14 มี.ค. 2020 เวลา 22:06 • การศึกษา
ชาวเคิร์ด (Kurd) ชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อยในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางที่ไร้แผ่นดินของตนเอง อันเป็นผลพวงมาจากจักรวรรดินิยมที่ขีดเส้นแบ่งพรมแดนด้วย “ผลประโยชน์” ซึ่งมิได้คำนึงถึงชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมในท้องถิ่น จนนำผลสืบเนื่องบานปลายมาถึงปัจจุบัน
ชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง บริเวณที่ราบสูงตุรกีและอิหร่าน ตลอดจนที่ราบเมโสโปเตเมียทางตอนเหนือของอิรัก บริเวณที่พวกเขาอาศัยนั้นกว้างขวางครอบคลุมหลายพื้นที่ เนื่องด้วยลักษณะการดำรงชีพในยุคโบราณที่เลี้ยงสัตว์ทั้งแกะและแพะแบบเร่ร่อน จึงพบชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ ไล่เรียงตั้งแต่เทือกเขาทอรัสทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี, เทือกเขาซากรอสของอิหร่านตะวันตก, บางส่วนของภาคเหนือของอิรัก, ซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือและตัวนตก และอาร์เมเนียตะวันตก รวมไปถึง จอร์เจีย คาซัคสถาน เลบานอนเลบานอน และยุโรป ก็มีชาวเคิร์ดบางส่วนอาศัยอยู่เช่นกัน และโดยทั่วไปมักเรียกบริเวณนี้ว่าเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) อันมีความหมายว่า “ดินแดนของชาวเคิร์ด”
อย่างไรก็ตาม ชาติพันธ์ุเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในตะวันออกกลางมิได้มีวัฒนธรรมประเพณีเดียวกันทั้งหมด เนื่องด้วยอิทธิพลและปัจจัยอื่นตลอดระยะเวลายาวนานหลายร้อยหรืออาจหลายพันปี ทำให้ชาวเคิร์ดมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาถิ่น แต่พวกเขามีอัตลักษณ์ร่วมกันอย่างหนึ่งคือ พวกเขาล้วนเป็นชาติพันธุ์เคิร์ดเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันประมาณการณ์ว่ามีชาวเคิร์ดราว 25-30 ล้านคนในตะวันออกกลาง
มีบันทึกในอารยธรรมเมโสโปเตเมียระบุถึงชนกลุ่มหนึ่งในเขตภูเขาซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นชาวเคิร์ด แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัดแน่ชัดว่าชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ทั้งนี้ ชาวเคิร์ดปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ค่อนข้างชัดเจนที่สุดเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 จากการที่พวกเขาได้หันมานับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี (บางส่วนหันไปนับถือซูฟียฺ และนิกายลับอื่น ๆ)
ปัญหาดินแดนของชาวเคิร์ดมีต้นเหตุมาจากชาติมหาอำนาจที่ตีเส้นแบ่งเขตแดนซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าการให้ความสำคัญเรื่องชาติพันธุ์ เป็นการแบ่งเขตด้วยแนวคิดแบบตะวันตกซึ่งไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ที่ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งจะเห็นปัญหานี้ได้ชัดเจนมากกรณีหนึ่งคือในประเทศเมียนมา
สำหรับดินแดนเคอร์ดิสถาน มีการกล่าวถึงในสนธิสัญญา Sèvres (Treaty of Sèvres) หนึ่งในชุดของสนธิสัญญาที่บรรดาประเทศมหาอำนาจกลางลงนามหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกยกร่างราว ค.ศ. 1920 เนื้อหาได้ระบุถึงการสลายตัวของจักรวรรดิออตโตมัน ตอนหนึ่งระบุให้ชาวเคิร์ดปกครองดินแดนหรือประเทศเป็นของตนเอง แต่สนธิสัญญาไม่เคยมีการให้สัตตยาบันแต่อย่างใด ต่อมาใน ค.ศ. 1923 ในสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสนธิสัญญา Sèvres ชาติมหาอำนาจได้ละทิ้งประเด็นที่จะให้ชาวเคิร์ดปกครองตนเองออกไป “เคอร์ดิสถาน” จึงถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายส่วนในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ชาวเคิร์ดยังคงพยายามเรียกร้องดินแดนของตนมาเสมอ ทำการต่อต้านฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรที่เข้ามาควบคุมดินแดนตะวันออกกลางหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเสมอ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จที่จะสร้างแรงผลักดันมหาศาลที่จะให้ก่อตั้งดินแดนของตนเองให้สำเร็จได้
ปัจจุบัน ชาวเคิร์ดในประเทศตุรกีมีราว 20% ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เห็นอกเห็นใจ รัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติ กีดกันชาวเคิร์ดจากอัตลักษณ์ของพวกเขาเอง งดการเผยแพร่หรือแม้แต่การใช้ภาษาเคิร์ด ไม่ให้สวมใส่เสื้อผ้าของชาวเคิร์ด ให้ตั้งชื่อบุตเป็นชื่อเติร์ก และพยายามลบชื่อ “เคิร์ด” ออกไป โดยกำหนดพวกเขาเป็นชาวเติร์กเฉกเช่นคนส่วนใหญ่ในประเทศ คือให้เรียกว่า “ชาวเติร์กภูเขา” (Mountain Turks) นอกจากนี้รัฐบาลตุรียังสนับสนุนให้ชาวเคิร์ดในภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพวกเขาอย่างหนาแน่นให้ย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศเพื่อทำให้เกิดการเจือจางความเข้มข้นของประชากรชาวเคิร์ดในพื้นที่ลง
ชาวเคิร์ดในตุรกีก่อกบฏเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1978 อับดุลลาห์ โอคาลัน (Abdullah Öcalan) ได้จัดตั้งพรรคเคอร์ดิสถานกรรมกร (Kurdistan Workers’ Party หรือ PKK) ซึ่งเป็นองค์กรลัทธิมาร์กซ์มีเป้าหมายเพื่ออิสรภาพของชาวเคิร์ด PKK และรัฐบาลตุรกีสู้รบกันอย่างต่อเนื่องช่วง ค.ศ. 1980-1990 แต่ในที่สุดรัฐบาลตุรกีสามารถจับกุมอับดุลลาห์ โอคาลันได้เมื่อ ค.ศ. 1999 นับแต่นั้น PKK ก็ถูกลดทอนบทบาทลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะหันมาต่อสู้แบบกองโจรเมื่อ ค.ศ. 2002 ขณะที่สหภาพยุโรปได้กดดันรัฐบาลตุรกีอย่างหนัก ซึ่งตุรกีไม่สามารถแข็งขืนกับสหภาพยุโรปได้เพราะต้องการเข้าสมาชิก ดังนั้นรัฐบาลตุรกีจึงผ่อนคลายนโยบายการห้ามใช้ภาษาเคิร์ดลงไปบ้าง
กระทั่งกลุ่ม ISIS เริ่มปฏิบัติการในภูมิภาคแห่งนี้จึงได้ทำให้รัฐบาลตุรกีเกรงกลัวว่าชาวเคิร์ดในประเทศจะลุกขึ้นมาติดอาวุธต่อต้านตนอีกครั้ง จากผลพวงที่ชาวเคิร์ดในซีเรียภาคเหนือเข้มแข็งขึ้นมาก รัฐบาลตุรกีจึงทำการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ดำเนินการทางทหาร บุกตอนเหนือของซีเรียเพื่อทำลายกองกำลังติดอาวุธของชาวเคิร์ดเมื่อเร็ว ๆ นี้
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2019 ที่เมือง Ras al-Ain ในประเทศซีเรีย เมื่อกองทัพตุรกีบุกโจมตีชาวเคิร์ดในซีเรีย (Photo by Ozan KOSE / AFP)
สำหรับชาวเคิร์ดในอิหร่าน แม้พวกเขาจะมีตัวตนชัดเจนซึ่งเห็นได้จากชื่อจังหวัดเคอร์ดิสถาน (Kordestan) อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอิหร่านยอมรับการมีตัวตนของชาวเคิร์ดในประเทศ แต่พวกเขาได้รับความลำบากมากกว่าชาวเคิร์ดในตุรกี รัฐบาลอิหร่านกดดันชาวเคิร์ดอย่างหนัก เนื่องจากนับถือคนละนิกาย ซึ่งชาวอิหร่านนับถือนิกายชีอะหฺ
ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดได้ไม่นาน ราวต้น ค.ศ. 1946 อิหร่านยังคงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาได้พยายามป้องกันอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ดังนั้นสหภาพโซเวียตจึงให้การสนับสนุนชาวเคิร์ดในการจัดตั้งดินแดนบริเวณเมือง Mahābād นำมาสู่การก่อตั้ง Republic of Mahābād เพื่อเป็นการตอบโต้อิหร่านและสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังเมื่อปฏิบัติการของสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลางไม่สำเร็จผล Republic of Mahābād ก็ล่มสลายลง ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวเคิร์ดในอิหร่านก็อ่อนแอลง
ขณะที่ชาวเคิร์ดในอิรักต่อสู้กับสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่เป็นเจ้าผู้ปกครองอิรัก กระทั่งอิรักได้รับเอกราชแล้ว ชาวเคิร์ดก็ยังคงต่อสู้กับรัฐบาลอิรักจนนำมาสู่ข้อตกลงสันติภาพที่ให้ชาวเคิร์ดมีพื้นที่ปกครองตนเอง แต่ชาวเคิร์ดต้องเผชิญการปราบปรามอย่างหนักในช่วงที่ ซัดดัม ฮุตเซน ขึ้นเป็นผู้นำอิรัก
ในสงครามอิรัก-อิหร่าน รัฐบาลอิรักสงสัยว่าชาวเคิร์ดอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนอิหร่าน จึงดำเนินการสู้รบและปราบปรามชาวเคิร์ดอย่างหนักหน่วงด้วยอาวุธเคมี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน แต่หลังซัดดัม ฮุตเซน หมดอำนาจลงไป ชาวเคิร์ดในอิรักก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจนสามารถตั้งฐานมั่นคงทางตอนเหนือของอิรักได้
ชาวเคิร์ดไม่เคยประสบความสำเร็จในการยกสถานะให้ชาวเคิร์ดมีดินแดนปกครองตนเองหรือเป็น “ชาติ” ได้สำเร็จ จะมีเพียงแต่ในอิรักที่พวกเขามีรัฐบาลระดับภูมิภาคที่ชื่อว่าอิรักเคอร์ดิสถาน (Iraqi Kurdistan) เขตปกครองตนเองโดย Kurdistan Regional Government หรือ KRG ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด แม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐเอกราชก็ตาม
ปัญหาในตะวันออกกลางในกรณีของชาวเคิร์ดยังคงต้องจับตามองต่อไป เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องการปกครองตนเองเป็นประเทศเคอร์ดิสถานเท่านั้น สงครามกลางเมืองในซีเรีย ปัญหา ISIS สงครามศาสนา ความขัดแย้งระหว่างชีอะหฺ-ซุนนี ฯลฯ ล้วนแต่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ชาวเคิร์ดจึงอาจต้องต่อสู้ไปอีกยาวนาน เพื่อสิทธิและเอกราชที่ตนขีดและเขียนขึ้นเอง.
โฆษณา