกต์ (กึ่งไทยกึ่งฝรั่ง) มีใต้ถุนยกสูง ตัวเรือนพระที่นั่งทำด้วยไม้สักทองทาด้วยสีออกโทนเขียวไข่กาอันเป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญมีทางเดินยาว พาดผ่านเพื่อเชื่อมไปยัง "ศาลาลงสรง" ที่ติดกับทะเลด้านหน้าได้อย่างสะดวกสบาย
น้องเล่าเพิ่มเติมว่าพระราชวังแห่งนี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้นเพียง 7 เดือนกว่าๆ เท่านั้น ที่ต้องรีบเร่งเพราะต้องการใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่แปรพระราชฐานและประทับรักษาพระองค์นั่นเอง เลยไม่น่าแปลกใจที่พระราชวังแห่งนี้จะมีสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย (Minimal) มีลมทะเลพัดผ่านและอากาศถ่ายเท (Ventilated) สอดประสานกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้เป็นอย่างดี (eco-friendly) ทั้งนี้ พระองค์เสด็จมาประทับพักผ่อนพระอิริยาบทที่พระราชวังแห่งนี้ทั้งสิ้น 2 ครั้ง ด้วยกัน
โฆษณา