16 มี.ค. 2020 เวลา 13:33 • ความคิดเห็น
แนะนำให้เตรียมทิชชู่ไว้เลย ก่อนจะอ่านบทความนี้
(ซ้าย) พยาบาล เติ่งตานจิ่ง -- (ขวา) แพทย์ทางเดินอาหาร เซี่ยซีซี
ผู้หญิงสองคนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์
ทั้งคู่ทำงานในโรงพยาบาล ณ เมืองอู่ฮั่น
และอยู่ในแนวหน้าด้านการต่อกรกับไวรัสโควิด
ชนิดที่ว่าแทบไม่ได้พักได้ผ่อน
เนื่องด้วยจำนวนผู้ป่วยที่แทบจะล้นโรงพยาบาล
แต่แล้ว . . อาการป่วยก็ย่างกรายเข้ามา
และภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์
หญิงสาวทั้งสองก็ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
โดยมีเครื่องช่วยหายใจพยุงชีวิต
.
.
“ตานจิ่ง” ทำงานเป็นพยาบาลมานาน 8 ปี
ส่วน “ซีซี” นั้น เป็นแพทย์ทางเดินอาหาร
ทั้งคู่อายุ 29 ปีเท่ากัน
ต่างคนต่างแต่งงานมีครอบครัว
และมีลูกวัยกำลังน่ารัก
ตานจิ่งและซีซี ไม่ได้กับบอกลูก ๆ
เรื่องที่พวกเธอติดเชื้อโควิด-19
เด็ก ๆ รู้เพียงว่าผู้เป็นแม่กำลังทำงานอย่างหนัก
เพื่อรักษาคนป่วย
ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น . .
สองสาวต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองต่างหาก
.
.
จากที่ทำงานอยู่หัวขบวนในการสู้กับไวรัส
ท่ามกลางเมืองที่ขึ้นชื่อว่า
เป็นศูนย์กลางของการแพร่กระจายโรค
ทั้งตานจิ่งและซีซีกลับกลายมาเป็นผู้ป่วยหนักเสียเอง
.
.
ชาวโลกยังมีความรู้ความเข้าใจ
เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 น้อยนัก
ผู้ติดเชื้อบางคนแทบไม่แสดงอาการ
บางคนรู้สึกไม่ต่างจากเป็นหวัดธรรมดา
ในขณะที่บางคนวิกฤตขนาดที่ปอดได้รับความเสียหาย
รวมถึงทำระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักเกินไป
อันนำไปสู่ภาวะ ตับวาย/ไตวาย/ปอดอักเสบ
.
.
ชะตากรรมของตานจิ่งและซีซี
แสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถคาดเดาอะไรกับไวรัสตัวนี้ได้เลย
เนื่องจากมันมีผลกับแต่ละคนต่างกันไป
แม้ทั้งคู่จะระมัดระวังอย่างที่สุดไม่ให้ตัวเองติดเชื้อแล้ว
แต่ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากเจ้าไวรัสมรณะนี้ไปได้
มันเข้าไปถึงปอดของตานจิ่งและซีซี
ทำให้เกิดอาการไข้และปอดบวม
ผลจากซีทีสแกนเผยให้เห็นความเสียหายของปอด
และอย่าลืมว่าตอนจบของเรื่องนี้
มีหนึ่งคนที่ไม่รอดชีวิต
ข่าวร้ายก็คือ . . โรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอ
นางพยาบาลตานจิ่งจึงจำเป็นต้องเช็คอินเข้าพักในโรงแรม
เพื่อเลี่ยงไม่แพร่เชื้อให้กับสามีและลูกสาววัย 5 ขวบ
ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตานจิ่งได้ให้สัญญากับลูกสาวว่าจะพาเธอไปชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ในคืนเดียวกันนั้น ตานจิ่งมีเหงื่อซึมตลอดทั้งคืน
แถมยังมีอาการน่องกระตุก
เธอจึงถูกพาตัวเข้าโรงพยาบาลในเช้าวันถัดมา
.
.
ณ โรงพยาบาลเจียงเป่ย
ที่อยู่ไกลออกไปราว 29 กิโลเมตร
ดร.ซีซี ประสบภาวะหายใจลำบาก
เธอรักษาตัวอยู่ในวอร์ดแยก
โดยมีหมอและพยาบาลที่สวมชุดป้องกันเต็มที่คอยดูแล
ดร.ซีซี กับรอยยิ้มหวานสดใส เธอเป็นหมอที่รักของผู้ป่วยสูงอายุ
กิจกรรมสุดโปรดของดร.ซีซี คือการไปเที่ยวกับครอบครัว
ด้านตานจิ่ง แม้จะต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล
เธอก็ยังคงมองโลกในแง่ดี
และส่งข้อความกุ๊กกิ๊กกับสามีตลอดเวลา
👨 (ส่งรูปแมว) รอคุณกลับบ้านอยู่นะ
👩 คงอีกประมาณ 10 วัน หรือไม่ก็ครึ่งเดือนค่ะ ดูแลตัวเองด้วย
ตานจิ่งต้องทานยาวันละ 12 เม็ด เป็นอย่างน้อย
และถึงแม้เธอจะทำใจให้ร่าเริงแค่ไหนก็ตาม
ร่างกายเธอกลับอ่อนแอลง
ตานจิ่งเลือกทำอาชีพพยาบาลเช่นเดียวกับคุณแม่ของเธอ
ดร.ซีซี ก็ป่วยหนักไม่แพ้กัน
แต่ดูเหมือนร่างกายของเธอจะฟื้นฟูขึ้นในแต่ละวัน
จนกระทั่งไข้ค่อย ๆ ลดลง
และเธอก็เริ่มที่จะหายใจสะดวกขึ้นหลังจากที่ได้เครื่องช่วยหายใจ
วันที่ 25 มกราคม
ดร.ซีซี ส่งข้อความถึงเพื่อน ๆ ของเธอว่า
“ฉันจะกลับไปร่วมทีมเร็ว ๆ นี้”
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ดร.ซีซี บอกกับสามีและคุณหมอที่ดูแลเธอว่า
“ฉันว่าฉันใกล้จะหายแล้วล่ะค่ะ”
ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรที่เธอจะเชื่อแบบนั้น
เพราะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็หายทั้งนั้น
1
แล้วสิ่งที่เธอคาดหวังไว้ก็เป็นจริง
เมื่อผลตรวจของเธอเป็นลบถึง 2 ครั้ง
นั่นแปลว่า เชื้อไวรัสหายไปแล้ว
ดร.ซีซี บอกกับแม่ของเธอว่า
เธอน่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลวันที่ 8 กุมภาพันธ์
.
.
1
ด้านพยาบาลตานจิ่ง หลังจากอยู่โรงพยาบาลนาน 4 วัน
เธอก็ไม่อาจปั้นหน้าให้ดูสดชื่นได้อีกต่อไป
เธอเริ่มอาเจียน, ท้องเสีย, และมีอาการสั่น
อุณหภูมิของเธอสูงถึง 38.5 องศา
และมันก็ไม่ลดลงเลยจนถึงเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์
ตานจิ่งโพสต์ภาพตัวเองในโรงพยาบาล พร้อมแคปชั่น "หัวเราะวันละนิด โรคภัยหายเกลี้ยง"
ตานจิ่งร่ำไห้ . . เธอรู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วยหนัก
วันต่อมา เธออาเจียนถึง 3 ครั้ง
และมีอาการประสาทหลอน
หัวใจของเธอเต้นช้า 50 ครั้งต่อนาที
“ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่บนความเป็นความตาย”
ตานจิ่งเขียนความรู้สึกของตัวเองและโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
.
.
ดร.ซีซี ที่ดูเหมือนว่าใกล้จะหายดี
แต่เธอกลับมีความรู้สึกหวาดกลัวความตาย
ผลลบที่ออกมานั้น อาจไม่ได้ยืนยันว่าเธอจะรอดก็ได้
แม้ผลตรวจจะออกมาว่าเชื้อไวรัสหายไปแล้ว แต่อาการของ ดร.ซีซี กลับแย่ลงกว่าเดิม
เธอขอร้องให้ผู้เป็นแม่รับปากว่า
จะดูแลลูกชายวัย 2 ขวบของเธอ
ถ้าหากว่าเธอเป็นอะไรไป
แม่ของเธอถึงกับพูดติดตลกกลับไปว่า
“ลูกของหนู หนูไม่อยากเลี้ยงเองรึไง?”
ในช่วงเช้าของวันที่ 7 กุมภาพันธ์
โทรศัพท์ดังขึ้น . . สามีของดร.ซีซี รีบมายังห้องฉุกเฉิน
เมื่อได้ทราบว่าอาการของภรรยาแย่ลง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจากทั่วทั้งเมือง
ถูกเรียกมาเพื่อช่วยชีวิตดร.ซีซี
สมองของเธอขาดออกซิเจน
ไม่นานหลังจากนั้นไตก็หยุดทำงาน
ดร.ซีซี อยู่ในอาการโคม่า
เธอเสียชีวิตลงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์
นกกระเรียน 1,000 ตัว ถูกวางไว้บนโต๊ะทำงานของดร.ซีซี เป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้าย
เป็นไปได้อย่างไร?
ในเมื่อก่อนหน้านี้เธออาการดีขึ้นแล้ว??
สิ่งที่เกิดขึ้นกับดร.ซีซี นั้น
ทางการแพทย์เรียกว่า “พายุไซโตไคน์”
ซึ่งเป็นการที่ร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรงต่อไวรัสชนิดใหม่
ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว
ลูกวัย 2 ขวบของดร.ซีซี
ยังคงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่ของเขา
เขาเข้าใจว่าผู้เป็นแม่ยุ่งกับงานที่โรงพยาบาล
มีโทรศัพท์ดังเข้ามา
เขาพยายามแย่งมือถือมาจากคุณยาย
พร้อมตะโกนว่า “แม่จ๋า แม่จ๋า”
สามีของดร.ซีซี ไม่รู้เลยว่าจะต้องบอกลูกน้อยอย่างไร
ตัวเขาเองก็ยังทำใจไม่ได้ด้วยซ้ำ
พวกเขาพบรักกันในระหว่างที่เรียนแพทย์
และเป็นรักแรกของกันและกัน
คำสัญญาที่จะอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า
บัดนี้ . . มันจบสิ้นลงไปตลอดกาลแล้ว
“ผมรักเธอมากเหลือเกิน แต่เธอจากผมไปแล้ว
ผมคิดไม่ออกเลยว่าจะทำยังไงต่อไป”
.
.
เคราะห์ดีของพยาบาลตานจิ่ง
ไข้ของเธอลดลง จนเธอสามารถทานอาหารได้ตามปกติ
ผลตรวจของเธอเป็นลบ
และเธอก็ได้ออกจากโรงพยาบาลในที่สุด
“ฉันรู้สึกเหมือนนกที่เป็นอิสระเลยล่ะ”
ตานจิ่งกล่าว
ตานจิ่งร่าเริง ได้พบคุณแม่หลังจากออกจากโรงพยาบาล
เธอกลับมากักตัวต่อที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
ในระหว่างนี้ ก็ให้สามีกับลูกไปพักกับพ่อแม่ของเธอ
ตานจิ่งทิ้งเสื้อผ้าทั้งหมดที่เคยใส่ในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล
และฆ่าเวลาด้วยการดูทีวีไป เล่นกับแมวไป
เธอวางแผนจะกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลต่อเมื่อที่ทำงานไฟเขียว
“ฉันรอดมาได้เพราะประเทศชาติ
ฉันจึงต้องตอบแทนประเทศชาติ”
.
.
.
โฆษณา