13 มี.ค. 2020 เวลา 10:54
ถนน และ สะพาน พระราม ต่าง ๆ
สวัสดีครับ นักศึกษาชีวิตทุกท่าน
เคยสังเกตมั้ยครับ ว่าบ้านเรา ถนนและ สะพานบางสายในกรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกว่า พระราม... ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากพระนามของพระมหากษัตริย์ ภาษาอังกฤษ จะเรียกว่าRama เนื่องจาก มาจากพระปรมาภิทัยเต็ม
ทีนี้ล่ะ ใครรู้จัก ถนน และ สะพาน พระราม ครบทุกแห่ง เรามาเรียนกันดูครับ
บทเรียนที่ ๑๙ วิชาภูมิศาสตร์ แล ประวัติศาสตร์​ เรื่องสะพาน พระรามต่างๆ
ถนนพระรามที่ ๑ (กษัตริย์ศึก - ราชดำริ) ตัดต่อจากถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นถนนสายแรกๆของกรุงเทพฯ หัวถนนเริ่มด้วยแยก กษัตริย์ศึก ซึ่งเป็นราชทินนามเดิมของพระองค์ท่าน  (สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก - ราชทินนามสุดท้ายก่อนขึ้นครองราชย์) ส่วน สะพานที่ได้รับพระราชทานพระนามของพระองค์ท่าน คือ สะพานกษัตริย์ศึก (สะพานพระราม 1)  เป็นสะพานข้ามทางรถไฟแห่งแรก อยู่บริเวณหัวถนนพระรามที่ ๑ สร้างโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในสมัยรัชกาลที่ ๖
3
แต่ไม่ใช่แค่สะพานนี้ แห่งเดียวนะครับ ที่ได้รับพระราชทานพระนามของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ยังมีอีกแห่งหนึ่ง พอจะนึกออกมั้ยครับ
ไม่ใกล้ไม่ไกลครับ มีชื่อว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เราจะรู้จักกันดี ในชื่อ สะพานพุทธ นั่นเอง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งแรก โครงสร้าง เดิมสร้างเป็นแบบเปิดได้ แต่หลังจากสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ไม่ได้ทำการเปิดอีกเลย จึงปรับปรุงสะพานเป็นแบบปิดตาย รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานชื่อ ตามพระราชานุสาวรีย์ ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานฝั่งพระนครว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
ถนนพระรามที่ ๒ (ธนบุรี - ปากท่อ) นั้น ตัดผ่านบริเวณนิวาสสถานเดิมของล้นเกล้า รัชกาลที่ ๒ จึงตั้งชื่อตาม พระนามของพระองค์ และนอกจากนี้ ยังมี สะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้ามแม่น้ำแม่กลอง อีกด้วย
ถนนพระรามที่ ๓ (เลียบถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นที่ย่านมีการขนส่งค้าขายมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถในด้านการค้าครับ แต่สะพาน ไปอยู่อีกฟากหนึ่งของกรุงเทพฯครับ  นั่นคือ สะพานพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้น เพื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ต.ไทรม้า และต.บางกระสอ อยู่ในเขต อ.เมือง นนทบุรี
อีกแล้วครับ นอกจากสะพาน พระนั่งเกล้าฯแล้ว สะพานพระราม ๓ หรือสะพานกรุงเทพ ๒ ได้ถูกสร้างเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยสร้างคู่ขนานสะพานกรุงเทพทางฝั่งต้นน้ำครับ
ถนนพระรามที่ ๔ (หัวลำโพง - กล้วยน้ำไท) ในอดีตเคยเป็นคลอง ส่วนทางฝั่งตรงข้ามเป็นทางรถไฟ (มีสถานีรถไฟอยู่ตรงสวนลุมพินี ทาสีแดง เรียก สถานีรถไฟศาลาแดง) ต่อมาเมื่อถมคลองแล้ว จึงอัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อถนน และยังมีถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า อยู่ฝั่งเขตพระนครเช่นกันครับ ส่วนสะพาน ไปไกลอีกแล้วครับ สะพานพระราม ๔ หรือสะพานปากเกร็ด สร้างที่ปลายถนนแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งเหนือของเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยเชื่อม ต.บางตะไนย์ ต.คลองพระอุดม และต.ปากเกร็ด เข้าด้วยกัน และก็มี สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับเขตบางกอกน้อย (ฝั่งธนบุรี)บริเวณนิวาสสถานเดิม ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๔
ถนนพระรามที่ ๕ (วัดโสมนัส - เตชะวนิช) เดิมชื่อถนนลก (ฮก ลก ซิ่ว) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้พร้อมพระราชวังดุสิตบริเวณนอกเมือง (ในสมัยนั้น) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) จึงอัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อถนน ซึ่งตัดผ่านเขตพระราชวังดุสิต ส่วน สะพานนั้น ไปไกลหน่อยครับ นั่นคือ สะพานพระจุลจอมเกล้า สร้างข้ามแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสะพานรถไฟและรถยนต์ ภายหลังสร้างสะพานรถยนต์ขึ้นใหม่ จึงใช้งานเปนสะพานรถไฟเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ก็ยังมี สะพานพระราม ๕ คือ สะพานนครอินทร์ โดยสร้างเชื่อมถนนนครอินทร์ และถนนติวานนท์ ที่ต.บางไผ่ อ.เมือง นนทบุรี
เสริมนิดนึง ที่มาของการสร้าง สะพานพระราม ๔ และ สะพานพระราม ๕ นั้น สร้างขึ้นตามโครงการแก้ไขบัญหาจราจรแบบจตุรทิศตามแนวพระราชดำริ ของล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙ จึงทำการอัญเชิญพระนามพระราชทาน พระราม ๔ และ พระราม ๕ ไปเป็นชื่อสะพาน
ถนนพระรามที่ ๖ (จรัสเมือง - ริมคลองประปาฝั่งซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงถนนประทัดทอง จากปลายถนนจารุเมือง ไปจนถึงโรงประปาสามเสนและโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ ๖ ส่วน สะพานพระราม ๖ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก (แต่เป็นทางรถไฟ) สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ ควบคุมโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ต่อมาโดนทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้สะพานขาด หลังจากซ่อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า สะพานพระราม ๖ และยังได้มีสะพานอีกแห่งหนึ่ง สะพานวชิราวุธ เป็นสะพานคนเดินที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นพระตำหนักฤดูร้อนในสมัยนั้น
ส่วน ถนนพระรามที่ ๗ และ ถนนพระรามที่ ๘ ในปัจจุบัน ยังไม่มีการสร้างเป็นชื่อถนนครับ
แต่มีสะพานที่ได้อัญเชิญพระนามของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ มาคือ สะพานพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างคู่ขนานสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อแบ่งเบาการจราจร จึงอัญเชิญพระนาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอนุสรณ์ที่ทรงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า
และ สะพานพระราม ๗ สร้างขึ้นคู่ขนานสะพานพระราม ๖ ทางด้านต้นน้ำ เพื่อโอนการคมนาคมโดยรถยนต์ มาจากสะพานพระราม ๖ และเปลี่ยนเป็นสะพานพระราม ๖ เป็นสะพานทางรถไฟเต็มรูปแบบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามว่า สะพานพระราม ๗
สะพานพระราม ๘ สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรของสะพานกรุงธน และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าต่อเนื่องมาจากทางคู่ขนานลอยฟ้า บรมราชชนนี
 ตามโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริและทรงพระราชทานพระนาม พระราม ๘ ให้เป็นพระราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฒมรามาธิบดินทร์
ถนนพระรามที่ ๙ (รัชดาภิเษก - มอเตอร์เวย์)สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัดผ่านบึงพระราม ๙ อันเป็นที่ตั้งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก 
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และ สะพานพระราม ๙ เป็นสะพานแขวนระนาบเดี่ยวแห่งแรกของไทยเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงดาวคะนอง-ท่าเรือ และอัญเชิญพระนาม พระราม ๙ เป็นชื่อสะพาน เพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา
ครบแล้วนะครับ ทุกถนน และ ทุกสะพาน ที่ได้รับพระราชทานพระนามของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ทั้ง ๙ พระองค์
หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับนักเรียนทุกท่านนะครับ ขอให้ได้ใช้ความรู้นี้ครับ
#เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด #และไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน #DeMonstrationSchool
ขอขอบคุณข้อมูลจาก T News
โฆษณา