18 มี.ค. 2020 เวลา 09:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อ Social Distancing ได้เปลี่ยนวิชาฟิสิกส์ไปตลอดกาล
ในตอนนี้ พวกเราอยู่ในสถานการณ์ที่ โรค COVID-19 กำลังระบาดอย่างนักในไทยและทั่วทุกมุมโลก ทำให้ทุกประเทศเริ่มรณรงค์มาตรการสำคัญในการหยุดยั้งการระบาดของโลกไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้ นั่นคือมาตรการ ‘Social Distancing’
มาตรการนี้เป็นการจำกัดไม่ให้ผู้คนมารวมตัวกันตามสถานที่สาธารณะ เพื่อป้องกันให้ผู้ที่มีเชื้อไวรัส ได้ติดต่อพบปะกับผู้คนและมีโอกาสแพร่เชื้ออย่างน้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องปิดสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ปกติแล้วมีคนพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็น สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว และรวมไปถึงบริษัทที่ทำงานและสถานศึกษา ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาหรือพนักงาน ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน
การต้องทำงานหรือเรียนอยู่ที่บ้าน หลายคนอาจจะมองว่าดูไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่มีการระบาดของกาฬโรค (Bulbonic Plague) ครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว ทำให้นักศึกษาต้องกลับบ้ายไปค้นคว้าหาความรู้ต้วยตนเอง ในช่วงปี 1665-1666
ในช่วงเวลานั้นเอง ที่มีนักศึกษาคนหนึ่ง ได้ใช้ช่วงเวลาที่เขาอยู่ที่บ้านของเขาในเมือง Woolsthorpe ในการเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มที่ต่อยอดงานของเขาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “Method of Fluxions” และสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น ได้ถูกพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นวิชาที่มีชื่อว่า “แคลคูลัส” ในปัจจุบัน
นอกจากนั้นแล้ว เขายังใช้เวลาว่างของเขาอีกส่วนหนึง ในการเล่นกับของเล่นใหม่อย่างปริซึม โดยการปิดห้องนอนให้มืดสนิท แล้วเจาะรูเล็กๆตรงม่านหน้าต่างให้แสงเข้ามาได้ เมื่อแสงนั้นส่องผ่านปริซึมไปกระทบฉาก เขาก็พบว่า แสงบนฉากมีรูปร่างเปลี่ยนไป จากที่ควรเป็นวงกลมกลับถูกยืดออกให้ยาวขึ้น นั่นหมายความว่าปริซึมนั้นสามารถหักเหแสงได้ และเมื่อศึกษาต่อไปเขาก็พบว่าปริซึมนั้นหักเหแสงออกมาด้วยมุมที่ต่างกันตามสีของแสงที่ประกอบอยู่ในแสงขาวนั้น ทำให้เห็นแถบเจ็ดสีบนฉากเรียงกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีแสงและสี และสาขาทัศนศาสตร์ (Optic)
ในบางช่วงเวลา เขาก็เลือกออกไปที่สวนในบริเวณบ้าน และนั่งพักผ่อนที่บริเวณใต้ต้นแอปเปิ้ล ก่อนที่จะมีลูกแอปเปิ้ลตกลงใส่หัวของเขา และทำให้เขาฉุกคิดและวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฎการณ์บางอย่างที่ทำให้วัตถุต่างๆตกลงสู่พื้นโลกเสมอ ก่อนที่จะใช้เวลาอีกเกือบสองทศวรรษในการขยายไอเดียที่เขาคิด ให้กว้างอออกไปถึงในระดับดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ รวมถึงใช้คณิตศาสตร์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาในการคำนวณตามหลักการที่เขาคิด ผลลัพธ์ทั้งหมดถูกเขียนออกมาในหนังสือที่ชื่อว่า ‘The Principia’ หนังสือที่อาจจะเรียกได้ว่า มีอิทธิพลต่อวงการฟิสิกส์สูงที่สุดตลอดกาล เพราะสิ่งที่อยู่ในนั้น คือกฎการเคลื่อนที่ของวัตถุสามข้อ และกฎของแรงโน้มถ่วง หนังสือเล่มนี้คือเสาหลักของสาขากลศาสตร์ (Mechanics) และอาจจะเป็นสิ่งจุดประกายให่เกิดการศึกษาฟิสิกส์อย่างจริงจังในทั่วยุโรป
ชายผู้นั้น ได้กลับมาเข้าเรียนที่เคมบริดจ์ต่อในปี 1667 หลังโรคระบาดจบลง แต่เขาไม่ได้กลับมามือเปล่า เขากลับมาพร้อมกับสามไอเดียที่จะพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไปตลอดกาล และยังเป็นไอเดียที่ยังคงอยู่และใช้ได้จริงมาตลอดเกือบสี่ศตวรรษ
ชายผู้นั้นมีชื่อว่า Isaac Newton.
ปล.ในปัจจุบัน เรื่องตำนานแอปเปิ้ลยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่ในที่นี้ผมยึดมาจากบันทึกของผู้ช่วยของนิวตัน John Conduitt ตามลิงค์นี้นะครับ
โฆษณา