Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
⭐Reviewian⭐ รีวิวไปเรื่อยเหนื่อยก็นอน
•
ติดตาม
12 มี.ค. 2020 เวลา 17:24 • การศึกษา
หนังสือ : อ่านใจคนได้ใน 1 นาที You can read anyone
ผู้เขียน : เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน
ความยาว : 185 หน้า
ราคา : 170 บาท
อ่านใจคนได้ใน 1 นาที You can read anyone ปกหน้า
อ่านใจคนได้ใน 1 นาที You can read anyone ปกหลัง
หืม ? จริงอ่ะ ? กระผมจะสามารถอ่านใจคนได้จริงๆน่ะเหรอ ถ้าจริงนี่โครตโกงเลยนะ ว่าแล้วก็หยิบหนังสือนี้กลับไป
อ่านด่วน
“คุณจะได้เรียนรู้กลวิธีทางจิตวิทยาที่เป็นรูปธรรมและผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบความคิดและความรู้สึกของอีกฝ่ายได้อย่างแม่นยำ ไม่เหมือนเทคนิคการอ่านใจคนโดยทั่วไปที่มีความคลาดเคลื่อนสูงมาก”
เปิดมาก็เจอบทนำที่กล่าวไว้แบบนี้ 😲 เอาแล้ว ! กระผมกำลังจะสำเร็จวิชาการหยั่งรู้จิตใจคนอย่างนั้นกระรือ ?
หลังจากที่อ่านจบ (ใช้เวลาประมาณ 2 วันได้ ซึ่งเป็นการอ่านๆ หยุดๆ นอนๆ กลิ้งๆ และเผลองีบหลับไปบางขณะ)
ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยการใช้ กลวิธี ในการตอบคำถามสำคัญ 7 ข้อ (ในหนังสือมีทั้งหมด 7 บท อิงตามคำถาม) ที่สามารถใช้ต่างสถานการณ์กัน พร้อมทั้งหยิบยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้เราเห็นภาพมากขึ้น
เกริ่นมาซักพักละ เข้าเนื้อหากันเลยดีกว่า !
คำถามที่ 1 : เขาปกปิดอะไรคุณอยู่หรือเปล่า
เราจะรู้ได้ยังไงว่า เขากำลังปกปิดอะไรเราอยู่ ทางเลือกมักจะมีไม่มากนักในการค้นหาคำตอบ เช่น
● ถามตรง ๆ วิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นกลไกการปกป้องตัวเองโดยตรง ซึ่งอาจจบด้วยการโกหก และเราจะไม่ได้ความจริงเลย แต่ถ้ากลับกลายเป็นว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน แน่นอนว่าจะต้องส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ซึ่งกระผมมีความเห็นว่า วิธีนี้อาจใช้ได้กับคนบางประเภทเท่านั้น (บางคนก็ชอบให้ถามอะไรตรง ๆ เคลียให้จบๆไปอ่ะนะ)
● ทำเป็นเฉย …แน่นอน ก็จะไม่รู้อะไรเลย…
● พยายามหาข้อมูลเพิ่ม วิธีค่อนข้างจะเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลเพิ่ม และต้องอาศัยความเนียนอย่างมาก ซึ่งถ้าถูกจับได้ แน่นอนคือความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นวล
ทั้ง 3 ทางเลือกด้านบนดูท่าจะไม่ค่อยเวิร์คใช่ไหมขอรับ
ทางผู้เขียนเลยเสนอ 6 กลวิธี ที่ใช้ต่างสถานการณ์กัน ซึ่งแกนของกลวิธีเหล่านี้คือการสร้างสถานการณ์บางอย่างกับผู้ต้องสงสัย และสังเกตพฤติกรรม หรืออาจจะเรียกว่าการจับพิรุธ ก็ได้
กระผมขอหยิบยกมาแค่บางกลวิธีเท่านั้นนะขอรับ เช่น กลวิธี มองทะลุจิตใจคน
ในตัวอย่างเหตุการณ์ มีการขโมยอุปกรณ์สำนักงานกลับไปใช้ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง การที่เราจะเข้าไปถามผู้ต้องสงสัยตรง ๆก็กะไรอยู่ เราสามารถแสร้งทำเป็นมาขอคำปรึกษาและถามอ้อมๆไปว่า ได้ยินมาว่ามีบางคนแอบเอาอุปกรณ์ สนง กลับบ้าน เขาพอจะแนะนำได้ไหมว่าเราจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร
หลังจากนั้นก็ให้สังเกตปฏิกิริยาจากสีหน้าดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ และรู้สึกดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญแล้วเข้ามาปรึกษาเขา ในทางกลับกันถ้าเขาเริ่มรู้สึกอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด และกล่าวปฏิเสธการกระทำดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการส่อพิรุธไปในตัว
“มีแต่ผู้ที่กระทำความผิดตัวจริงเท่านั้นที่จะดึงตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
อีกตัวอย่างนึง กลวิธี ตัวเลือกที่เท่าเทียมกัน หลักการทางจิตวิทยาของกลวิธีนี้คือ ถ้ามีสิ่งต่าง ๆที่เราไม่รู้จักมาวางอยู่ด้วยกัน เราจะสนใจหรือปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆนั้นอย่างเท่าเทียมกัน
ในตัวอย่างเหตุการณ์ มี พนักงานคนนึงกำลังวางแผนที่ลาออกจาก บริษัทแห่งหนึ่ง และนำรายชื่อลูกค้าทั้งหมดติดตัวไปด้วย
ทางผู้จัดการสงสัยว่า พนักงานคนนี้ได้มีการติดต่อกับ เจ้าของ บริษัทคู่แข่งด้วยหรือไม่ เขาจึงเรียก พนักงานคนนั้นเข้ามาพบพร้อมทั้งให้ดูแฟ้ม 3 แฟ้ม
หนึ่งในนั้นมีชื่อเจ้าของ บริษัทคู่แข่งอยู่ด้วย พร้อมทั้งสังเกตอาการของ พนักงานคนนั้น ถ้าสายตาของเขาจ้องแฟ้มที่มีรายชื่อที่เขาคุ้นเคย นั่นคือ ชื่อเจ้าของ บ. คู่แข่งนานเกินไป เท่ากับเขากำลังส่อพิรุธอยู่นั่นเองขอรับ
หลังอ่านจบมา 1 บท รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้สอนการจับผิดคนอื่น มากกว่าการอ่านใจซะอีก
แต่ !
อย่าพึ่งด่วนสรุปไป ยังเหลืออีกตั้ง 6 บท
คำถามที่ 2 : เขาชอบหรือไม่ชอบกันแน่
ในบทนี้จะประกอบด้วย 4 กลวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบ ว่าคนตรงหน้ามีความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้น ๆอย่างไร ชอบหรือไม่
กลวิธี รอยประทับ ผู้เขียนยกตัวอย่างถึงการทดลอง ของนักวิทยาศาสตร์รัสเซียท่านหนึ่ง ซึ่งการทดลองนี้น้องหมาทดลองต่างน้ำลายไหลเมื่อเขาเดินเข้าห้องมา เพราะเขาทำให้น้องหมาเรียนรู้ว่า เมื่อเขาปรากฏตัวขึ้น พวกมันจะได้อาหาร ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข (Conditioned reflex)
อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาหน่อยคือ เมื่อใดที่คุณเจอกับคนที่ชื่อเดียวกันกับคนที่ทำไม่ดีกับคุณในวัยเด็ก คุณมีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่ดีต่อเขา
จากตัวอย่างข้างต้นนี้จะเห็นว่า ความทรงจำที่ถูกเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่ว่า ภาพ เสียง ชื่อ หรือรสชาติ จะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกโดยตรง
ลองมาดู ตัวอย่างเหตุการณ์กัน
คุณได้รับหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย หลังจากการเจรจาที่ยาวนาน กลับพบว่าคุณแทบอ่านความคิดของทั้งสองฝ่ายไม่ออกเลย บนโต๊ะการเจรจานั้นมีปากกาสีน้ำเงินอยู่หลายแท่ง หลังจบการพูดคุย คุณให้ทั้งสองฝ่ายเซ็นเอกสารโดยมีทั้งปากกาสีน้ำเงิน และปากกาสีดำให้เลือก
คนที่เลือกปากกาสีดำมีแนวโน้มที่จะไม่พอใจหลังจากการเจรจา เพราะถ้าเขามองว่าการเจรจานี้จบไม่สวย ปากกาสีน้ำเงินนั้นก็ได้ถูกเชื่อมโยงกับความรู้สึกในแง่ลบไปด้วย
ในทางกลับกันคนที่เลือกปากกาสีน้ำเงินมีแนวโน้มว่าเขาจะพึงพอใจหลังจากการเจรจา เพราะถ้าเขามองว่าการเจรจานี้จบได้สวย เขาก็ได้เชื่อมโยงความรู้สึกพอใจกับปากกาสีน้ำเงินไปด้วย
". . . . ." - นูกิ
….พักดมยาดมก่อนไหมขอรับ กระผมอ่านวนอยู่หลายรอบกว่าจะนึกภาพออก 😵
อีกตัวอย่างนึงละกัน คุณกำลังเสนองานให้อีกคนฟังอยู่ ทั้งสองนั่งอยู่บนเก้าอี้สีแดง จากนั้นคุณก็พาเขามาอีกห้องนึงโดยที่มี เก้าอี้สีแดงอยู่ 2 ตัว และเก้าอี้สีเทาอยู่ 2 ตัว แล้วสังเกตว่าเขาจะเลือกนั่งสีไหน
ถ้าเขาเลือกสีแดง แสดงว่าเขารู้สึกดีกับการนำเสนอของคุณ เพราะสีแดงได้ถูกเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่ดี
ถ้าเขาเลือกสีเทา แสดงว่าเขาไม่ชอบการนำเสนอของคุณ นั่นก็เพราะสีแดงได้ถูกเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่ไม่ดี เขาเลยไม่เลือก
คำถามที่ 3 : เขามั่นใจจริง ๆหรือแกล้งวางท่าไปอย่างนั้น
อารมณ์เหมือนการบลัฟกันตอนเล่นไพ่โป๊กเกอร์เลยนะขอรับ
ทางผู้บอกว่าให้สังเกตสัญญาณต่าง ๆดังนี้
สัญญาณที่ 1 : ลักษณะภายนอก
ไม่ว่าจะเป็น สีหน้า อาการสั่นของเสียง หรือน้ำเสียง แม้กระทั่งการกระพริบตา ล้วนแล้วแต่เป็นตัวบ่งชี้อย่างดีว่าเจ้าตัวมีความมั่นใจหรือไม่ ซึ่งกระผมคิดว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยาก
สัญญาณที่ 2 : การเพ่งสมาธิ
คนที่มีความมั่นใจจะเพ่งสมาธิไปที่เป้าหมาย และใส่ใจกับตัวเองน้อยลง ในทางกลับกัน คนที่กำลังประหม่าจะหมกมุ่นกับ “ความดูดี” ของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น ถ้าใครก็ตามเวลาที่เขามีความมั่นใจเวลาเขาพูด เขาจะสนใจแค่ว่าคุณเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังพูดหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน คนที่ไม่มีความมั่นใจจะสนใจว่า เขาดูเป็นอย่างไรในสายตาคุณ เพราะสมาธิของเขาจะจดจ้องอยู่กับตัวเขาเอง ไม่ว่าท่าทางหรือวิธีการพูด ซึ่งจะทำให้เขาดูงุ่มงามกว่าปกติ
คำถามที่ 4 : สถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่
ในบทนี้มี 5 กลวิธีด้วยกัน หลักๆคือทำให้ว่าเขากำลังรู้สึกอะไรอยู่
ในที่นี้ขอหยิบยกมาแค่ 2 กลวิธีเท่านั้นนะขอรับ
กลวิธี ความไม่สอดคล้องกัน
“เมื่อใดก็ตามที่คุณเผชิญหน้ากับการสื่อสารที่มีความหมายสองทางในคราวเดียวกัน จงเชื่อการแสดงออกทางอารมณ์มากกว่าสิ่งที่พูดออกมา”
ตัวอย่างเหตุการณ์เช่น นายคนหนึ่งกำลังทำหน้าตาบูดบึ้งขณะที่บอกรักกับคุณแฟน
จะสังเกตได้ว่าการแสดงออกทั้ง 2 อย่างนั้นตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจากกลวิธีนี้เรา ทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้รู้อย่างที่เขาได้พูดออกไปเลย
กลวิธี พิรุธจากดวงตา
โดยทั่วไปแล้ว การที่เรากลอกตาขึ้นด้านบน จะเป็นไปเพื่อดึงภาพออกจากความทรงจำ กลอกตาไปมาสำหรับเสียง และกลอกตาลงล่างสำหรับภาษาหรืออารมณ์ความรู้สึก
ผู้เขียนยังได้กล่าวว่า สำหรับคนถนัดขวา โดยส่วนใหญ่แล้ว จะกลอกตาไปทางขวา -> สำหรับเรื่องที่แต่งขึ้น
และกลอกตาไปทางซ้าย <- สำหรับเรียกความทรงจำ (ในคนที่ถนัดซ้ายทิศทางจะตรงกันข้าม)
ตัวอย่างเหตุการณ์ ผู้จัดการได้ถามลูกน้องว่าทำไมมาสาย คำตอบที่เขาได้รับคือ มีอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำระหว่างทาง เลยทำให้รถติด ผู้จัดการเลยถามต่อไปว่า รถคันนั้นสีอะไร พร้อมทั้งสังเกตพิรุธจากดวงตาของเขา ว่าเขากำลังนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือพยายามกุเรื่องขึ้นมา
คำถามที่ 5 : เขาสนใจจริงๆ หรือคุณกำลังเสียเวลาเปล่า
ในบทนี้กระผมว่ามีประโยชน์อยู่นะขอรับ
ทางผู้เขียนได้กล่าวถึง 3 กลวิธีที่จะตอบคำถามที้ได้
กลวิธี ประโยชน์ส่วนตัว
ให้จำกฎไว้ข้อนึง “คนเราจะทำในสิ่งที่สอดคล้องกับประโยชน์ของตัวเราเอง”
ง่ายๆคือ โดยปกติแล้วคนเราเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
และถ้าอยากจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรให้ดูที่เขาทำเป็นหลัก ไม่ใช่สิ่งที่เขาพูด
ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งได้บอกว่าเขายุ่งเกินกว่าที่เขาจะทำในสิ่งที่เขาสนใจ
ซึ่งแน่นอนว่าไม่จริงเลย เพราะโดยปกติแล้วเราทุกคนมักจะเผื่อเวลาสำหรับเรื่องที่สำคัญอยู่แล้ว
เมื่อเขาบอกว่าเขาไม่มีเวลา นั่นก็แสดงว่าเขาไม่มีความสนใจจริง ๆ
อีกอย่างเราสามารถสังเกตได้จากดวงตาของเขาอีกด้วย
เมื่อคนเราตื่นเต้นหรือสนใจนั้น รูม่านตาเราจะขยายขึ้น เพื่อที่จะทำให้เราสามารถ “มองเห็นได้อย่างชัดเจน” และสามารถรวบรวมข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น
อีกสัญญาณนึงคือ สายตาที่ไม่อาจละจากที่สิ่งเราสนใจไปได้ เหตุผลก็คล้ายๆกันรูม่านตาที่ขยายขึ้นนั่นแหละขอรับ
กลวิธี กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
สาระสำคัญ คือ “คนที่สนใจในของบางสิ่งหรือคนบางคนย่อมอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าตนที่ไม่ค่อยสนใจมากนัก” หน้าที่ของเราคือการไปกระตุ้นต่อมอยากรู้ของเขานั่นแหละขอรับ ซึ่งกระผมคิดว่าสามารถนำไปประยุกต์ได้กับหลายสถานการณ์เลยทีเดียว
ลองมาดูตัวอย่างกัน
ถ้าคุณอยากจะรู้ว่า บ. เก่าของคุณยังสนใจที่จะรับคุณกลับเข้าไปทำงานอยู่รึเปล่าให้ ลองส่ง อีเมลเปล่าๆไปหาเขาดู
ถ้าเขายังสนใจในตัวคุณ เขาย่อมอยากรู้ว่าคุณกำลังเขียนอะไรถึงเขากันแน่ แต่ถ้าเขาเมินอีกอีเมลนั้นล่ะก็ ... ชัดเลย ไม่จำเป็นต้องสืบต่อ
กลวิธี ปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นจริง
ในกลวิธีจะแบ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆอยู่ 4 ขั้นตอน
นั่นก็คือ !!!
การสังเกตเบื้องต้น ให้เราประเมินคร่าวๆก็ว่าเขามีความมั่นใจแค่ไหน เพราะระดับความมั่นใจของคนหนึ่ง มักจะสวนทางกับระดับความสนใจของเขา
ลองนึกตามตัวอย่างนี้ดู คนที่ตกงานมานานหลายปี เวลาถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน ย่อมที่จะมีระดับความมั่นใจน้อยกว่าตอนที่เขายังมีงานทำและกำลังมองหางานใหม่
ยิ่งเราสนใจมากเท่าไร เราจะยิ่งหมกมุ่นกับเรื่องนั้นมากเท่านั้น นั่นจะส่งผลให้มุมมองของเราแคบลง และหันมาใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้นไปด้วย
จากตัวอย่างด้านบนทำให้เขา เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการสัมภาษณ์งาน และกังวลเกี่ยวกับทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น
(มั่นใจน้อย สนใจมาก)
แต่กลับกัน ถ้าเขามีตัวเลือกเยอะ เขามีแนวโน้มที่จะพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆด้วยความเป็นกลาง แทนที่จะมาใส่กับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ (มั่นใจมาก สนใจน้อย)
สรุปขั้นตอนแรก คือดูระดับความมั่นใจของเขาก่อน ถ้าเขามั่นใจมากเป็นไปได้ที่ความสนใจของเขาอาจจะน้อย เนื่องจากเพราะเขามีทางเลือกอื่นอยู่แล้ว หรือไม่เขาก็รู้อยู่แล้วว่า ยังไงเขาก็ได้มาครอบครอง แต่ถ้าเขาดูไม่มีความมั่นใจเลย นั่นก็เป็นสัญญาณนึงที่แสดงว่าเขาอาจมีความสนใจไม่น้อยเลย
การปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นจริง ในขั้นตอนนี้ให้เราทำหน้าที่ดับฝันของเขาซะ คือการทำให้เขารู้สึกว่าโอกาสที่เขาจะได้มานั้นลดลง เพื่อเป็นการบีบให้เขาแสดงอาการบางอย่างออกมา
สังเกตปฏิกิริยา ถ้าเขารู้สึกผิดหวังหรือหงุดหงิดก็เป้นที่แน่นอนว่าเขาสนใจ แต่ถ้าเขารู้สึกเฉยๆก็ ... นะ
เวลาเราอยากได้บางอย่าง แต่กลัวว่าจะไม่ได้มาครอบครอง เราจะถูกบีบให้แสดงอาการบางอย่างออกมา ซึ่งสังเกตได้โดยง่าย
แล้วมีสถานการณ์ที่เราสนใจอย่างมาก แต่จะไม่แสดงอาการกังวลหรือผิดหวังเลยไหม ?
แน่นอนว่ามี สถานการณ์นั้นคือการที่เราเชื่อว่าไม่มีทางที่เราจะทำได้สำเร็จอยู่แล้ว
การเปิดช่อง ในบางสถานการณ์ที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางจะได้มา ทั้ง ๆที่เรามีความสนใจอยู่ เราจะไม่แสดงอาการอะไรเลย ในขั้นตอนนี้เลยให้เราเสนอความเป็นไปได้อีกทางให้เขาที่เขาจะสามารถได้มา ถ้าเขารู้สึกตื่นเต้นแล้วล่ะก็ นั่นก็ชัดเลยว่าเขาสนใจอยู่
คำถามที่ 6 : เขาอยู่ข้างเดียวกับคุณ หรือจ้องจะแทงข้างหลัง
หัวข้อนี้ประกอบไปด้วย 5 กลวิธี ซึ่งจะทำให้เราแบ่งแยกได้ว่าเขาจริงใจกับคุณ จริงๆ หรือแค่แกล้งทำกันแน่
เรามาดูตัวอย่างกลวิธีกันเล้ย !
กลวิธี เขาแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องรึเปล่า
เราย่อมต้องการให้เพื่อนของเรา ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์อย่างแน่นอน
ในกลวิธีนี้เราจะสร้างเหยื่อล่อ เพื่อใช้ในการทดสอบ เหยื่อล่อในทีนี้คือ ข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อสำคัญคือเราและเป้าหมายต้องรู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ
ตัวอย่างเหตุการณ์ คือ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเสนอตัวที่จะช่วยเราเตรียมการประชุมกับลูกค้า ซึ่งเราไม่ค่อยแน่ใจว่าเขามีจุดประสงค์อะไรแอบแฝงรึเปล่า
เหยื่อล่อที่เรานำมาใช้ทดสอบ คือ ข้อมูลเท็จที่ว่า ลูกค้ารายนี้ต้องการให้โฆษณาออกมาเคร่งขรึม แต่แฝงด้วยอารมณ์ขัน คล้ายแบบปีที่แล้วซึ่งเขาถูกใจมาก โดยที่ความจริงคือ ลูกค้าไม่ได้ชอบเลยซักนิด ซึ่งทั้งคู่ก็รู้ข้อนี้ดี
ถ้าเขาแย้งขึ้นมา ก็หมายความเขาตั้งใจที่จะช่วยเหลือจริง ๆ แต่ถ้าเขาเลือกที่จะตามน้ำไปโดยที่ไม่แย้งแล้วล่ะก็ …
กลวิธี ล่อเสืออกจากถ้ำ
วิธีนี้ก็ต้องใช้เหยื่อล่ออีกเหมือนเคย แต่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า
วิธีนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นแรก ขอให้เขาทำอะไรบางอย่างให้ โดยที่ต้องไม่มีความเสี่ยง และต้องไม่เหลือบ่ากว่าเลย
ขั้นสอง ขอให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ
ไม่เห็นภาพสินะขอรับ งั้นลองดูตัวอย่างนี้ดู
ผู้บริหารคนหนึ่งต้องการที่จะตรวจสอบ พนักงาน 3 คนว่าใครเป็นคนเข้าไปในห้องเก็บของและนำข้อมูลลับของ บ ออกมา
เขาเลยบอกว่า ในห้องเก็บของนั้นมีกล้องวงจรปิดอยู่ และสามารถจับภาพคนร้ายได้บางส่วน ซึ่งคนร้ายได้ใส่เสื้อแจ็คเก็ตของ บ อยู่ แต่บนแจ็คเก็ตนั้นไม่มีตราของบริษัทอยู่
เขาเลยให้ทั้ง 3 คนเอาเสื้อแจ็คเก็ตมาให้เขาดู
ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์ที่สมมุติขึ้น ไม่มีกล้องวงจรปิดอะไรทั้งนั้น และแน่นอนว่าเสื้อแจ็คเก็ตทุกตัวมีตราของบริษัท
จุดประสงค์ก็เพื่อให้คนร้ายคิดว่าไม่มีความเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย แล้วก็ยังจะสามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยว่าตนไม่ใช่คนผิด
ทีเด็ดของกลวิธีนี้คือ การหักมุมโดย ที่ผู้บริหารคนนี้บอกไปอีกว่า เขาเข้าใจผิดเรื่องตรา บริษัทบนเสื้อ แท้จริงแล้วภาพบนกล้องวงจรปิดนั้นมีตราอยู่บนแจ็คเก็ตอยู่ แต่ด้วยความที่ภาพไม่ค่อยชัด
หลังจากนั้นเขาเลยบอกกับ พนักงานว่าจะใช้วิธีการตรวจหา ฝุ่นผง จากห้องเก็บของที่ติดกับเสื้อแจ็คเก็ตแทน พร้อมทั้งบอกไปอีกว่า จะทิ้งเสื้อไว้ให้ตอนนี้ หรือค่อยเอามาให้หลังเลิกงานก็ได้
จะเห็นว่านี่เป็นการบีบให้คนร้าย ต้องทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ และแน่นอนว่ามีการเสนอหนทางให้เลือกอีกด้วย !
เท่านี้ก็สามารถระบุตัวคนร้ายได้แล้วนะขอรับ คนที่พยายามบ่ายเบี่ยงเพื่อที่จะนำแจ็คเก็ตมาให้หลังเลิกงาน มีแนวโน้มสูงที่ว่าเขาคนนั้นจะไป ทำลายหลักฐาน อย่างแน่นวล
เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ! – นักสืบคนนึงได้กล่าวเอาไว้
จะเห็นว่าบทนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างแบบทดสอบซักเล็กหน่อยนะขอรับ
คำถามที่ 7 : เขาเป็นคนอันตรายรึเปล่า
ในหัวข้อนี้หลักๆจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับสัญญาณเตือน 3 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก สัญญาณเตือนโดยทั่วไป เช่น เขาใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือเปล่า หรือพยายามแก้ปัญหาด้วยการเจรจาแทน เขาเคยถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายมาก่อนรึเปล่า เขาใจร้ายกับสัตว์รึเปล่า
กลุ่มที่สอง สัญญาณเตือนในคู่รัก เช่น เขาเป็นคนขี้หึงหวง และพยายามจะควบคุมคุณหรือเปล่า เขาชอบทำร้ายคุณด้วยคำพูดรึเปล่า เพื่อนๆหรือคนในครอบครัวเคยเตือนเกี่ยวกับ อะไรบางอย่าง ในตัวเขารึเปล่า
กลุ่มที่สาม สัญญาณเตือนในที่ทำงาน เช่น เขามีความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีกับเพื่อนร่วมงานรึเปล่า เขามีปัญหาเรื่องเงินหรือชีวิตส่วนตัวรึเปล่า เขาไม่ได้เลื่อนตำแหน่งและแสดงอาการหงุดหงิดที่ไม่มีความก้าวหน้าในการงานรึเปล่า
ในบทนี้กระผมอ่านผ่านๆมาก โดยความเห็นส่วนตัวก็ไม่ยักจะเห็นด้วยกับสัญญาณที่กล่าวมาข้างต้นแฮะ
ฮู้วว จบซะที
"สภาพตอนอ่านจบ" - นูกิ
ความรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ กระผมรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่สอนวิธีการจับพิรุธ มากกว่าจะเป็นวิธีการอ่านใจคนซะอีก ซึ่งการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้เราเห็นภาพได้โดยง่าย แต่กลวิธีส่วนใหญ่ต้องอาศัยการไปพลิกแพลงประยุกต์ใช้ซะหน่อย จะมีบางกลวิธีเท่านั้นที่คิดว่าสามารถนำไปใช้ได้เลย ผู้เขียนเคลมว่าวิธีเหล่านี้มีความแม่นยำสูง ซึ่งกระผมคิดว่าข้อนี้ผู้อ่านคงต้องพิจารณาดู และนำไปทดสอบเองนะขอรับ
เรามาลองสรุป ข้อดี และข้อควรพิจารณาของหนังสือเล่มนี้กันดู
ข้อดีคือ มีการหยิบยกเหตุการณ์มาเป็นตัวอย่างเพื่อประกอบการอธิบาย ทำให้เราเข้าใจภาพที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ บทความมีการจัดเรียงและแบ่งหัวข้อมาให้อ่านง่าย แลดูสบายตา
ข้อควรพิจารณาคือ ความแม่นยำของวิธีการเหล่านี้ ที่ต้องลองนำไปพิสูจน์ดู บางกลวิธีจะจำกัดแค่บางสถานการณ์เท่านั้น แล้วยังต้องอาศัยการพลิกแพลงในการใช้ระดับนึงอีกด้วย
บางหัวข้อถ้าเราอ่านเข้าใจ แล้วคิดว่าเป็นไปได้เราจะอ่านสนุก แต่ในบางหัวข้อที่ดูเข้าถึงยากซักหน่อย มันทำให้ดูน่าเบื่อเวลาอ่าน
สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ กระผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้สอนเราให้เป็นคนช่างสังเกต ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณหรือปฏิกิริยาเล็ก ๆ น้อย ๆนั้น เราสามารถเอามาตีความได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของคนๆนั้นด้วย ซึ่งคนที่รู้ดีที่สุดคือคนที่ใกล้ชิดซึ่งก็คือเพื่อนๆนี่ล่ะขอรับ
อ้อ ! ประโยชน์อีกอย่างที่คิดได้คือ เวลากระผมทำอะไรผิด ก็พอรู้แล้วละว่าต้องควบคุมปฏิกิริยาตัวเองอย่างไรไม่ให้ถูกจับได้ (กลอกตารัวๆ) อิอิ 😁
Rating
ความคุ้มค่า (เนื้อหา vs ราคา) 🌕🌕🌗🌑🌑
การนำไปใช้ประโยชน์ 🌕🌕🌑🌑🌑
ภาพรวมเนื้อหา 🌕🌕🌗🌑🌑
อ่านสบายตา 🌕🌕🌕🌕🌑
อ่านสนุก 🌕🌕🌗🌑🌑
สุดท้ายนี้กระผมว่า ทุกหนังสือล้วนมีประโยชน์ ถ้าเราประยุกต์ใช้ให้ถูกกับสถานการณ์นะขอรับ
อ่านจบแล้วอย่าลืมไปอุดหนุนหนังสือกันด้วยนะขอรับ 😆
"กราบขอบพระคุณอย่างสูงยิ่ง" - นูกิ
http://bit.ly/2TLuWr5
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย