Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
•
ติดตาม
15 มี.ค. 2020 เวลา 07:30 • สุขภาพ
สิ่งที่ไม่เคยมีใครบอกคุณ...เกี่ยวกับ”ยาฆ่าเชื้อ”
2 ตลกร้ายที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับพวกมัน...
เมื่อพูดถึง”ยาฆ่าเชื้อ”
คุณก็คงจะรู้จักเป็นอย่างดี แต่ถ้าถามว่ายาฆ่าเชื้อที่คุณกินเข้าไปนั้น มันเข้าไปฆ่า”เชื้ออะไร?”
คำถามนี้อาจทำให้หลายๆคนอึ้งกันไปได้
สำหรับเชื้อโรคที่ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยกันอยู่ทุกวันนี้นั้น พวกมันสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลักๆ นั่นก็คือ แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
ซึ่งถ้าไม่นับเชื้อราที่มักเป็นแค่โรคกลากเกลื้อน หรืออาจติดเชื้อรุนแรงได้ในเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำแล้วนั้น เชื้อโรคที่ทำให้คนทั่วไปติดเชื้อไม่สบายกันอยู่บ่อยๆก็จะมีเพียง 2 ชนิด นั่นก็คือ แบคทีเรีย และไวรัสเท่านั้น!
ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องจำเพาะเจาะจง ถ้าคุณติดเชื้อแบคทีเรีย คุณก็ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียรักษา แต่ถ้าคุณติดเชื้อไวรัส คุณก็ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัสรักษา
แต่ปัญหาที่สำคัญมากๆเลยก็คือ...
คุณสามารถแยกโรคติดเชื้อแบคทีเรียกับโรคติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่?
เพราะถ้าคุณแยกไม่ได้ คุณก็มีโอกาสที่จะใช้ยาฆ่าเชื้อผิดชนิดได้อย่างง่ายๆ
ความจริงแล้วต้องบอกว่าการแยกโรคติดเชื้อ 2 ชนิดนี้เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนทั่วไป และในหลายๆครั้งก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหมอด้วยเช่นกัน เพราะอาการของพวกมันอาจคล้ายกันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคติดเชื้อที่น่าสับสนมากที่สุดและเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีการใช้ยาฆ่าเชื้อกันอย่างไม่ถูกต้องมากที่สุดนั่นก็คือ...
“กลุ่มโรคไข้หวัด” และ “โรคติดเชื้อท้องเสีย”!
ซึ่งทุกคนต่างต้องเคยเป็นกันมาก่อน และหมอขอพนันว่าคุณเองก็เคยใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาโรคเหล่านี้กันมาแล้ว!
แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่หมอบอกไป…
เรื่องนี้มีตลกร้ายอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง!
“ตลกร้ายเรื่องแรก” ก็คือ…
ไม่ว่าคุณจะติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสก็ตาม ไม่ว่าคุณจะกินยาฆ่าเชื้อชนิดใดหรือจากร้านยาร้านใดก็ตาม สุดท้ายแล้วยาที่คุณกินนั้นจะไปลงเอยที่”ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย”เสมอ!
1
สาเหตุก็คือ ยาฆ่าเชื้อ”ไวรัส”นั้นเป็นยาที่ไม่มีวางขายทั่วไปครับ!
ในขณะที่ยาฆ่าเชื้อ”แบคทีเรีย”เป็นยากลุ่มใหญ่ที่มีหลาย 10 กว่าชนิด และมีวางขายแพร่หลายในร้านขายยาทุกร้าน แต่ยาฆ่าเชื้อ”ไวรัส”กลับเป็นยากลุ่มเล็กๆที่มีไม่กี่ชนิด และไม่สามารถหาซื้อได้เอง ต้องรับยาจากโรงพยาบาลเท่านั้น
ดังนั้นปัญหาการใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไม่สมเหตุสมผลที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็มาจาก”ยาฆ่าเชื้อเเบคทีเรีย”นั่นเอง!
แต่ฟังแบบนี้แล้วคุณเริ่มสงสัยกันไหมว่า…
“ทำไมยาฆ่าเชื้อไวรัสมันถึงเป็นยากลุ่มเล็กๆที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดและไม่ค่อยมีวางขายกัน?”
คำตอบง่ายๆก็คือ พวกมันไม่ค่อยมีความจำเป็นยังไงล่ะครับ!
เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ถ้าไม่นับพวกไวรัสที่นานๆจะระบาดสักทีอย่าง SARS, MERS หรือ COVID-19 แล้ว โรคติดเชื้ออย่างไข้หวัดหรือท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักสามารถ...“หายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อใดๆ”
ไวรัสเหล่านี้มักไม่สามารถต่อสู้กับภูมิต้านทานของมนุษย์ได้อยู่แล้ว และในที่สุดพวกมันก็จะถูกทำลายตายไปเอง ดังนั้นยาฆ่าเชื้อไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องมีขายในร้านยา และบริษัทยาส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากเสียเวลาและเงินทุนเพื่อมาผลิตยาที่ลูกค้าจะกินหรือไม่กินก็ได้แบบนี้หรอก ใช่ไหมล่ะครับ
ซึ่งเรื่องนี้จะตรงกันข้ามกับการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างชัดเจน
เพราะว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียนั้นจะมีอาการที่"รุนแรงกว่า"และ”จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อเท่านั้น” จึงจะสามารถรักษาให้หายได้
1
ดังนั้นในชีวิตประจำวันยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียจึงเป็นยาที่จำเป็นกว่ายาฆ่าเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก จึงทำให้ยาฆ่าเชื้อเเบคทีเรียมีวางขายกันอย่างแพร่หลายทั่วไป
อันที่จริงแล้ว ยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสนั้นไม่ได้เรียกว่า"ยาฆ่าเชื้อไวรัส”ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป เพราะว่าจริงๆแล้วเราเรียกมันว่า”ยาต้านไวรัส” ต่างหาก “ยาฆ่าเชื้อ”นั้นเป็นภาษาหมอที่หมายถึงยาที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น!
1
เอาล่ะ นี่ก็คือตลกร้ายแรก
มาถึง”ตลกร้ายเรื่องที่สอง”
ในขณะที่ยาฆ่าเชื้อต่างๆที่มีวางขายอยู่ทั่วไปทั้งหมดนั้นคือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ตลกร้ายก็คือ...
การติดเชื้อส่วนใหญ่ในกลุ่มโรคไข้หวัดและโรคติดเชื้อท้องเสียแทบทั้งหมดนั้นเกิดจาก… ”เชื้อไวรัส”!
1
ดังนั้นคุณอาจมองเห็นหายนะที่หมอกำลังจะเล่าต่อไปแล้วใช่ไหมครับ นั่นก็คือ…
การกินยาฆ่าเชื้อของคนทั่วไปนั้น แทบทั้งหมดเป็นการกินยาที่ผิดประเภท!
การติดเชื้อไวรัสที่เกือบทั้งหมดแล้วสามารถหายเองได้นั้น คนจำนวนมากกลับไปกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม คุณอาจมีคำถามสงสัยว่าการติดเชื้อเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเลยอย่างนั้นหรือ? เพราะถ้าบังเอิญเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นมาแล้วไม่ได้กินยาฆ่าเชื้อ ก็อาจทำให้ติดเชื้อรุนแรงถึงชีวิตได้
ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสได้และผู้ป่วยก็มักจะมีอาการที่แตกต่างออกไป แต่หมอคิดว่ามันคงยากเกินไปที่จะเล่าให้คนทั่วไปเข้าใจ เนื่องจากต้องมีการซักประวัติอย่างละเอียดและการตรวจร่างกายร่วมด้วย แต่ว่ามันก็มีหลักง่ายๆอยู่ครับ นั่นก็คือการติดเชื้อไวรัสมักจะมีอาการดีขึ้นภายหลัง 3 วัน(ย้ำว่าแค่ดีขึ้นนะครับ ไม่ใช่หายขาด!) ถ้าภายหลังช่วงเวลานี้คุณยังมี”ไข้ไม่ลดลง” เจ็บคอมากขึ้นเรื่อยๆ ท้องเสียมากขึ้นเรื่อยๆ หมอก็ขอแนะนำให้คุณไปพบหมอดีกว่า และ”การเริ่มกินยาฆ่าเชื้อหลังภายจากนี้ ก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไปแต่อย่างใด”…
สรุปแล้ว ตลกร้ายทั้ง 2 เรื่องก็คือ คนส่วนใหญ่นั้นมักเป็นโรคไข้หวัดหรือโรคท้องเสียที่เกิดจาก”ไวรัส”และสามารถหายได้เองโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาใดๆอยู่แล้ว แต่พวกเขากลับไปซื้อยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมากิน ซึ่งนอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังฆ่าไม่ถูกเชื้ออีกด้วย!
จึงมีโอกาสน้อยมาก ที่คนทั่วไปจะหาซื้อยาฆ่าเชื้อกินได้ถูกวิธี...
นอกจากนี้ ปัญหาการใช้ยาฆ่าเชื้อก็อาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากผู้ป่วยเสมอไป เพราะปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าสถานพยาบาลหลายๆแห่งนั้นก็คือการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยา สถานพยาบาลหลายๆแห่งอาจตัดสินใจให้ยาฆ่าเชื้อแม้ไม่มีความจำเป็นใดๆ แต่เพียงเพื่อให้ได้กำไรจากการขายยา
ดังนั้นปัญหาการใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไม่สมเหตุสมผลนี้ก็จำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขจากทั้ง 2 ฝ่าย...
สุดท้ายนี้ หมออยากบอกว่ายานั้นไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกๆอย่าง การรักษาโรคนั้นไม่ได้จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป ไม่ใช่กับเฉพาะยาฆ่าเชื้อเท่านั้น เพราะว่ายาทุกชนิดมีการนำไปใช้อย่างไม่สมเหตุสมผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยานอนหลับ อาหารเสริม สมุนไพร ยาชุดยาหม้อต่างๆ
หลายคนอาจกินยาต่างๆมากมายทั้งๆที่ตนเองไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่กินแล้วรู้สึกว่า…”สบายใจ”
สบายใจว่าเราได้รักษาหรือบำรุงเสริมสร้างอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งบางทีคุณอาจไม่รู้หรอกว่า…ยาต่างๆเหล่านี้อาจเข้าไปทำร้ายร่างกายของคุณโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ก็เป็นได้...
📥Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
📥ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
Blockdit :
www.blockdit.com/healthstory
Facebook :
www.facebook.com/HealthstoryThailand
18 บันทึก
80
21
29
18
80
21
29
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย