13 มี.ค. 2020 เวลา 07:00 • กีฬา
พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ : นักแบดมินตันนอกระบบสมาคม ผู้โค่นแชมป์โลก 3 สมัยถึงถิ่น
"หนูไม่แนะนำให้ใครออกจากสมาคมฯ" สาวน้อยวัย 22 ปี ที่ครั้งหนึ่งเธอตกเป็นข่าวเรื่องขอลาออกจากสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ เอ่ยประโยคนี้กับเรา
2
"ระบบ" เป็นสิ่งที่ถูกสร้างออกมาเพื่อควบคุมให้มนุษย์ อยู่ในกรอบและมาตรฐานที่องค์กรและหน่วยงานวางไว้ ระบบ จึงมีความสำคัญมากกว่าตัวบุคคล หรือในบางครั้ง ระบบก็เปรียบเสมือนเครื่องกรองชั้นดีที่คัดคนที่เข้ากับองค์กรนั้นๆ
แต่ใช่ว่าระบบอย่างหนึ่ง จะเข้ากับคนทุกคน เพราะทุกอย่างบนโลก เมื่อมีด้านที่ใช่ ย่อมที่อีกด้านที่ไม่ใช่ ซึ่งตรงข้ามกับจริต หรือความต้องการส่วนบุคคล
หมิว - พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ นักแบดมินตัน มือวางอันดับ 17 ของโลก เป็นคนหนึ่งที่ยอมสละตัวเองจากการเป็น นักกีฬาของสมาคมฯ เพื่อออกจากระบบเดิมๆ ไปสู่ความท้าทายใหม่ ในการเป็นนักกีฬาอิสระ ที่เธอเลือกเดิน
1
แรงจูงใจที่ทำให้เธอก้าวออกมา และสิ่งที่ได้เธอเรียนรู้มากสุด ในวันที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็น "นักกีฬาในการดูแลของสมาคมฯ" คืออะไร? นั่นคือคำตอบที่เราอยากรู้จากเธอ
คนในระบบ
"หนูเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่คุณพ่อคุณแม่ พยายามผลักดันส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา หนูเล่นแบดมินตัน ตั้งแต่ 4 ขวบ ตามพี่สาว (พชรพรรณ ช่อชูวงศ์)"
"พอหนูโตขึ้น พ่อกับแม่ก็จะส่งหนูไปเรียนแบดมินตันทุกวัน อย่างจันทร์-ศุกร์ จะฝึกซ้อมช่วงเย็นหลังเลิกเรียนอยู่ภายในจังหวัดระยอง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ คุณพ่อกับคุณแม่จะขับรถพาไปเช้า-เย็นกลับ มาซ้อมที่กรุงเทพ เป็นอย่างนี้อยู่ 7-8 ปี"
"ในตอนนั้นหนูไม่ได้คิดว่าตัวเองจะไปไหนระดับไหน แค่รู้สึกสนุกที่ได้เล่นกีฬา ได้เข้ามากรุงเทพฯ เพราะหนูไม่ได้ชอบเรียนเท่าไหร่ แต่ทางบ้านก็มีเกณฑ์ว่า ต้องเล่นกีฬาและรักษาผลการดีให้ดีด้วย"
นักตบลูกขนไก่หญิง มือ 3 ของไทย ย้อนความทรงจำของเธอ บนพื้นคอร์ตยางสนามแบดมินตัน ... เธอเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ มีความตั้งใจอยากเห็นบุตรสาวทั้งสองเป็นนักกีฬา
เส้นทางของ พรปวีณ์ และ พชรพรรณ ดูไปได้ดีและมีอนาคต เมื่อเธอและพี่สาว ได้รับการทาบทามให้เข้าไปเป็น นักกีฬาเยาวชน ในสังกัดของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ที่ซึ่งเหล่านักแบดฯ อยากจะเข้าไปอยู่ในการดูแลของสมาคมฯ
"ตอนอายุสัก 7-8 ขวบ หนูเริ่มลงแข่งรายการตามรุ่นอายุ มีผลงานบ้าง พออายุสัก 11 ปี หนูได้เข้าไปอยู่ในโครงการของ SCG ทำให้หนูมีโอกาสพอสมควร ผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ ได้แชมป์ติดมือมาบ้าง จนสมาคมฯ เรียกตัวเข้าไป"
1
"การได้เป็น นักกีฬาของสมาคมฯ มันดีมากสำหรับหนูในตอนนั้น หนูมีเงินเดือน มีเบี้ยเลี้ยง โบนัส เรื่องการฝึกซ้อม การแข่งขัน ทุกอย่างสมาคมจัดการให้หมด หนูมีหน้าที่แค่ซ้อมตามระบบที่เขาวางไว้ และไปแข่งขันตามรายการต่างๆ ที่ผู้ใหญ่ส่งแข่ง"
ตลอด 3-4 ปีที่อยู่ในสมาคมฯ พรปวีณ์ เธอไม่ได้รู้สึกว่าการต้องใช้ชีวิต และฝึกซ้อมอยู่ที่นี่เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากเกินไป
ตรงกันข้าม เธอรู้สึกว่าการฝึกซ้อมตามระบบ ที่ทุกคนได้รับการดูแลเท่ากัน ฝึกแบบเดียวกัน กลายเป็นสิ่งที่ฝืนกับความรู้สึกของเธอ และนั่นทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นทุกวัน
1
"ช่วงที่อยู่ในการแข่งขันระดับเยาวชน ผลงานหนูกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร หนูเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ซ้อมแบบนี้ มันจะได้เหรอ? หนูแค่รู้สึกว่าระบบที่เขาวางไว้ มันไม่เข้ากับตัวหนู"
"หนูเคยคุยเรื่องนี้กับโค้ชและผู้ใหญ่ อยากให้เขาปรับการฝึกให้เข้ากับนักแบดฯ แต่ละคน เพราะต่างคนก็มีสไตล์ไม่เหมือนกัน แต่เขาบอกว่าไม่สามารถเน้นใครคนหนึ่งได้ ต้องฝึกตามระบบ เหมือนๆ กัน"
"เขาไม่เคยมากดดันหรือตำหนิหนู หนูว่ามันสบายมาก แต่เวลาลงไปแข่งจริงแล้วแพ้ หนูรู้สึกอายนะ เหมือนตัวเองตัน ไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปได้มากกว่านี้แล้ว"
"ตอนอายุ 17 ปี หนูกับครอบครัว จึงเข้าไปคุยกับ สมาคมฯ ว่าต้องการลาออกไปซ้อมเองข้างนอก สมาคมฯ อนุญาตแต่หนูยังต้องเป็นนักกีฬาของสมาคมฯ หลังออกจากไปซ้อมข้างนอกได้ 6 เดือน ปรากฏว่าหนูได้รองแชมป์โลก (ระดับเยาวชน ปี 2016 - แพ้ เฉิน ยู่เฟย ของจีนในรอบชิง) กลับมา ทำให้สมาคมฯ เรียกให้หนูเข้าไปซ้อมในสมาคมอีกครั้ง บอกว่าได้จ้างโค้ชระบบโลกเข้ามา หนูกับครอบครัวจึงตัดสินใจกลับเข้าไปอยู่ในสังกัดสมาคม เพราะคิดว่าอะไรๆ น่าจะดีขึ้น"
คนนอกระบบ
พรปวีณ์ วัย 18 ปี พ้นผ่านการแข่งระดับเยาวชนในกีฬาตบลูกขนไก่ สู่การเทิร์นโปรเป็นอาชีพ เธอกลับมาฝึกซ้อมและอยู่ในการดูแลของ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย อีกหน
ทว่าผลงานของเธอ กลับไม่ได้ดีไปอย่างที่เธอคาดหวัง พบเจอกับความผิดหวังบ่อยครั้ง ตลอดระยะเวลาที่กลับมาอยู่ในชายคาของ สมาคมฯ เธอยังคงรู้สึกแปลกๆ ถึงโปรแกรมการฝึกซ้อม และขีดจำกัดของด้านร่างกายของตัวเธอ
"ส่วนตัวหนูเป็นคนที่บาดเจ็บใหญ่ เห็นรูปร่างสูงใหญ่แบบนี้ ถ้าซ้อมหนักมากจะมีอาการบาดเจ็บง่าย ในความคิดของหนู หนูคิดว่า ต่อให้เราซ้อมเยอะ แต่ซ้อมไม่ถูกจุด ไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องเฉพาะบุคคล ก็ไม่รู้จะซ้อมเยอะๆ ไปทำไม"
"อย่างพี่เมย์ รัชนก (อินทนนท์) ก็ไม่ได้ซ้อมกับสมาคมฯ เขาซ้อมอยู่ที่ บ้านทองหยอด ขนาดพี่เมย์โดนอัด โดนแก้ในตอนซ้อมมาหนักมากตั้งแต่เด็ก พี่เมย์ ยังขึ้นไปอยู่ระดับท็อปของโลกยากเลย ดูหนูสิ หนูซ้อมได้แค่นี้ ไม่สามารถหนักได้ขนาดนั้น หนูไปถึงระดับสูงได้เหรอ?"
1
"เวลาที่หนูแพ้ เขาก็จะพูดแค่ว่า หนูทำได้ดีแล้ว หนูทำได้เพอร์เฟคท์แล้ว แต่หนูไม่ได้คิดแบบนั้น หนูไม่ได้พอใจที่อยู่ไปวันๆ เป็นนักแบดมินตันธรรมดาๆ คนหนึ่งที่รอรับเงินเดือน ถ้าหนูพอใจจุดนี้ หนูสามารถอยู่กับสมาคมได้นานเป็น 10 ปีก็ได้"
"หนูไม่รู้หรอกว่าตัวเองคิดผิดหรือถูก เพราะมันไม่มีอะไรการันตีว่า หากออกจากสมาคมฯ มาฝึกซ้อมเอง จะมีผลงานดีขึ้นไหม แต่หนูแค่อยากลองดูสักครั้ง ไม่อยากติดค้างในใจ"
ปัญหาเรื่องการฝึกซ้อมที่เธอคิด ได้ส่งผลมาถึงการแข่งขัน พรปวีณ์ เกิดความรู้สึกว่า พละกำลังของตนเองเริ่มถดถอย เมื่อผ่านรอบแรกเข้าสู่รอบลึกๆ หรือในสถานการณ์ที่เกมสูสี เธอมักจะผิดพลาด ไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนของเธอได้เสียที
ท้ายที่สุด พรปวีณ์ ตัดสินใจขอลาออกการเป็น นักกีฬาของสมาคมฯ จนกลายเป็นข่าว และกรณีพิพาทระหว่าง เธอกับสมาคมฯ
"ความจริงถ้าสมาคม สามารถทำระบบที่หนูคิดว่าดีกับทุกคนในนั้น หนูก็ไม่อยากออก และหนูไม่ได้อยากให้ใครที่อยู่สมาคมฯ ออกมาด้วย"
1
"หนูคิดว่า โลกนี้ไม่มีใคร ไม่มีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข ไม่มีใครถูกเสมอไป คนทุกคนควรต้องปรับปรุงและแก้ไข"
1
ในวันที่เป็นอิสระ
เช้าวันหนึ่ง "พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์" ตื่นลืมตาขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่แตกต่างออกไป จากความเคยชินตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเธอได้กลายเป็น นักกีฬาอิสระ ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฯ
ในความสบายใจที่เธอได้รับกลับมา ด้านหนึ่งของจิตใจ เธอสัมผัสได้ถึงความกดดัน ความรับผิดชอบที่ต้องเพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อเลือกที่เดินบนเส้นทางนี้
1
"ก่อนออกจากสมาคมฯ พ่อเคยถามหนูว่า 'ป๊า ไม่ได้อยากพูดให้หนูอยู่ต่อนะ ไหนลองบอกป๊าสิว่า ถ้าหมิวออกจากสมาคมฯ จะมีแผนการอย่างไรต่อ'"
"ตลอดเวลา 1 ปีกว่าที่หนูออกมาจากสมาคมฯ หนูแทบไม่มีวันหยุดเลย ซ้อมยันวันปีใหม่ เพราะหนูต้องคิดและวางแผนว่า ในแต่ละวัน หนูจะทำอะไรบ้าง"
2
"หนูไม่แนะนำให้ใครออกจากสมาคมฯ มาทำแบบหนูนะ เพราะมันเป็นภาระความรับผิดชอบที่หนักมาก อยุ่ที่สมาคมฯ หนูมีหน้าที่แค่ซ้อมกับแข่งให้ดี แต่พอออกจากสมาคมฯ หนูต้องจัดการทุกๆ อย่าง ตั้งแต่ส่งรายชื่อไปแข่งขัน, จองตั๋วเครื่องบิน, ที่พักเอง ฯลฯ เรียกว่าทำอย่างอื่นด้วย ที่ไม่ใช่แค่ซ้อมอย่างเดียว"
พรปวีณ์ ได้ออกมาอยู่ในการฝึกซ้อมเฉพาะบุคคล ที่เธอสามารถปรับแก้จุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง ได้อย่างที่ใจต้องการ โดยมี โค้ชท็อป - ภควัฒน์ วิไลลักษณ์ อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย คอยติวแบบตัวต่อตัว รวมถึงวางแผนในการแข่งขันแต่ละรายการ
ซึ่งการออกมาจากทำอะไรเช่นนี้ได้ ครอบครัวช่อชูวงศ์ ต้องแลกมาด้วยเงินจำนวนมหาศาลที่เสียไปในแต่ละเดือน เรียกว่าทุกความเคลื่อนไหว ทุกแมตช์การแข่งขัน ของพรปวีณ์ ล้วนมีราคาและต้นทุน
ถึงแม้เธอจะมีอันดับโลก ติดท็อป 20 แต่การหาสปอนเซอร์ในไทย กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเธอเคยตกเป็นข่าวกับสมาคมฯ
"ทุกแมตช์มันคือความกดดัน เราคาดหวังกับตัวเองมากขึ้น เพราะเราแทบไม่มีสปอนเซอร์เลย พวกค่าใช้จ่ายหลักแสนต่อเดือนที่เสียไป เป็นเงินของครอบครัวหมด เราก็ไม่อยากแพ้ ไม่อยากตกรอบเร็ว"
2
"มันเครียดมากเลยนะ ยิ่งแรกๆ ผลงานไม่ดีด้วย เวลาแพ้มา จะผิดหวังกับตัวเองมาก ตอนหลังพยายามไม่ตั้งความหวังสูงเกินไป เวลาแพ้จะได้ไม่ผิดหวังมาก แต่ไม่เคยเสียใจนะที่ออกมา ถึงแพ้ก็ไม่ได้มีความรู้สึกอยากกลับไป หนูแค่ต้องเชื่อในการตัดสินใจของตัวเอง"
1
พรปวีณ์ ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ออกมาเป็นนักกีฬาอิสระ เธอรู้สึกไม่เป็นตัวเอง จิตใจไม่นิ่งสงบ เพราะคิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องนอกสนาม เช่น พวกค่าใช้จ่ายต่างๆ
แต่สิ่งที่ทำให้เธอตัดความกังวลเหล่านั้นออกไป คือ ครอบครัว ที่ยังคงเชื่อมั่นและอยู่เคียงข้าง พร้อมสนับสนุนความฝันของบุตรสาว ทำให้เธออุ่นใจเสมอ ยามเจอกับความผิดหวัง หรือสิ่งที่ไม่เป็นดั่งใจ ในชีวิตการเป็นนักกีฬาอาชีพ
"การที่ นักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ สถาบันครอบครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะต่อให้นักกีฬาคนนั้นมีความพยายามตั้งใจ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร ทุกอย่างมันจบแล้ว"
1
"หนูเห็นพ่อแม่บางคน เวลาลูกแพ้เขาตำหนิลูกเขามากมาย แต่พ่อแม่หนู ท่านไม่เคยกดดันด้วยเรื่องผลงาน ความสำเร็จ พ่อกับแม่สนใจมากกว่าว่า หนูเรียนรู้อะไรบางอย่างจากการแข่งขันแต่ละครั้ง?"
ในวันที่ได้รู้จักตัวเอง
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ แพ็กกระเป๋าออกเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขัน แบดมินตัน HSBC BWF World Tour Super 3000 รายการ บาร์เซโลนา สเปน มาสเตอร์ส ชิงเงินรางวัลรวม 5.1 ล้านบาท
รายการดังกล่าวมีนักตบลูกขนไก่ ขวัญใจเจ้าภาพอย่าง "คาโรลินา มาริน" อดีตแชมป์โลก 3 สมัย และเจ้าของทองเหรียญโอลิมปิก ประเภทหญิงเดี่ยว ในครั้งล่าสุด (ปี 2016) เป็นเต็ง 1 ของทัวร์นาเมนต์
มาริน สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงได้ตามความคาดหมาย ส่วนคู่แข่งของเธอ เป็นม้ามืดอย่าง พรปวีณ์ ที่ขณะนั้นรั้งอันดับมือ 20 ของโลก
"ก่อนหน้านี้ หนูเป็นคนที่ตีเร่งเกินไป หลายครั้งที่แพ้เกิดจากความรู้สึกที่อยากได้แต้ม จนบางครั้งจังหวะเหน่งๆ หนูดันทำพลาดง่ายๆ พอได้ออกมาซ้อมเอง โค้ชบอกให้หนูพยายามตีให้นานกว่า 1 ชั่วโมงต่อเกม ทำให้หนูไม่เร่งตัวเองมากไป ตีไปได้สักระยะ เริ่มเข้ามือมากขึ้น สามารถตีได้ดีขึ้น"
"ในรายการนั้น (บาร์เซโลนา สเปน มาสเตอร์ส) หนูไม่ได้คิดว่าจะชนะ มาริน เพราะเดือนก่อน หนูแพ้เขาเป็น 10 คะแนนต่อเกม"
"ตอนที่ลงเล่นนัดชิง หนูไม่มีความกดดันเลย พยายามต้าน มาริน ให้นานที่สุดอย่างที่โค้ชบอก หนูไม่มีอาการตื่นเต้น เหมือนรู้วิธีว่า ถ้าเจอคู่แข่งแบบไหนควรทำอย่างไร เจอคู่แข่งที่ฝีมือเหนือกว่า ควรต้องตีอย่างไรให้ชนะ และสุดท้ายมันก็เห็นผลจริงๆ"
พรปวีณ์ ช็อกแฟนๆ ชาวสเปน ที่เข้าชมเกมวันนั้น ด้วยการพลิกสถานการณ์กลับมาแซงชนะ คาโรลินา มาริน นักตบลูกขนไก่ขวัญใจเจ้าถิ่น ไปได้ 2-1 เกม ใช้เวลาในการแข่งขัน 76 นาที ส่งผลให้เธอขยับแรงกิ้งคะแนนสะสมประจำปีนี้ (World Tour Raking) ขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ของโลก เช่นเดียวกับอันดับโลกที่ปัจจุบันรั้งอันดับ 17 ของประเภทหญิงเดี่ยว
ในมุมองของ พรปวีณ์ เธอยืนยันว่าความสำเร็จจากรายการนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เธอใช้เพื่อพิสูจน์ว่า สมาคมฯ เป็นฝ่ายผิดในเรื่องการวางระบบ เพราะเธอคิดว่ารูปแบบของสมาคมฯ ยังคงมีความเหมาะสมกับนักกีฬาคนอื่นๆ แต่แชมป์รายการนี้ เธอมองเป็นเครื่องพิสูจน์ ที่ทำให้เธอแน่ใจว่า ตัวเองคิดถูก
ระยะเวลาหนึ่งปีเศษที่เธอได้ออกมาเป็น นักกีฬาอิสระ "พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์" ได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต ได้เรียนรู้และเข้าใจหลายสิ่ง หลายอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเธอ และที่สำคัญ เธอได้ทำความเข้าใจและรู้จักตัวเองมากขึ้น
"ถ้าถามว่า หนูได้เรียนรู้อะไรมากสุดตลอด 1 ปี หนูคิดว่าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จากการที่หนูมีเวลาอยู่กับตัวเอง หนูได้ทบทวนหลายๆ อย่าง ได้ตั้งคำถาม ได้พยายามหาคำตอบ ได้รู้ว่าตัวเองบกพร่องสิ่งไหน ต้องแก้ไขอย่างไร หนูได้ทำความเข้าใจตัวเอง และรู้จักตัวเองมากกว่าที่เคยเป็นมา"
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา