16 มี.ค. 2020 เวลา 11:35 • สุขภาพ
DATA พาเพลิน : Breaking Post!
DATA พาเพลิน : Breaking Post!
เผอิญผมได้ข้อมูลจาก"กู๋" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นการสรุปการค้นหาเกี่ยวกับ Coronavirus ("กู๋"ใช้คำนี้ ไม่ใช่คำว่า Covid)
เช่น Top questions on Coronavirus, past week คือ How did the coronavirus start? คือคำถามยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา
และสิ่งที่ผู้คนค้นหากันมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ...
- tom hanks coronavirus
- nba player coronavirus
และมีข้อมูลอีกชุดคือ
ความนิยมในคำค้นหาสัปดาห์ที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา
เจลทำความสะอาดมือ (กราฟสีแดง)
หน้ากากอนามัย / วิธีล้างมือ / เว้นระยะห่างจากสังคม
(2)
ดูเปล่าๆก็ไม่มีอะไรมาก
แต่แล้วผมก็รู้สึก"เอ๊ะ!"
หลังจาก"เอ๊ะ!" ภาพในอดีตก็ย้อนกลับมา...
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ไข้หวัด 2009 (H1N1) ระบาดหนักในประเทศ
ผมเคย(แอบ)สังเกตพฤติกรรมบางอย่างในเรื่อง"หน้ากากอนามัย"
ในยุคนั้น"หน้ากากอนามัย" ยังไม่บูมเท่ายุคนี้และถือเป็นของไม่คุ้นชินในสังคม
ผมใข้เวลาสังเกตผู้คนในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้า, รถไฟฟ้า มีทั้งผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยและผู้ไม่สวมใส่ ปะปนกัน (สังเกตและจดบันทึกเอาไว้)
สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ...
"คนที่ดูปกติ(ไม่ใส่หน้ากาก) จะพยายามรักษาระยะห่างจากผู้ที่สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเห็นได้ชัดเจน"
(เรียกง่ายๆว่า...ออกแนวรังเกียจๆหน่อย)
การมองเห็นจากภายนอกกำลัง"หลอก"เราว่า บุคคลผู้นี้มีความผิดปกติ และไม่เข้าพวกเหมือนกับเรา
เราจะรู้สึกอุ่นใจกว่ากับคนที่เป็นมีลักษณะเหมือนกัน (ไม่ใส่หน้ากากเหมือนกัน)
ซึ่งแท้จริงแล้ว ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยต่างหากล่ะ ที่ไม่น่าไว้วางใจมากกว่า เพราะอาจเป็นผู้ป่วยและกำลังแพร่เชื้ออยู่
ผมพยายามหาข้อมูลที่พอจะสามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
และพอได้ไปค้นหาประวัติของหน้ากากอนามัย จึงเกิดการเชื่อมโยงขึ้น
"หน้ากากอนามัย"
กับสัญลักษณ์แห่งการเจ็บป่วย
หน้ากากอนามัย ถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของการรับรู้มาเนิ่นนานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันแล้วว่า คือ"สัญลักษณ์ของความเจ็บป่วย"
เพราะเดิมทีมีบุคคลที่ใช้สิ่งนี้จะอยู่ในสถานที่เฉพาะเท่านั้น นั่นก็คือ แพทย์และพยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาล
ถ้าจะให้ลากกันจริงๆ มันถูกเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจ็บป่วย ตั้งแต่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ปี ค.ศ. 1918 (ซึ่งผมไม่ขอลงลึกนะครับ เดี๋ยวโพสต์นี้จะยาวเกินไป)
และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงไข้หวัด 2009 (H1N1) ระบาดหนักในประเทศ "หน้ากากอนามัย"ก็ยังเป็น"สัญลักษณ์แห่งการเจ็บป่วย"อยู่
จนวันเวลาผ่านไป ประเทศเราก็ได้รู้จัก ค่าฝุ่น pm 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น
ผู้คนก็เริ่มใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น
"หน้ากากอนามัย"ที่จากเดิมคือ"สัญลักษณ์แห่งการเจ็บป่วย"
กลายร่างเป็น..."สัญลักษณ์แห่งการป้องกัน" ในปัจจุบัน
(2)
กลับมาที่กราฟ
จากข้อมูลขั้นต้น ความนิยมในคำค้นหาสัปดาห์ที่ผ่านมาของอเมริกาคือ
1. เจลทำความสะอาดมือ (ความนิยมทิ้งห่างทั้ง 3 คำ)
2. หน้ากากอนามัย
3. วิธีล้างมือ
4. เว้นระยะห่างจากสังคม
วัฒนธรรมการทักทายและจับมือ เป็นสิ่งสำคัญและเป็นระบบออโตเมติกของสังคมชาติตะวันตก (เหมือนเราไหว้) แต่ในช่วงของการระบาดของโรค วัฒนธรรมนี้กลายเป็นการส่งต่อเชื้อโรคแบบโดยไม่รู้ตัว ผู้คนนิยมค้นหา "เจลทำความสะอาดมือ" (กราฟสีแดง) เพื่อจะอุดช่องโหว่ หากเกิดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงไม่พึงประสงค์ขึ้น
และในช่วงนี้ เราจะเห็นข่าวของบรรดาบุคคลสำคัญหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ต้องหันมาใช้การ"ไหว้" แทนการจับมือเพื่อทักทาย (ฝรั่งจะเรียกว่า"นมัสเต")
จากข้อมูล"เจลทำความสะอาดมือ"จะได้รับความนิยมมากกว่า"หน้ากากอนามัย"
ซึ่งขัดกับความเชื่อของเรา(ฝั่งเอเชีย)
อยู่พอสมควร
เพราะทุกวันนี้ สังคมในฝั่งเอเชีย "หน้ากากอนามัย" เป็นมากกว่า "สัญลักษณ์แห่งการป้องกัน" เกินไปแล้วหลาย step
แต่ในสังคมตะวันตก มันยังเป็น"สัญลักษณ์แห่งความเจ็บป่วย"อยู่
ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง"หน้ากากอนามัย"ในฝั่งเอเชียเรา นั่นคือ วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
โดยจากข้อมูลพบว่า ชาวญี่ปุ่นซื้อและใช้หน้ากากอนามัยกว่า 2 พันล้านชิ้นต่อปี! มีการประมาณการณ์ว่า ใน 1 ปี ชาวญี่ปุ่น 1 คนจะใช้หน้ากากอนามัยมากกว่า 15 ชิ้นต่อปี (ต่อคน)
ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า การใช้"หน้ากากอนามัย"ในสังคมญี่ปุ่น มีหลายๆมิติเหตุผลด้วยกัน เช่น เรื่องค่านิยมในสังคมที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจในการแพร่เชื้อโรคให้กับคนรอบข้าง, การเป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ต้องหอบสังขารทั้งที่ป่วยเพื่อไปทำงาน และหน้ากากอนามัยก็เป็นทางเลือกในการป้องกันเชื้อโรค (ป่วยไปดีกว่าโดนไล่ออก), การป้องกันฝุ่นละออง เกษสรดอกไม้ เชื้อโรค และอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว, สาวๆ มักจะสวมหน้ากากในวันที่ไม่อยากแต่งหน้า, หนุ่มๆ ใส่เพื่อปกปิดสิวเพื่อซ่อนหรือปกปิดตัวตนในยามที่ไม่มั่นใจ เป็นต้น
นอกจากนี้ วัฒนธรรม"หน้ากากอนามัย"ยังระบาดไปยังดารา,นักร้อง เลยเถิดจนกลายไปเป็นแฟชั่น ก็มีให้เราได้เห็นอยู่บ่อยๆครั้ง
...นี่คือ ค่านิยมในเรื่อง"หน้ากากอนามัย"ของฝั่งเอเชียเรา
ส่วนค่านิยมทางฝั่งตะวันตกคือ จะสวม"หน้ากากอนามัย"ก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น คนสวมคือคนที่ป่วยแล้วมากกว่า ถ้าป่วยก็สวม ถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องสวม
เราจึงได้เห็นข่าว ชาวเอเชียถูกด่าทอและถูกทำร้ายในที่สาธารณะ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะใส่"หน้ากากอนามัย"(และ bully ด้านเชื้อชาติที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นกำเนิดของไวรัส)
ผมลองถาม"กู๋"ในเรื่องนี้ดู โดยเอาประเทศฝั่งตะวักตก และฝั่งเอเชีย มาเปรียบเทียบกัน ใช้คำค้นหาคือ Hand Sanitizer (เจลทำความสะอาดมือ) และ Face mask (หน้ากากอนามัย)
ค้นหาแยกตามแต่ละประเทศ
ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
และนี่คือผลลัพธ์...
(3)
(3)
จากข้อมูลที่ได้จะเห็นว่า ฝั่งตะวันตก ความนิยมในการค้นหา "Hand Sanitizer" (เจลทำความสะอาดมือ) นั้นมีสูงมากสุด ส่วนฝั่งเอเชีย ความนิยมในการค้นหา "Face mask" (หน้ากากอนามัย) นั้นก็มีสูงมาก เช่นกัน
มันพอสะท้อนอะไรให้เราเห็นได้บ้างมั้ย ในสภาวะการระบาดของไวรัสโควิดในปัจจุบัน
ฝั่งเอเชีย ตื่นตัวเรื่อง"หน้ากากอนามัย"
ในขณะที่ฝั่งตะวันตก ตื่นตัวเรื่อง"เจลทำความสะอาดมือ"
ฝั่งเอเชีย ค่านิยมเรื่องหน้ากากอนามัย คือสัญลักษณ์แห่งการป้องกัน (ป้องกันข้างนอกเข้าข้างใน)
ฝั่งตะวันตก ค่านิยมเรื่องหน้ากากอนามัย คือ สัญลักษณ์ของคนป่วยเท่านั้นที่ควรจะใช้ (ป้องกันข้างในออกไปข้างนอก)
ของชิ้นเดียวกัน
ใช้งานได้เหมือนกัน
แต่ความหมาย สัญลักษณ์ ค่านิยม
...แตกต่างกัน
สุดท้าย...
(เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)
จากข้อมูลที่ไล่เรียงกันมา เราควรจะกังวลกับทางฝั่งตะวันตก หรือไม่ กับค่านิยมเรื่องหน้ากากอนามัย ว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนป่วยเท่านั้นที่ควรจะใช้
และกับข่าวที่เพิ่งออกมาว่า หมอฝั่งตะวันตกหลาย ๆ คนต่างแสดงความคิดเห็นต่อหน้ากากอนามัยว่า “คนธรรมดาที่แข็งแรงไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้“
ในประเด็นนี้ สิ่งที่หมอฝั่งตะวันตกนำเสนอเหตุผลออกมา ผมก็คิดว่าพอเข้าใจได้
แต่กับสถานการณ์ของโควิดที่เกิดขึ้น มันมีหลายๆมิติที่ซ่อนอยู่ ทั้งอาการของโรคที่ใช้เวลาในการฟักตัวกว่าจะแสดงอาการ, ทั้งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม, ผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ, หลายต่อหลายๆข้อมูล ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราไว้ใจใครไม่ได้จริงๆในช่วงเวลานี้
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า...เหตุผลของหมอฝั่งตะวันตก มันเพียงพอกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้หรือไม่
และอีกหนึ่งคำถามคือ หากค่านิยมเรื่องหน้ากากอนามัยของฝั่งตะวันตกยังไม่หลุดออกจากสัญลักษณ์ของคนป่วยเท่านั้นที่ควรจะใช้ และไม่ถูกเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์แห่งการป้องกัน แบบในฝั่งเอเชียเรา
เป็นไปได้มั้ยว่า ยอดผู้ป่วยในฝั่งตะวันตก อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่
...ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป
จบแล้วครับโพสต์นี้
ฝากต่อยอดความคิดจากข้อมูลกันด้วยครับ
ขอบคุณทุกการติดตามครับ
ให้กำลังใจได้ครับ
ชอบ กดไลก์
ใช่ กดติดตาม
รับประกันจะสรรหาเรื่องราวข้อมูลใหม่ๆ
มาให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ต่อยอดทางความคิดกันตลอดครับ
ขอบพระคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน
#DATAพาเพลิน
#DATAPAPLEARN
***หมายเหตุ DATA ข้อมูลที่เกิดขึ้นในโพสต์นี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลคำค้นหาบนแพลตฟอร์มของกูเกิ้ลอย่างเดียวเท่านั้น ข้อมูลและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการรวบรวมและบันทึก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้เขียนและทีมงาน DATA พาเพลิน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ชุดข้อมูลดังกล่าว เกิดการต่อยอดทางความคิดแก่ผู้อ่าน ไม่ได้มีความประสงค์จะชี้นำในเรื่องใดๆแต่อย่างใด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา