14 มี.ค. 2020 เวลา 14:06 • ประวัติศาสตร์
คูตูลัน เจ้าหญิงยอดนักรบแห่งมองโกล
2
เจ้าหญิงคูตูลัน มีสมญานามว่า ไอยารัค(Ay Yaruq) ซึ่งหมายถึง แสงจันทรา นางเป็นสตรีสูงศักดิ์ ผู้มีชื่อเสียง เรื่องราวของนางถูกบันทึกโดยบุคคลร่วมสมัยอย่าง มาร์โคโปโล นักผจญภัยชาวเวนิส และ ราชิด อัลด้น ฮามาดินี ขุนนางและนักบันทึกประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอิลข่าน(อาณาจักรของมองโกล ในตะวันออกกลาง) ทั้งยังถึึงถูกเล่าขานในบันทึกอื่นๆอีกมาก
3
คูตูลันเป็นธิดาของข่านไคดู ซึ่งเป็นพระญาติของ กุบไลข่าน นางประสูติในปี ค.ศ.1260 เจ้าหญิงคูตูลันมีรูปโฉมงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของเหล่าเจ้าชายมากมาย แต่ที่เหนือกว่าความงาม คือ นางเป็นหญิงที่ชาญฉลาด โดยเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของข่านไคดูทั้งเรื่องการรบและการปกครอง
ในปี ค.ศ.1280 ข่านไคดูกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเอเชียกลาง โดยปกครองดินแดนตั้งแต่ภาคตะวันตกของมองโกเลียจนถึงแม่น้ำอามูร์ดายาในเอเชียกลางเวลานั้น ข่านไคดูตั้งตนเป็นกบฏต่อต้านกุบไลข่านเนื่อง จากไม่พอใจที่กุบไลข่านวางแผนทำลายเขตปกครองของเขา เพราะไคดูปฏิเสธที่จะมาร่วมพิธีแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจอมข่าน นอกจากนี้ไคดูยังต่อต้านการที่กุบไลข่านหันไปใช้วัฒนธรรมของชาวจีนฮั่นด้วย
ด้วยความที่เชี่ยวชาญในการขี่ม้า ยิงธนู เจ้าหญิงคูตูลันได้เป็นกำลังสำคัญของข่านไคดูในการทำสงครามต่อต้านราชวงศ์หยวนและเจ้าราชวงศ์มองโกลอื่นๆ โดยบันทึกของมาร์โคโปโล เล่าไว้ว่า คูตูลันเป็นนักรบฝีมือฉกาจ นางควบมัาบุกฝ่าแนวรบข้าศึกและจับนายทหารฝ่ายตรงข้ามเป็นเชลย ประดุจดังนกเหยี่ยวที่โฉบลงจับเหยื่อกลางฝูงไก่
นอกจากเป็นขุนพลชาญศึกแล้ว เจ้าหญิงคูตูลันยังเป็นนักมวยปล้ำฝีมือเยี่ยมอีกด้วย มีเรื่องเล่าว่า เจ้าหญิงได้ประกาศว่า หากเจ้าชายองค์ใดต้องการนางเป็นชายา ต้องเอาชนะนางในการประลองมวยปล้ำให้ได้ก่อน ซึ่งหากผู้ใดแพ้จะต้องเสียม้าศึกให้กับนาง 500 ตัว เล่ากันว่า คูตูลันสามารถรวบรวมม้าศึกได้นับหมื่นตัว โดยไม่เคยมีเจ้าชายองค์ใดเอาชนะนางได้เลย(สวย ดุ ถึก ชัดๆ)
ในเรื่องคู่ครองของเจ้าหญิงคูตูลัน ได้ถูกบันทึกไว้แตกต่างกัน บางเอกสารเล่าว่า สามีของนาง เป็นบุรุษรูปงามที่เข้ามาลอบสังหารข่านไคดู บิดาของนาง แต่ล้มเหลวและถูกจับเป็นนักโทษ บางเอกสารเล่าว่า สามีของนาง เป็นพันธมิตรของไคดูจากเผ่าโครอส ส่วน ราชิดอัลดิน บันทึกว่า เจ้าหญิงคูตูลันตกหลุมรักกาห์ซาน ซึ่งเป็นเจ้าครองนครชาวมองโกลในเปอร์เซีย
2
ด้วยความฉลาดและความสามารถของนาง ทำให้เจ้าหญิงคูตูลันเป็นลูกที่ข่านไคดูรักมากที่สุด โดยมากกว่าโอรสทั้งสิบสี่ของพระองค์ บันทึกบางฉบับเล่าว่า ไคดูพยายามแต่งตั้งนางเป็นผู้สืบทอด แต่ถูกขัดขวางจากเหล่าญาติฝ่ายชายของนาง
หลังข่านไคดูสิ้นพระชนม์เนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัสในการรบกับทัพราชวงศ์หยวนใกล้กับนครคาราโครัมในปี ค.ศ.1301 เจ้าหญิงคูตูลันได้ทำหน้าที่ดูแลปกป้องสุสานของพระบิดาโดยมีน้องชายของนาง ชื่อ โอรัสเป็นผู้ช่วย คูตูลันต้องเผชิญหน้ากับชาปาร์ พี่ชายของนาง และ ดูวา ญาติของนาง เนื่องจากนางต่อต้านการขึ้นครองอำนาจของพวกเขา จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1306 เจ้าหญิงคูตูลันก็สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด ในวัย 46ชันษา
1
ในวัฒนธรรมของมองโกล เจ้าหญิงคูตูลันถูกจดจำในฐานะนักกีฬาและนักรบผู้มีชื่อเสียง ส่วนในวรรณกรรมตะวันตก นางถูกวาดภาพเป็นตัวแทนของสตรีผู้ทรนงซึ่งสุดท้ายยอมพ่ายต่อความรัก
ในหนังสือตำนานและเรื่องเล่าจากเอเชียของ ฟรานซิส เปติส เดอลาครัวซ์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 - 18 ได้เล่าเรื่องของนาง ด้วยชื่อ ทูรันโดท์ (Turando) ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซียแปลว่า ธิดาแห่งเอเชียกลาง โดยเล่าว่า นางเป็นพระธิดาวัย 19 ชันษาของ อัลโตนข่าน จักรพรรดิมองโกลแห่งแผ่นดินจีน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ นางไม่ได้เป็นนักมวยปล้ำหรือนักรบ แต่เป็นสตรีผู้เฉลียวฉลาดและได้ตั้งปริศนาสามข้อให้บุรุษที่ปรารถนาได้นางเป็นคู่ครองต้องแก้ หากใครแก้ปริศนาไม่ได้ จะถูกประหาร ซึ่งเรื่อง ทูรันโดท์ นี้ ในเวลาต่อมา กีอาโคโม ปุชชินี นักประพันธ์ชื่อดังชาวอิตาลีได้นำไปแต่งเป็นบทโอเปรา ในชื่อเดียวกัน
ไม่ว่า ตำนาน เรื่องเล่าจะวาดภาพของนางเป็นเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดจากประวัติชีวิตของคูตูลัน คือ นางเป็นบุตรสาวผู้เก่งกล้าและจงรักภักดีมีกตัญญูต่อผู้เป็นบิดาอย่างน่าชื่นชม
โฆษณา